เปิดร่างกฎหมายลูก “ที่มา ส.ว.” ใช้ 20 กลุ่มอาชีพ “คัดเลือกกันเอง”

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นหนึ่งในกฎหมายลูกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ต้องร่างให้เสร็จตามรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้วางไว้ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ยกร่างในขั้นแรก แล้วส่งให้กรธ.เป็นผู้พิจารณาต่อ โดยเนื้อหาสาระของกฎหมายก็คือ การขยายบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น เช่น ส.ว. มาจาก 20 กลุ่มอาชีพหรือความเชี่ยวชาญ โดยใช้วิธีการคัดเลือกกันเองทั้งแบบภายในกลุ่มและข้ามกลุ่ม รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขคัดกรองผู้ลงสมัคร
ส.ว. ชุดแรก 1 ใน 5 "คัดเลือกกันเอง" ก่อน แล้วคสช. เลือกอีกที
ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 กำหนดการได้มาซึ่งส.ว.ชุดแรกจำนวน 250 คน ให้มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขั้นสุดท้าย โดยจำนวน 50 คน มาจากการคัดเลือกของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งในหมวดบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ให้ กกต. ดำเนินการเลือก ส.ว. ตามวิธีการในกฎหมายลูก <คัดเลือกกันเอง> จากนั้น ให้นำรายชื่อดังกล่าวเสนอต่อคสช. เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. จำนวน 50 คน จากทั้งหมด 250 คน 
ส.ว. ชุดที่สอง มี 200 คน ซึ่งมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ/ความเชี่ยวชาญ 
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดให้ ส.ว. มาจากการ "เลือกกันเอง" ของกลุ่มอาชีพ/ความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งหมด 20 กลุ่ม อันได้แก่ 
(1) ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 
(2) ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 
(3) ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ 
(4) ด้านการศึกษา หรือวิจัย 
(5) ด้านการสาธารณสุข 
(6) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
(7) ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา 
(8) ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 
(9) ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 
(10) ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง 
(11) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 
(12) ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 
(13) ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม 
(14) ด้านการประกอบวิชาชีพ 
(15) ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 
(16) ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน 
(17) ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม 
(18) ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 
(19) ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ 
(20) ด้านอื่นๆ
การคัดเลือก ส.ว. มี 2 แบบ คือ "เลือกกันเองภายในกลุ่ม" กับ "เลือกไขว้"
ในการคัดเลือก ส.ว. จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ โดยวิธีการคัดเลือกจะแบ่งออกเป็นสองวิธี อย่างแรกก็คือ "การเลือกกันเองภายในกลุ่ม" ซึ่งวิธีนี้จะใช้เฉพาะระดับอำเภอ <ในกรณีที่มีผู้สมัครในกลุ่มเกิน 5 คน> โดยคณะอนุกรรมการประจำอำเภอ<ผู้รับสมัคร> จะจัดการคัดกรองผู้สมัครและจัดประชุมผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเพื่อให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวเอง จากนั้น ก็ให้ผู้สมัครภายในกลุ่มลงคะแนน ทั้งนี้ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกจะเป็นตัวแทนของกลุ่มนั้นๆ 
เมื่อได้ผู้สมัครในระดับอำเภอ อย่างละ 5 คน ต่อกลุ่มแล้ว คณะอนุกรรมการประจำอำเภอก็จะจัดให้มีการคัดเลือกอีกครั้ง แต่ครั้งที่สองจะใช้วิธีการ "เลือกไขว้" หรือ ให้แต่ละกลุ่มไปคัดเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ โดยแต่ละคนจะมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข และเมื่อมีการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว กกต. จะทำบัญชีคะแนนผู้สมัครจากมากไปหาน้อย โดยให้ 3 คนแรกที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอไปคัดเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
เมื่อมาถึงระดับจังหวัด ก็ยังคงใช้วิธีการ "เลือกไขว้" เช่นเดิม โดยให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอมาคัดเลือกตัวแทนระดับจังหวัดให้เหลือตัวแทนระดับจังหวัดละ 1 คนต่อ 1 กลุ่ม (จังหวัดละ 20 คน) จากนั้นตัวแทนในระดับจังหวัดก็จะมาคัดเลือกด้วยวิธีการ "เลือกไขว้" อีกครั้ง เพื่อหาผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกจากทั้งประเทศ และผู้นั้นก็จะได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว. ในกลุ่มนั้นๆ 
 
