เวที สนช.ยัน ห้ามใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ฟ้องหมิ่นประมาท แต่ยืนกราน “ข้อมูลเท็จ” ยังเป็นความผิด

เวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ที่รัฐสภาคึกคัก ผู้เข้าร่วมส่งข้อกังวล ม. 14 ใช้ปิดปาก ห้ามวิจารณ์-ห้ามตรวจสอบ ด้าน กมธ.ร่างฯ ย้ำ พ.ร.บ.คอมฯ ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาทออนไลน์ แต่ยังมีเงื่อนไข ห้ามเสนอ “ข้อมูลเท็จ”

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมายปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อปี 2550 

 

นักกฎหมายยัน มาตรา 14 (1) ใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ไม่ได้

นับแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อปี 2550 มาตราที่ถูกใช้มากที่สุดคือมาตรา 14 (1) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยถูกตีความมาใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทออนไลน์ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการบังคับใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งสุรางคณา วายุภาพ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า การบังคับใช้ในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ผิดเพี้ยนไป ในการแก้ไขร่างกฎหมาย คณะกรรมาธิการพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยใส่ถ้อยคำให้รัดกุมกว่าเดิม 

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายและหนึ่งในคณะกรรมการร่างฯ กล่าวย้ำว่า มาตรา 14 (1) มีไว้ใช้กับความผิดกรณีทำเว็บปลอม หรือฟิชชิ่ง (phishing) หรือการปลอมแปลงตัวตน ไม่ใช่นำมาใช้กับคดีหมิ่นประมาท และหน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้

ด้านสุณัย ผาสุข ผู้เข้าร่วมจากองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ แสดงความคิดเห็นว่า แม้มาตรา 14 (1) ไม่ถูกนำมาใช้ในคดีหมิ่นประมาท แต่ก็ยังมีคำว่า “ข้อมูลเท็จ” ซึ่งมีตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีการฟ้องคดีนักเคลื่อนไหวที่เผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีญาติของนายทหารที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตแล้วออกมาเผยแพร่ข้อมูล 

“คำถามคือ จะทำอย่างไรไม่ให้รัฐใช้ข้อนี้มาเป็นการตอบโต้เอาคืนนักเคลื่อนไหว” สุณัยกล่าว

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า นี่เป็นปัญหาของผู้มีอำนาจที่มักใช้กลไกทางกฎหมาย แต่เมื่อโต้แย้งเช่นนี้ ก็มักมีคำตอบกลับมาว่าให้มันเป็นดุลพินิจของศาล ประสงค์เห็นว่า คนที่ตอบเช่นนี้เพราะไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ตัวเขาเองก็มีคดีซึ่งต้องใช้เวลาในกระบวนการศาลมาแล้ว 5 ปี หรือกรณีเว็บไซต์ภูเก็ตหวานซึ่งเป็นสื่อที่รายงานข่าวการค้ามนุษย์นั้น ก็ต้องใช้เวลาสู้คดีหลายปี ทั้งที่เป็นเพียงเว็บไซต์เล็กๆ มีคนทำงานเพียงแค่ 2-3 คนเท่านั้น แต่ก็ต้องใช้เวลาไปกับเรื่องเหล่านี้

วรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาหนึ่งของกระบวนการวิธีพิจารณา ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา และปัญหาเรื่องการใช้อำนาจและการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกันก็เกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเขียนกฎหมายอย่างไร หากคนจะแกล้งฟ้องก็ย่อมแกล้งได้เสมอ ดังนั้น ไม่ว่าจะเขียนกฎหมายอย่างไรก็แก้ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ได้

พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอบข้อถกเถียงในเรื่องนี้ว่า ในการฟ้องคดี มันก็เป็นเรื่องผู้เสียหายรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบ เกิดความทุกข์ใจจึงตัดสินใจไปฟ้องศาล เขาเดินไปศาลก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน มันเดือดร้อนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้ถูกฟ้อง ในการแก้ไขกฎหมายก็ต้องคำนึงถึงฝั่งผู้เสียหายด้วย แต่กฎหมายก็มีกลไกต่างๆ เช่น กลไกยุติธรรม ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ถูกฟ้องคดี

 

ตั้งคณะกรรมการใหม่เพื่อบล็อกเว็บ

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนี้ยังระบุถึงกระบวนการบล็อกเว็บไซต์ โดยจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาการปิดกั้นเว็บไซต์ สำหรับกรณีที่เร่งด่วน ก็สามารถปิดกั้นเว็บก่อนได้แล้วค่อยยื่นเรื่องเอกสารตามในภายหลัง 

ประเด็นนี้นำมาสู่กระแสสังคมที่วิจารณ์ว่า มันอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ซิงเกิลเกตเวย์” ขณะที่สุรางคณาอธิบายว่า เจตนารมณ์ของเรื่องนี้ คือการทำให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกัน 

พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายยังขยายขอบเขตของการบล็อกเว็บไซต์ ไม่ได้จำกัดแค่ความผิดภายใต้กฎหมายนี้ แต่ให้รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย เพราะเนื้อหาออนไลน์เกี่ยวข้องกับหลายประเด็น ไม่สามารถระบุไว้ในกฎหมายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี อำนาจหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะอยู่ในมือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีความรับผิดชอบสูง