แก้ไข ป.วิ แพ่ง กำหนดจัดเก็บข้อมูลคดีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้อีเมลส่งเอกสารระหว่างศาลกับคู่ความได้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 28 เรื่อง การโอนคดีจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่ง การส่งคำคู่ความโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งคำคู่ความไปยังต่างประเทศ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 สาระสำคัญ คือ การโอนคดีแพ่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะจากศาลชั้นต้นอื่น ไปยังศาลแพ่ง ซึ่งศาลที่พิจารณาจะต้องเสนอความเห็นให้ประธานศาลอุทธรณ์มีคำสั่งโอนคดีไป นอกจากนี้ยังแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลคดีและกระบวนการจัดส่งเอกสาร ทั้งนี้หลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับประธานศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 

สำหรับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 28 มีประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมห้าประเด็นหลัก ดังนี้

 

โอนคดีแพ่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่งได้ โดยไม่กระทบการพิจารณาจากศาลเดิม

โดยปกติแล้ว ผู้เสียหายที่ประสงค์จะนำคดีขึ้นสู่ศาลต้องยื่นฟ้องให้ถูกเขตอำนาจศาล กล่าวคือ ต้องยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจรับคดีนั้นไว้พิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด ถ้ายื่นไม่ถูกเขตอำนาจศาล ศาลก็จะไม่รับฟ้องหรือไม่รับคดีไว้พิจารณา แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คดีแพ่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น หากได้ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่ไม่ใช่ศาลแพ่ง เช่น ศาลจังหวัดหรือศาลแขวง และศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่เห็นสมควรให้สามารถโอนคดีไปยังศาลแพ่ง ให้ศาลแพ่งที่รับโอนคดีมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตศาลได้ โดยศาลต้องแจ้งให้คู่ความทราบและเสนอไปยังประธานศาลอุทธรณ์เพื่อให้มีคำสั่งโอนคดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระคดีที่เข้าสู่ศาลชั้นต้นเป็นจำนวนมากและลดคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม กระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการในศาลเดิมก่อนมีคำสั่งโอนคดีให้ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำโดยศาลแพ่งด้วย กล่าวคือไม่จำเป็นต้องตั้งต้นพิจารณาคดีใหม่ที่ศาลแพ่ง เว้นแต่ศาลแพ่งจะมีดุลพินิจสั่งเป็นอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาตรา 3 ให้เพิ่มมาตรา 6/1

         “คดีที่ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งไม่ใช่ศาลแพ่ง ก่อนวันชี้สองสถาน หรือ ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน หากศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาเห็นว่า ผลของคดีดังกล่าวอาจกระทบต่อการอนุรักษ์หรือการบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม หรือประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นที่สําคัญ และการโอนคดีไปยังศาลแพ่ง จะทําให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็ให้ศาลแจ้งคู่ความทราบและทําความเห็น เสนอประธานศาลอุทธรณ์เพื่อมีคําสั่งให้โอนคดีนั้นไปยังศาลแพ่งได้ คําสั่งของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด 

         การโอนคดีตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาที่ได้ดําเนินการไปก่อนที่จะมีคําสั่งให้โอนคดี และให้ถือว่าบรรดากระบวนพิจารณาที่ได้ดําเนินการไปแล้วนั้นเป็นกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งด้วย เว้นแต่ศาลแพ่งจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

มาตรา 5 ให้เพิ่ม วรรคสามของมาตรา 15

         “คดีที่ศาลแพ่งได้รับไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือที่ได้โอนไปยังศาลแพ่ง ตามมาตรา 6/1 ให้ศาลแพ่งมีอํานาจดําเนินกระบวนพิจารณาใดๆ นอกเขตศาลได้ตามที่เห็นสมควร”

 

ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่ง

ใน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ กําหนดให้ประธานศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกําหนดเกี่ยวกับการดําเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งได้ตามความจำเป็น เช่น การสืบพยาน การรับฟังพยานหลักฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

มาตรา 6 ให้เพิ่มมาตรา 34/1

         “เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม หรือเพื่อความเหมาะสมสําหรับคดีบางประเภท ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอํานาจออกข้อกําหนดเกี่ยวกับการฟ้องคดี การสืบพยานและการรับฟังพยานหลักฐาน การวินิจฉัยคดี ตลอดจนการดําเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ได้ตามความจําเป็น”

 

จัดเก็บข้อมูลคดีศาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และใช้แทนต้นฉบับได้

การจัดเก็บข้อมูลคดีจากเดิมกฎหมายระบุเพียงให้จัดเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ไว้ในที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่การแก้ไขเพิ่มเติมระบุให้ข้อมูลคดีของศาลสามารถจัดเก็บในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ และข้อมูลคดีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว สามารถนำสำเนาข้อมูลออกมาใช้แทนต้นฉบับได้ ซึ่งการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อาจจะเป็นประโยชน์ในแง่ความสะดวกต่อการสืบค้นและมีพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้น 

มาตรา 7 ให้เพิ่มมาตรา 51 วรรคสอง

         “การจัดทําสารบบความหรือสารบบคําพิพากษา การรวบรวมเอกสารในสํานวนความ และการเก็บรักษาสําเนาคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) อาจกระทําในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวที่รับรอง โดยวิธีการที่ศาลกําหนดเป็นสําเนาสารบบความหรือสารบบคําพิพากษา หรือเป็นสําเนาเอกสารในสํานวนความ แล้วแต่กรณี และให้ใช้แทนต้นฉบับได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อข้อกําหนดนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับได้”

 

ใช้อีเมลส่งเอกสารระหว่างศาลกับคู่ความได้  

ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจะมีการส่งคำคู่ความรวมถึงเอกสารต่างๆ ระหว่างศาลกับคู่ความ หรือระหว่างคู่ความด้วยกัน รวมถึงการแจ้งคำสั่งของศาลไปยังบุคคล อาจดําเนินการโดยทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดก็ได้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่

มาตรา 9 ให้ใช้ความในมาตรา 68 ใหม่

         “การยื่นและส่งคําคู่ความและเอกสารในลักษณะนี้ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทําต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทําต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทุกฝ่าย รวมทั้งการแจ้งคําสั่งของศาลหรือข้อความอย่างอื่นไปยังคู่ความหรือบุคคลอื่นใด อาจดําเนินการโดยทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อข้อกําหนดนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

 

ส่งหมายเรียกและคำฟ้องไปยังบุคคลที่อยู่นอกประเทศไทย หากไม่ถึงบุคคลจริงให้ปิดไว้ที่ศาลแทน

การส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีไปยังจำเลยหรือบุคคลภายนอกที่อยู่นอกราชอาณาจักร เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ให้ส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือผ่านสํานักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าไม่สามารถกระทําได้เพราะเหตุที่ภูมิลําเนาและสํานักทําการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏ หรือเพราะเหตุอื่นใด หรือไม่อาจทราบผลการส่งได้ ถ้าศาลเห็นสมควร ก็ให้ศาลอนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนได้ 

มาตรา 12 ให้ใช้ความในมาตรา 83 อัฏฐ ใหม่

         “ในกรณีที่จะต้องส่งหมายเรียกและคําฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา 83 ทวิ แก่จําเลยหรือบุคคลภายนอก ณ ภูมิลําเนาหรือสํานักทําการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ถ้าโจทก์ยื่นคําขอฝ่ายเดียวโดยทําเป็นคําร้องและสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่าการส่ง ตามมาตรา 83 สัตต ไม่อาจกระทําได้เพราะเหตุที่ภูมิลําเนาและสํานักทําการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏ หรือเพราะเหตุอื่นใด หรือเมื่อศาลได้ดําเนินการตามมาตรา 83 สัตต แล้ว แต่ไม่อาจทราบผลการส่งได้ ถ้าศาลเห็นสมควร ก็ให้ศาลอนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทน ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลจะสั่งให้ส่ง โดยวิธีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือโดยวิธีอื่นใดด้วยก็ได้”