ส่องร่าง กม.เขตเศรษฐกิจพิเศษ: รวบอำนาจให้ผู้ว่าฯ คุมกฎหมาย 9 ฉบับ ควบคุมอาคาร-โรงงาน-ผังเมือง

“เขตเศรษฐกิจพิเศษ” เป็นคำที่ได้ยินกันมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นนโยบายที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดัน จนกระทั่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความคืบหน้าและมีการเร่งดำเนินการเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างมาก โดยเฉพาะมีการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี หรือการใช้มาตรา 44 สั่งเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนเป็นที่ราชพัสดุกว่า 2,183 ไร่ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อนำมาให้นักลงทุนและรัฐเช่าที่ดิน ส่งผลให้ประชาชนจะต้องย้ายออกจากพื้นที่กว่า 97 ครอบครัว และอาจต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
นอกจากการใช้มาตรา 44 แล้ว คณะรัฐมนตรียังอนุมัติหลักการ "ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559  ซึ่งจะต้องส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกเสียงวิจารณ์ว่ารวมศูนย์อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการตัดสินใจมากเกินไป นอกจากนั้นยังให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้ 
ตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้นายกฯ เป็นประธาน
ในมาตรา 5 ระบุว่า ให้มี “คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการมาจากปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง, คมนาคม, พาณิชย์, แรงงาน, มหาดไทย และยุติธรรม รวมทั้งมาจากตัวแทนภาคธุรกิจ ได้แก่ ประธานหอการค้าไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย อีกทั้งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ แต่งตั้งไม่เกิน 6 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ 4 ปี รวมแล้วจะมีคณะกรรมการจำนวน 20 คน ซึ่งจะมีหน้าที่เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย ติดตามการดำเนินงานแต่ละเขต ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
กำหนดพื้นที่ไหนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ได้
คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีอำนาจกำหนดพื้นว่าที่ใดสามารถเป็นพื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ แต่ต้องศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่ก่อน โดยต้องให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย เมื่อเห็นว่าคุ้มค่า ก็ให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่นั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งแผนแม่บทนั้นต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย 4 อย่าง ได้แก่
1. ขอบเขตพื้นที่และกิจการเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2. แนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่ ต้องสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง
3. แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
4. สิทธิประโยชน์ที่ควรจัดให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้
เมื่อประกาศกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วก็ให้ดำเนินการตามแผนแม่บทและจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อให้บริการแก่นักลงทุน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล ประสานงานให้เป็นไปตามแผนแม่บท และต้องรายงานความคืบหน้า ปัญหา ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ
ตั้งผู้ว่าฯ เป็น One Stop Service คุมกฎหมายควบคุมอาคาร โรงงาน และผังเมือง
บางครั้งการดำเนินการบางอย่างของผู้ประกอบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจต้องขอรับการอนุมัติ อนุญาต หรือขอความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงให้มีศูนย์ One Stop Service โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือบุคคลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย 9 ฉบับ ได้แก่
1.กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 
2.กฎหมายว่าด้วยโรงงาน
3.กฎหมายว่าด้วยผังเมือง
4.กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เฉพาะตามมาตรา 46  
5.กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะการขออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป
6.กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน
7.กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
8.กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร
9.กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
นอกจากนี้ ในกรณีถ้าเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมีนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตั้งอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้ผู้ว่า กนอ. ตั้งศูนย์ One Stop Service เพิ่มอีกแห่งหนึ่งในนิคมฯ ก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนและผู้อาศัยในนิคมฯ โดยผู้ว่ากนอ. จะมีอำนาจแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในนิคมฯ นั้นด้วย
ให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และยกเว้นภาษี
ในร่างพ.ร.บ.เศรษฐกิจพิเศษ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1. คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน
2. ผู้ประกอบการสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ซึ่งได้แก่ ช่างฝีมือ ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และคู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนจำนวนคนต่างด้าวและระยะเวลาในการอยู่อาศัยให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3. การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร
4. สิทธิประโยชน์อื่น
ส่วนการเช่าที่ดินนั้น ต้องไม่เกิน 50 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปกติที่ให้เช่าได้ไม่เกิน 30 ปี
สิทธิประโยชน์ข้างต้นนี้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบาย โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการส่งเสริมวัตถุประสงค์ของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
ไฟล์แนบ