ทั้งนี้ กกต. จะต้องจัดทำบัญชีสำรองอีก 10 รายชื่อสำหรับแต่ละกลุ่ม สำหรับกรณีที่สมาชิกภาพของ ส.ว. ในกลุ่มใดสิ้นสุดลง จะได้ไม่ต้องดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกใหม่ แล้วให้ผู้ได้รับเลือกที่อยู่ในบัญชีสำรองในลำดับถัดไปเป็น ส.ว. แทน 
ผู้สมัคร ส.ว.  ต้องมีหลักฐานความเชี่ยวชาญ-ห้ามโฆษณาหาเสียง 
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้กำหนด "เงื่อนไขพิเศษ" สำหรับผู้ที่จะลงสมัคร ส.ว. ไว้หลายข้อซึ่งส่วนใหญ่ไม่แตกต่างไปจากการสมัคร ส.ส. นัก แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่
หนึ่ง ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. ต้องมีหลักฐานแสดงความเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 10 ปี
เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มความเชี่ยวชาญ/อาชีพไว้ ทำให้การสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. มีเงื่อนไขว่า ผู้สมัครต้องแสดงหลักฐานว่า ผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับกลุ่มที่ตัวเองลงสมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องมีหลักฐานรับรองเป็นหนังสือ ยกเว้น กลุ่มด้านผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 
สอง ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. ห้ามโฆษณาหาเสียง ให้ใช้วิธีการพูดหรือแจกเอกสารแนะนำตัว
นอกจากการแสดงหลักฐานว่าผู้สมัครมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่ตนสมัครแล้ว เงื่อนไขอีกอย่างสำหรับการสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ก็คือ "ห้ามโฆษณาหาเสียง" แต่กฎหมายลูกก็เปิดช่องไว้นิดหน่อยว่า วิธีการหาเสียงให้ใช้การพูดแนะนำตัว รวมถึงการจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติและผลงานในการทำงานแต่เพียงเท่านั้น
สาม ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. มีสิทธิสมัครรับเลือกได้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอำเภอใดอำเภอหนึ่ง
อย่างไรก็ดี หากผู้สมัครคนใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือเงื่อนไขข้างต้นที่กล่าวมา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
"ซื้อเสียง-ใช้อิทธิพล-กลั่นแกล้ง" มีโทษจำคุกพร้อมเพิกถอนสิทธิลงสมัคร
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ทำการทุจริตในหลายกรณี โดยบทลงโทษส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่บัญญัติในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ 
ความผิดสำหรับผู้กระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัครเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตน หรือผู้สมัครอื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งรวมไปถึง กรรมการบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง ส.ส. ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากกระทำการโดยวิธีใดที่เป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ว.
หรือ หากผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือเพื่อให้เป็น ส.ว. อีกทั้งผู้ใดกระทำการให้สัญญาว่าจะให้ จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนๆ ให้แก่ตน หรืองดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ทั้งนี้ หากผู้ใดกระทำความผิดข้างต้น ให้ถือว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
บุคคลทั่วไปมีสิทธิร้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. และผู้สมัครสามารถคัดค้านผลได้
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดว่า ถ้าบุคคลใดก็ตาม เห็นว่าผู้ลงสมัครคนใดที่มีชื่ออยู่ในประกาศบัญชีผู้สมัครของกกต. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการลงสมัคร ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณา
ทั้งนี้ หากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเร็ว เช่น ถ้าศาลมีคำสั่งให้ผู้สมัครรายใดเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศบัญชีรายชื่อ และหากศาลมีคำสั่งภายหลังการประกาศผลการคัดเลือก ส.ว. กกต. มีอำนาจขอศาลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้สมัครมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต. ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากว่าเป็นการคัดค้านการเลือกหรือนับคะแนนในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือประเทศ ให้ยื่นคำร้องภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการคัดเลือกซึ่งมีปัญหา จากนั้น ให้ กกต. ดำเนินสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป