การสืบราชสันตติวงศ์ (สืบราชสมบัติ)

สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันสำคัญของประชาชนชาวไทย และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน ไม่ว่าประเทศจะประสบปัญหาใดๆ แต่สถาบันฯ ไม่เคยห่างหายไปจากสังคม ขั้นตอนหนึ่งของการคงอยู่อย่างต่อเนื่องก็คือ การสืบราชสันตติวงศ์ หรือการสืบราชสมบัติ ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ คือ “รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550” โดยมาตรา 22 ระบุว่า การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่ง “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467”  

 

กฎมณเฑียรบาล

คือ กฎหมายรักษาระเบียบวินัย ความเรียบร้อย ตลอดจนความปลอดภัย ภายในราชสำนักและพระมหากษัตริย์ กฎมณเฑียรบาลมีเนื้อหาสาระในหลายส่วน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดที่คนรู้จักและพูดถึงกันมากก็คือ “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์” 

กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ถูกบัญญัติขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) กฎมณเฑียรบาลฯ ถูกใช้ตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน 2467 โดยสาระสำคัญคือ การกำหนดวิธีการเลือกและการตั้งรัชทายาท

พระมหากษัตริย์ตั้งรัชทายาทเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป

กฎมณเฑียรบาลฯ กำหนดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจและสิทธิที่จะแต่งตั้งเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เป็นรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ และเมื่อใดถึงเวลาจำเป็น ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที อย่างไรก็ตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอำนาจและสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจาตำแหน่งได้ และห้ามมิให้นับสตรีเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์  

ไม่มีรัชทายาทให้ตั้งพระราชโอรสองค์โตของพระอัครมเหสี

ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงโดยมิได้ทรงตั้งพระรัชทายาท ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่หนึ่ง ในลำดับสืบพระราชสันตติวงศ์ ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป โดยได้ระบุเกณฑ์การจัดระดับ ดังนี้ 

  1. พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระอัครมเหสี (สมเด็จหน่อพุทธเจ้า) 
  2. หากสมเด็จหน่อพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าและพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพุทธเจ้านั้นขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รอง ถัดไปตามลำดับพระชนมายุ
  3. หากสมเด็จหน่อพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และไม่มีพระราชโอรส ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่สอง ในสมเด็จพระอัครมเหสี
  4. หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่สอง สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ถ้ามีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น (เรียงตามลำดับอาวุโสของพระโอรส)
  5. หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่สองสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และไร้พระราชโอรส ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นๆ ถัดไป ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นๆ สลับกันไปตามลำดับอาวุโส 
  6. หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์หมดแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้นๆ ก็สิ้นพระชนม์ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิศริยยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับ 

ทั้งนี้หากพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระมเหสีในระดับต่างๆ ไม่มีแล้วให้อัญเชิญพระอนุชาที่มีพระชนมายุรองลงมา ถ้าพระอนุชาเสียชีวิตให้อัญเชิญพระโอรสของพระอนุชาโดยเรียงลำดับตามอาวุโสจนกว่าจะได้ผู้ที่สมควรสืบพระราชสันตติวงศ์ 

กษัตริย์อายุไม่ถึง 20 ปี ให้ตั้งผู้สำเร็จราชการฯ 

ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือมีอายุยังไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ ให้เสนาบดีพร้อมกันเลือกเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 ปี จึงให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพ้นจากหน้าที่

 

รัฐธรรมนูญ 

หมวดพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 จนถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 เนื้อความที่เกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติ ยังไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข 

องคมนตรีเสนอผู้สืบราชสมบัติหากไม่มีรัชทายาท 

โดยปกติแล้วตำแหน่งประมุขของประเทศจะต้องไม่มีสภาพสุญญากาศ หากตำแหน่งประมุขของประเทศว่างลงก็จะต้องมีการสืบราชสมบัติหรือมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว

รัฐธรรมนูญ มาตรา 23 กรณีบัลลังก์ว่างลงหากพระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาเพื่อเรียกประชุมรัฐสภาให้รับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป แต่ในกรณีบัลลังก์ว่างโดยมิได้มีการตั้งองค์รัชทายาทไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้สืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล โดยจะเสนอพระราชธิดาก็ได้

บัลลังก์ว่าง ประธานองคมนตรีคือผู้สำเร็จราชการชั่วคราว

ในกรณีที่ยังไม่มีการอัญเชิญพระรัชทายาทหรือเสนอผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 24 รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้ว่าให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่กรณีที่มีการตั้งผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ไว้ก่อนหน้าแล้วให้ผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ต่อไป 

ทั้งนี้ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