สรุปเสวนา: วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.แร่ เอื้อเอกชนทำเหมืองง่าย ภาคประชาชนคัดค้าน

วันที่ 11 ธันวาคม 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ของประเทศไทย จัดเวทีวิเคราะห์กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ในหัวข้อ “พ.ร.บ.แร่ นี่มันแย่จริง ๆ” นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนผู้รับผลกระทบในพื้นที่จากหกกพื้นที่สะท้อนปัญหาและคัดค้านร่างพ.ร.บ.แร่

ย้อนเล่าร่างพ.ร.บ.แร่ สนช.แก้ไขเล็กน้อยหลักการสำคัญไม่แตะ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม พูดถึงที่มาของร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 คาดว่าจะถูกบังคับใช้ภายใน 30 – 60 วันนี้ ซึ่งเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะใช้แทนพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นี้เป็นกฎหมายที่ทุกรัฐบาลพยายามผลักดันให้แก้ไข แต่ยังไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากภาคประชาชนคัดค้านมาตลอด โดยเฉพาะประเด็นที่มีการบัญญัติว่า “แร่เป็นของรัฐ” จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลยุคปัจจุบัน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) นำเสนอร่างกฎหมายแร่อีกครั้ง มีการปรับปรุงถ้อยคำให้ดีขึ้น 
เนื้อหาใจความหลักของร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นี้เป็นที่สนใจในหลายประเด็น ประการแรก กพร.ต้องการมีสิทธิในที่ดินที่เป็นพื้นที่เหมืองแร่ (mining zone) เพื่อลดทอนความล่าช้าและขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่จากกฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายป่าไม่ หรือกฎหมายอุทยาน ดังนั้นเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านกพร.จะสามารถแบ่งพื้นที่หมืองแร่และประกาศให้เอกชนสัมปทานได้เลย ประการที่สองต้องการลดขั้นตอนการขออนุมัติประทานบัตร จากเดิมต้องใช้เวลา 310 วัน ต้องการให้ลดเหลือ 100 – 150 วัน เพื่อเอื้อต่อการลงทุน และประการที่สามต้องการ one-stop service เพื่อให้กพร. เป็นหน่วยงานเดียวที่ดำเนินงานขออนุมัติเกี่ยวกับเหมืองแร่ ซึ่งร่างล่าสุดที่ผ่านสนช. ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่กพร.คาดหวังไว้ แม้เนื้อหาจะดีขึ้นเล็กน้อยแต่หลักการสำคัญยังไม่ได้ถูกแก้ไข
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม

วิเคราะห์ 5 ประเด็นร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ เอื้อเอกชนทำเหมืองง่าย

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อถึงประเด็นในร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นี้ที่เพีงผ่านสนช. ว่ายังคงมีห้าประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา ประกอบด้วย 
ประเด็นที่หนึ่ง มาตรา 13 กพร.สามารถนำพื้นที่แหล่งแร่ให้เอกชนทำสัมปทานได้ แต่อาจมีขั้นตอนต้องขออนุญาตหน่วยงานอื่นเล็กน้อย
ประเด็นที่สอง มาตรา 49 มีการแบ่งประเภทของการทำเหมืองแร่ออกเป็นสามประเภท ประเภทที่หนึ่งเหมืองแร่ขนาดเล็ก 100 ไร่ เอกชนไม่จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกเทศบาลสามารถอนุมัติได้ เช่น หากพบพื้นที่ที่สามารถใช้ทำเหมืองถ่านหินได้ 1,200 ไร่ ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิมต้องขอพื้นที่หลายแปลงติดต่อกัน และต้องทำ EIA จนกว่ารัฐมนตรีจะอนุมัติ หากเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางนิเวศน์ต้องดำเนินเรื่องใช้เวลาประมาน 400 – 500 ไร่ แต่หากใช้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อย ๆ ตามการแบ่งประเภทเพื่อเลี่ยงขั้นตอนดำเนินการที่ซับซ้อน
ประเด็นที่สาม มาตรา 105 จากเดิมที่ต้องขอใบอนุญาตทำโรงประกอบโลหะกรรมต่างหาก แต่ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ บริษัทเอกชนไม่ต้องขออนุญาตทำโรงประกอบโลหะกรรมในเขตเหมืองแร่ หากได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ ซึ่งโรงประกอบโลหะกรรมเป็นแหล่งเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการถลุงแร่ที่ต้องใช้สารเคมีประกอบ
ประเด็นที่สี่ มาตรา 132 กพร.สามารถนำแหล่งแร่ที่สนใจสามารถดำเนินเรื่องขอประทานบัตรจากกพร. และทำ EIA เองได้ จากนั้นสามารถนำไปเปิดให้เอกชนประมูลได้ เอกชนรายนั้นไม่ต้องทำประทานบัตรและ EIA ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการลงทุน 
ประเด็นที่ห้า ในบทเฉพาะกาล มาตรา 188 วรรคสอง ระบุว่า สัญญาที่อนุญาตให้ทำประทานบัตรในพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 สามารถมีผลบังคับใช้ยังคงใช้ได้อยู่ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ทำขึ้นภายใต้มติครม. ไม่ใชพ.ร.บ.แร่ ดังนั้นหาก ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านจะเกิดคำถามว่าสัญญาที่ทำผ่านครม.จะเป็นโมฆะหรือไม่ 
ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในหกพื้นที่ สะท้อนผลกระทบทำเหมือง พร้อมคัดค้านร่างพ.ร.บ.แร่ 
ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนหกพื้นที่ ประกอบด้วยตัวแทนสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จังหวัดสงขลา, ตัวแทนเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก, ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง, ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และตัวแทนกลุ่มฮักบ้านฮั่นแม้ว จ.เลย ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างพ.ร.บ.แร่ ที่เพิ่งผ่านสนช. 
โดยตัวแทนเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก กล่าวว่า คนภาคตะวันออกไม่ได้ประโยชน์จากร่างพ.ร.บแร่ ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แห่งผลิตผลไม้ อาหาร ที่เลี้ยงคนทั้งประเทศ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่คนภาคตะวันออกต้องการปกป้องพื้นที่ ต้องการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหากมีเหมืองจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในเชิงนโยบายค่อนข้างมหาศาลต่อทรัพยากร และการจัดสรรพื้นที่
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เล่าถึงผลกระทบจากพื้นที่ได้รับจากเหมืองทอง ว่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ได้รับผลกระทบด้านแหล่งอาหาร “เครือข่ายต่อสู้มากว่าสิบปี สู้เพื่อบ้านเกิดของเรา ว่าเราไม่เอาเหมือง ถูกดำเนินคดีนับสิบยี่สิบปี นี้เหรอที่รัฐบอกว่ารักประชาชน ไม่จริงหรอกค่ะ เราโดนมาแล้ว จากภาคราชการทุกส่วน ถูกมัดมือมัดเท้าคุมตัวสี่ทุ่มถึงตีสี่ หากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาก็อยู่ไม่ได้ รัฐเอาสารพิษลงมาให้เป็นมรดกชุมชน ชุมชนปฏิเสธ” ชุมชนอยากได้แหล่งน้ำ ความยั่งยืน ชีวิตของคนชนบท ผูกพันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แต่รัฐทำให้เราเสียไป ชุมชนที่เคยสามัคคี รักใคร่ปรองดอง หายไปหมด 
สุดท้ายตัวแทนกลุ่มฮักบ้านฮั่นแม้ว เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีบริษัทขออนุญาตเข้าไปสำรวจพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำตามกฎระเบียบ ไม่ได้ขออนุญาตจากกรมทรัพยากร ชุมชน และอบต. เขาเข้าไปสำรวจ ปักเสาหมุดในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แผ้วถางพืชไร่จนเสียหาย และมีการขมขู่ หากชาวบ้านแจ้งความจะถูกแจ้งความกลับฐานบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่สมัยปู่ยาตายาย ดังนั้นกรณีร่างพ.ร.บ.แร่ ให้กพร. สามารถขอประทานบัตรและทำ EIA ได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากที่สุด