กฎหมายใหม่ กยศ. เพิ่มอัตราดอกเบี้ย-หักเงินเดือนชำระหนี้-เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้กู้

กองทุน กยศ. มีหนี้เสียติดตามไม่ได้ก้อนมหึมา เลยกำลังจะออกกฎหมายฉบับใหม่มาแก้ไขปัญหาคนเรียนจบแล้วไม่ชำระหนี้ สำคัญ คือ ต่อไปนี้คนที่กู้เงิน กยศ. เรียน จะต้องถูกนายจ้างหักเงินเดือนไปจ่ายหนี้ ระบบเดียวกับการจ่ายภาษี แล้วกฎหมายให้อำนาจกองทุน กยศ. เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้และเปิดเผยต่อคนอื่นได้ด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ก็อาจเพิ่มได้สูงสุด 7.5% ต่อปี
 
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เริ่มมีมาตามพ.ร.บ.ที่ออกมาบังคับใช้ในปี 2541 ในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลักภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้กู้เงินสำหรับการศึกษาโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ และมีระบบให้จ่ายคืนหลังเรียนจบและมีงานทำแล้ว เพื่อให้คนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีโอกาสมากขึ้นในการเรียนต่อเพื่อยกระดับฐานะของตัวเอง
ปัญหาที่ผ่านมา คือ เมื่อผู้กู้เรียนจบแล้วไม่ชำระหนี้คืนและ กยศ. ไม่สามารถติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ได้ จนกระทบกับความมั่นคงของกองทุน ต้องอาศัยงบประมาณส่วนกลางเข้าช่วยเหลือ และกระทบกับผู้ที่จะขอกู้เงินรุ่นต่อๆ ไป ไทยรัฐออนไลน์  เคยรายงานว่า ในปี2557 กยศ.มีหนี้ที่ไม่สามารถติดตามให้ชำระได้ถึงกว่า 72,000 ล้านบาท
ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ จึงถูกเสนอขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6กันยายน 2559 และสนช. ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาในวาระที่สองเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2 ในวาระที่สอง อาจะกล่าวได้ว่า คณะกรรมาธิการแทบไม่พิจารณาแก้ไขอะไรจากที่เสนอมาเลย
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจง ต่อ สนช. ว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นการปรับปรุงแก้ไขจากกฎหมาย ปี2541 โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและสำนักงานขึ้น พร้อมกับจัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการชำระเงินคืนกองทุน เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและกำกับดูแลให้การชำระเงินคืนกองทุน การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้การคืนเงินแก่กองทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้เงินงบประมาณหมุนเวียนเพื่อการศึกษาส่งผลถึงผู้กู้ยืมรุ่นหลังได้
 
      
กยศ. ต้องมาก่อน! เพิ่มมาตรการให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กยศ.โดยตรง
จากปัญหาผู้กู้ที่เรียนจบมีงานทำแล้วแต่ไม่ยอมชำระหนี้หนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ มาตรา 51 จึงสร้างระบบการชำระหนี้แบบใหม่ ไม่ต้องให้ผู้กู้ไปติดต่อชำระหนี้กับธนาคารเอง แต่กำหนดให้นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับลูกหนี้ กยศ. เข้าทำงาน มีหน้าที่หักเงินรายได้ของลูกจ้างนำส่งให้กับกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ด้วยวิธีการและกำหนดเวลาเดียวกับการจ่ายภาษีอากรที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่จ่ายค่าตอบแทนอยู่แล้ว และกรมสรรพากรจะส่งต่อให้กองทุน กยศ. ต่อไป
ซึ่งระบบแบบนี้จะทำให้กองทุนได้รับชำระหนี้ค่อนข้างจะแน่นอน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ลูกหนี้ไม่มีโอกาสได้รับเงินค่าตอบแทนจากการทำงานมาเพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของตัวเอง แต่จะถูกหักไปตั้งแต่ต้น
