ร่างพ.ร.บ.คอมฯระบุชัด ให้กรรมการ 5 คน สั่งปิดเว็บขัดศีลธรรมอันดี, การไม่ลบข้อมูลเป็นความผิดเพราะคนมี “สิทธิที่จะถูกลืม”

หลักสิทธิที่จะถูกลืม หรือ right to be forgotten ถูกอ้างขึ้นในการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ เพื่อเป็นเหตุในการกำหนดความผิดฐานใหม่ ให้ทำลายข้อมูลที่ศาลสั่งว่าผิด ทั้งที่ในทางสากล สิทธิที่จะถูกลืมใช้เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมประเด็นสำคัญการบล็อกเว็บที่ขัดกับศีลธรรมอันดี ทำโดยคณะกรรมการ 5 คนตัดสินใจ 
 
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) และจัดงานรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่อาคารรัฐสภา เพื่อชี้แจงต่อสาธารณะถึงเหตุผลที่ต้องแก้ไขกฎหมายและเปิดรับฟังความคิดเห็น
หนึ่งในประเด็นที่สังคมสนใจในร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ การเพิ่มฐานความผิด "ไม่ลบ" ข้อมูลที่ศาลสั่งให้ลบตามมาตรา 16/2 ซึ่งไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ  กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฎหมายไพบูลย์ จำกัด อธิบายเหตุผลของมาตรานี้ โดยอ้างหลักสิทธิที่จะถูกลืม หรือ right to be forgotten ว่าเป็นพื้นฐานของการเขียนร่างมาตรา 16 เพราะโดยหลักเมื่อข้อมูลอะไรไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วจะไม่ค่อยถูกลบออก โดยไพบูลย์ยกตัวอย่างว่า หากใครเคยถูกจับกุมว่าทำผิดฐานไปลวนลามคนอื่นแล้วเป็นข่าวจนเสื่อมเสียไปทั่ว ถ้าต่อมาศาลตัดสินว่าข่าวนี้ไม่จริงข้อมูลนี้ก็ต้องถูกลบออก ทั้งกูเกิ้ล, เฟซบุ๊ก ก็ต้องลบออก 
     

           
            “มาตรา 16/2 ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็น ข้อมูลที่ศาลสั่งให้ยึดและทําลายตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทําลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี”
 