เพื่อให้ระบบการชำระหนี้แบบใหม่นี้เป็นจริงได้ มาตรา 42(2) จึงกำหนดให้ ผู้กู้เงินกองทุน กยศ. มีหน้าที่ต้องแจ้งให้กับนายจ้างทราบภายใน 30 วันนับแต่เริ่มทำงานว่า มีสถานะเป็นหนี้กองทุน กยศ. อยู่เท่าใด เพื่อให้นายจ้างหักเงินเดือนนำส่งกรมสรรพากรได้ถูกต้อง
มาตรา 51 วรรคสอง ยังกำหนดด้วยว่า ในการหักเงินเดือนของนายจ้าง ให้หักเงินเดือนเพื่อจ่ายภาษีอากรก่อนเป็นอันดับแรก หักเงินจ่ายกองทุน กยศ. เป็นอันดับที่สอง ถือเป็นความสำคัญที่มาก่อนการหักเงินเดือนไปจ่ายกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม หรือการหักเงินตามกฎหมายอื่น
และมาตรา 50 ยังกำหนดให้ กองทุน กยศ. มี "บุริมสิทธิ" เหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ ซึ่งหมายความว่า หากลูกหนี้ กยศ. ยังมีภาระต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่นๆ และเมื่อคิดรวมกันแล้วมีหนี้สินอยู่มากกว่าทรัพย์สิน ให้นำทรัพย์สินของลูกหนี้มาใช้หนี้ให้กับกองทุน กยศ. ให้หมดก่อนที่จะแบ่งไปใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่นด้วย
อำนาจใหม่ กยศ. เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ได้
ร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ยังให้อำนาจเพิ่มแก่กองทุน กยศ. ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่มีหน่วยงานไหนเคยได้รับมาก่อน คือ การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหนี้ ซึ่งมาตรา 45 กำหนดว่า ในการติดตามชำระเงินให้กองทุนมีอำนาจขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้จากทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือบุคคลใดที่ครอบครองข้อมูลอยู่ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินให้แก่หน่วยงานและบุคคลที่ร้องขอ
ขณะเดียวกันมาตรา 42(3) ก็กำหนดให้ ผู้กู้เงินกองทุน กยศ. มีหน้าที่ต้องยินยอมล่วงหน้าให้กองทุนมีอำนาจเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ด้วย
ข้อสังเกตต่อประเด็นอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล คือ
1) เมื่อมีกฎหมายบังคับอยู่ในมาตรา 42(3) ให้เป็นหน้าที่ของผู้กู้ที่จะต้องให้ความยินยอม หากไม่ยินยอมก็ไม่สามารถกู้เงินได้ ดังนั้น ความยินยอมโดยกฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้จะถือเป็นความยินยอมโดยชอบธรรมของเจ้าของข้อมูลได้หรือไม่
2) ร่างกฎหมาย กยศ. มาตรา 45(1) กำหนดให้กองทุนมีอำนาจเข้าถึง "ข้อมูลส่วนบุคคล" โดยไม่ได้จำกัดว่า เข้าถึงได้เฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและชำระเงินเท่านั้น ทั้งที่ควรจะระบุให้ชัดเจนเพื่อจำกัดอำนาจของกองทุนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับงานของกองทุน ดังที่มาตรา 45(2) ก็กำหนดไว้ชัดว่ากองทุนมีอำนาจเปิดเผยข้อมูล "เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุน" เท่านั้น
3) ขณะที่มาตรา 45(2) กำหนดให้กองทุนมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลตามที่มีการร้องขอ โดยไม่ได้จำกัดไว้ว่า การร้องขอนั้นต้องเป็นไปเฉพาะเพื่อดำเนินกิจการของกองทุนหรือไม่ การเขียนอำนาจเช่นนี้อาจเปิดช่องให้กองทุนมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ให้กับผู้ที่ถูกร้องขอมาเพื่อทำกิจการอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการติดตามชำระหนี้ก็ได้
เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 เป็น 7.5 พร้อมเรียกร้องให้มีผู้ค้ำประกันได้เต็มที่
ตามกฎหมาย กยศ. ฉบับที่ใช้อยู่เดิม กำหนดในมาตรา 52 วรรคสองว่า ให้กองทุน กยศ. เริ่มคิดดอกเบี้ยได้ หลังผู้กู้เรียนจบการศึกษาแล้วในอัตราไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2559 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือนของธนาคารออมสิน อยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ขณะที่ในทางปฏิบัติระเบียบ กยศ. พ.ศ.2542 กำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี
แต่ตามร่างกฎหมายกยศ. ฉบับใหม่ มาตรา 44 วรรคสอง กำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี
นอกจากนี้ ตามกฎหมายฉบับเดิมมาตรา 48 ยังกำหนดว่า ในการทำสัญญากู้เงิน จะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ด้วยก็ได้ "แต่จะกำหนดจนเป็นอุปสรรคต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในอันที่จะกู้ยืมเงินไม่ได้" หมายความว่า หากนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนจริงๆ และไม่อาจหาผู้มีรายได้มาค้ำประกันการกู้ยืมได้ ก็ยังมีโอกาสกู้เงินเพื่อเรียนได้อยู่ คณะกรรมการกองทุนจะไม่อาจกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวดให้ต้องมีผู้ค้ำประกันจนทำให้นักเรียนนักศึกษาหมดโอกาสกู้เงิน
แต่ตามร่างกฎหมายใหม่ มาตรา 41 ตัดวลีที่ว่า "แต่จะกำหนดจนเป็นอุปสรรคต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในอันที่จะกู้ยืมเงินไม่ได้" ออกไป ทำให้ในอนาคต การกู้เงินกองทุน กยศ. ผู้กู้อาจจำเป็นต้องหาผู้ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือมารับรองการกู้เงินให้ได้ หากหาไม่ได้ก็อาจจะไม่ได้รับอนุมัติให้กู้เงินเรียนได้
ขยายขอบเขตกองทุน ไม่ต้องจนก็กู้ได้ถ้าเรียนดี หรือเรียนวิชาที่ตลาดต้องการ
ตามกฎหมาย กยศ. ฉบับที่ใช้อยู่เดิม เขียนชัดเจนอยู่ในมาตรา 5 ว่า กองทุน กยศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ "ขาดแคลนทุนทรัพย์" หากนักเรียนนักศึกษามีฐานะทางการเงินอยู่ก็จะไม่ได้รับอนุมัติให้กู้
ขณะที่ร่างกฎหมายใหม่ ตามมาตรา 6 เสนอขยายขอบเขตการให้กู้ของกองทุน หากเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เรียนวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หรือในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและกองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ หรือเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เรียนดี แม้จะไม่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็มีสิทธิกู้เงินได้ โดยตามร่างกฎหมายนี้ยังไม่ได้กำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า สาขาวิชาใดบ้างที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศหรือขาดแคลนกำลังคน
รื้อโครงสร้างกองทุนใหม่ ตัดภาคเอกชนออก เพิ่มอำนาจเอาเงินกองทุนจัดหาผลประโยชน์ได้
ร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ ปรับเปลี่ยนโครงการการบริหารงานภายในกองทุน กยศ. โดยยกเลิกตำแหน่ง "ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม" ให้เป็นภาระรวมกันของ "ผู้จัดการกองทุน" และให้ตั้งสำนักงานกองทุนขึ้นเป็นการเฉพาะ
ในระดับบริหารก็เปลี่ยนแปลงตัวคณะกรรมการกองทุน โดยตัดผู้อำนวจการสำนักเศรษฐกิจการคลัง, ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และนายกสมาพันธ์การศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ออกจากการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และเพิ่มอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้ามา
ทั้งยังยกเลิกระบบบัญชีจ่ายที่หนึ่ง และบัญชีจ่ายที่สอง ตามกฎหมายเดิม และกำหนดให้ตั้งคณะอนุกรรมการอีกสองชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน และคณะอนุกรรมการกำกับการชำระเงินคืนกองทุน
อำนาจหน้าที่ของกองทุนที่เพิ่มขึ้นมาตามร่างกฎหมายใหม่ คือ ให้กองทุนนำเงินและทรัพย์สินไปหาผลประโยชน์ได้ โดยมีมาตรา 12 เขียนว่า ทำได้โดยการฝากกับธนาคาร หรือซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล เป็นต้น และมีหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนข้อหนึ่งที่เคยมีอยู่ในกฎหมายเก่า แต่ถูกเปลี่ยนไปเป็นหน้าที่ของสำนักงานตามร่างกฎหมายใหม่ คือ หน้าที่เผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานประจำปีให้ประชาชนทราบ 
ไฟล์แนบ