การต้องลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิที่จะถูกลืม
ในขณะที่เวที "เกาะขอบสนามสนช. ที่ร้าน Growth Cafe สยามสแควร์ ก็มีการเสวนากันต่อในประเด็นนี้ โดย คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเซนต์จอนห์น มองว่า สิทธิที่จะถูกลืมกับการต้องลบข้อมูลตามมาตรา 16 ของร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคนละประเด็นกัน โดยสิทธิจะถูกลืม นั้นเป็นหลักสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่พลเมืองสามารถขอร้องต่อศาลในการลบข้อมูลของเราได้ แต่ถ้านำหลักการนี้มาใช้กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อาจจะทำให้มีการตีความกว้างไป เพราะ การที่ศาลจะสั่งให้ลบข้อมูลได้นั้นจะต้องเป็นความผิดตามมาตรา 14 และ 15 ซึ่งความผิดตามมาตรา 14 และ 15 นั้นมีความหมายกว้างกว่า สิทธิส่วนบุคคลที่แต่ละคนอาจต้องการจะถูกลืม
ด้าน ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การใช้หลักสิทธิที่จะถูกลืม กฎหมายของประเทศอื่น อย่างสหภาพยุโรปก็ไม่ได้สั่งให้ลบข้อมูลออกจากระบบทั้งหมดเสียเดียว เพียงแต่สั่งไม่ให้ขึ้นหน้าแรกของเว็บไซต์เท่านั้น  และยังให้เป็นดุลพินิจของผู้ให้บริการด้วยว่าจะลบหรือไม่ ปัญหาต่อมา คือ เราจะทราบได้ยากมากว่า เมื่อไรที่จะถือว่า "รู้แล้ว" ว่าข้อมูลนั้นต้องถูกลบ เพียงแค่มีการแจ้งเข้ามาครั้งเดียวจากอีเมล์หลายพันฉบับจะถือว่ารู้แล้วได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายของสหภาพยุโรป จะถือว่า รู้ก็ต่อเมื่อต้องรู้จริงๆ แล้วเท่านั้น
ข้อมูลประวัติศาสตร์ อาจได้รับผลกระทบหาก ร่างฉบับนี้ผ่าน
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตว่า หากกฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องลบข้อมูลที่ศาลเคยสั่งว่าเป็นความผิด จะกระทบถึงหน่วยงานที่ต้องเก็บข้อมูลจำนวนมาก อย่างเช่น ห้องสมุด หรือหอจดหมายเหตุ หากมีคดีที่ศาลสั่งให้ข้อมูลใดเป็นความผิด ก็ต้องลบข้อมูลเหล่านั้นออกจากคลังข้อมูลด้วย หากไม่ลบก็จะเป็นความผิด
อาทิตย์ ได้ยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพ คือ อดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เคยกล่าวไว้ว่า “มีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ·เพียง 1 คน” และในเวลาต่อมา ถ้าศาลมีคำสั่งว่าการพูดเช่นนี้เป็นเท็จและให้ลบข้อมูลนี้ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หอจดหมายเหตุ หรือห้องสมุดต่างๆ ก็ต้องลบข้อมูลทั้งหมด ก็อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อประวัติศาสตร์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนรุ่นหลังก็ไม่มีทางทราบได้ว่า สมัคร สุนทรเวชเคยกล่าวประโยคนี้ไว้
คณะกรรมการพิจารณา 5 คน สั่งปิดเว็บได้เลยหากขัดกับ "ศีลธรรมอันดี"
ในมาตรา 20 ของร่างแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณา 5 คน ซึ่งมาจากเอกชน จำนวน 2 คน สั่งบล็อกเว็บไซต์ถ้าหากเห็นว่าขัดกับศีลธรรมอันดีงาม ซึ่ง จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะสังศาสตร์และมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ว่า คำว่า “ศีลธรรมอันดีเป็นของใคร และสอดคล้องอารยะของสังคมในปัจจุบันหรือไม่ เช่น มีเว็บบอร์ดในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการมีภรรยาน้อย หรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง ถ้าหากคณะกรรมการกลั่นกรองมองว่าขัดกับศีลธรรมอันดี ก็จะตามไปปิดหรือไม่ หรือจะต้องปิดทุกเว็บไซต์ที่ขัดต่อศีลธรรม 
ซึ่ง จอมพล มีความเห็นว่า ต่อให้ปิดเว็บที่ถูกมองว่าขัดกับศีลธรรมอันดีไปจนหมด ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาศีลธรรมต่างๆ ในสังคมก็จะยังคงอยู่ไม่มีทางแก้ได้ ทางที่ดีควรจะเปิดกว้างให้สังคมมีพื้นที่พูดคุยกันในเรื่องนั้นๆ มากกว่า
ด้านฐิติรัตน์ ได้เสริมประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ควรจะเรียกร้องในการเขียนกฎหมาย คือ ต้องมีความชัดเจน คนถูกบังคับใช้รู้ว่ามีโอกาสจะถูกฟ้องแค่ไหน มีโอกาสที่จะถูกลงโทษแค่ไหน การที่ผู้ร่างกฎหมายเขียนออกมาเช่นนี้แสดงว่า ผู้ร่างเองก็ยังไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นความผิดที่ขัดต่อความปลอดภัยสาธารณะ หรือศีลธรรมอันดี เลยกลายเป็นการผลักภาระให้กับศาลหรือคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา อย่างน้อยที่สุดน่าจะมีความพยายามออกมาอธิบาย เป็นการยกตัวอย่างก็ยังดี 
ฐิติรัตน์ ยังเห็นด้วยว่า การให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจนมากเกินไปอาจทำให้ไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิของประชาชน ทำให้เกิดความกลัวและจะนำไปสู่การเซนเซอร์ตัวเองของประชาชน เพราะกลัวผิดกฎหมาย แม้ว่าหลายประเทศก็มีการใช้คำกว้างๆ เช่นนี้เขียนกฎหมายเพื่อจำกัดเนื้อหาอยู่บ้าง แต่ในระดับนานาชาติก็มีการประนามประเทศที่นำ "ศีลธรรมอันดี" มาบัญญัติเป็นกฎหมายอยู่หลายครั้ง 
           “มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคําสั่ง ระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
           (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
           (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กําหนดไว้ ในภาคสอง 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา" 
สฤณี อาชวานันทกุล บล็อกเกอร์และนักเขียน กล่าวว่า ถ้าเราอยากเห็นสังคมออนไลน์ที่คนยินดีที่จะมาแลกเปลี่ยนมาพูดคุยกัน พร้อมกับมีวิจารณาญาณด้วย เราก็ต้องสนับสนุนการควบคุมดูแลกันเอง ซึ่งวันนี้สิ่งนี้ก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว เช่น เวลามีการโพสต์เฟซบุ๊กด้วยข้อมูลผิดก็จะมีคนมาบอกว่าผิด เป็นการช่วยกันตรวจสอบด้วยกลไกตามธรรมชาติ ซึ่งบรรยากาศของการโต้เถียงแบบนี้เป็นวิธีการพัฒนาวัฒนธรรมไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร เราคงไม่อยากเห็นสังคมที่ไม่แน่ใจว่าเราจะพูดอะไรได้บ้าง และไม่อยากเห็นสังคมที่คนในโลกออนไลน์มาขู่กันเองว่า อย่าพูดแบบนั้นเพราะเดี๋ยวจะผิดกฎหมายแบบนี้