พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ “วางแผนความมั่นคงประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถูกตั้งขึ้นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2502 และถูกแก้ไขเพิ่มเติมบางมาตราในปี 2507 โดย สมช. มีหน้าที่หลักคือการวางแผนนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคง รวมทั้งประสานงานหน่วยงานความมั่นคงหน่วยต่างๆ ทั้งทหารและพลเรือน พร้อมกับเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงให้แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
หากดูจากอายุของกฎหมายจะเห็นได้ว่า "กฎหมายถูกใช้มานานและอาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ" ทำให้คณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสนช. ก็มีมติรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ไว้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการด้านความมั่นคงแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ และท้ายที่สุด สนช. ก็ได้ไฟเขียวให้กฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ซึ่งเนื้อหาสาระมีดังนี้
เพิ่มนิยามความมั่นคงแห่งชาติ "ภาวะปลอดจากภัยคุกคามต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน"
พ.ร.บ.สภาความมั่นคงฉบับเดิม มีความยาวขนาดสั้นเพียงแค่แปดมาตราและบอกเพียงแค่ว่าองค์ประกอบและหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติมีอะไรบ้าง แต่พอมาร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงฉบับล่าสุด ได้เพิ่มคำนิยามคำที่สำคัญที่เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้าไป ในมาตรา 4 เช่น
“ความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า ภาวะที่ประเทศปลอดจากภัยคุกคามต่อเอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ อันเกิดจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
หรือ “นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า นโยบายและแผนหลักของชาติที่เป็นกรอบหรือทิศทางในการดำเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ
หรือ “ภัยคุกคาม” หมายความว่า ภาวะหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นคงแห่งชาติ
ผนวกกระทรวงยุติธรรมและไอซีทีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสภาความมั่งคง
ร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงฉบับใหม่ มาตรา 6 มีการเพิ่มสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติเพิ่มเติมสองตำแหน่ง จากเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (2) รองนายกรัฐมนตรี (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ (8) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยเพิ่ม (9) รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม (10) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมี (11) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นสมาชิกและเลขานุการ
นอกจากนี้ สภาความั่นคงแห่งชาติ อาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณาหรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้
สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเจ้าภาพวางยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 20 ปี
ดูเหมือน ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ จะให้ความสำคัญกับ สมช. ในการวางยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เพราะกฎหมายผูกมัดหน้าที่ดังกล่าวไว้ในหลายมาตรา เช่น
มาตรา 7 กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการ (1) จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (2) เป็นที่ปรึกษาในกิจการด้านความมั่นคงให้แก่คณะรัฐมนตรี  (3) จัดทำยุทธศาสตร์และแผนด้านความมั่นคง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ และแผนบริหารวิกฤตการณ์ (4) การกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ (5) การประเมินการวิเคราะห์ สถานการณ์ในภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับภัยคุกคาม และ (6) การกำกับและติดตามการดำเนินกิจการด้านความมั่นคงแห่งชาติในภาพรวมของประเทศ
และในมาตรา 13 ก็ยังผูกมัดรัฐบาลกับสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกว่า ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติขึ้นตามข้อเสนอแนะของสภาความมั่นคงแห่งชาติในการจัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสภาความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งข้อมูลหรือเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา หรืออาจขอให้บุคคลใดๆ มาชี้แจง หรือมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาของสภาซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความมั่นคงในด้านต่างๆ ด้านละไม่เกินเจ็ดคนเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่สภามอบหมายด้วยก็ได้
มิใช่แค่นั้น ในเอกสารประชาสัมพันธ์ร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังระบุอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ปรับปรุงกลไกในการรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยการจัดทำนโยบายและระดับชาติฯ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำขึ้นจะมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนหลักระดับชาติที่เกี่ยวข้อง
การวางแผนต้องครอบคลุมนโยบายทั้งในและต่างประเทศ และการทหารกับการเศรษฐกิจ
นอกจากการผูกมัดการทำงานวานแผนของ สมช. ผู้เป็นเหมือนเจ้าภาพหลักในการวางยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวยังผูกมัดเรื่องเนื้อหาไว้ในมาตรา 14 ด้วยว่า นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ต้องมีสาระที่ครอบคลุมถึงนโยบายภายในประเทศ นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการทหารกับการเศรษฐกิจ และอื่นๆ อันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องต้องกัน และอย่างน้อยต้องกําหนดเป้าหมายและแนวทางการดําเนินการในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติในเรื่องดังนี้ 
(1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
(2) การปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ 
(3) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและศักยภาพการป้องกันประเทศ 
(4) การรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ 
สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และเสนอทางแก้ให้รัฐบาล
นอกจากการวางแผนแล้ว กฎหมายยังกำหนดหน้าที่อื่นๆ ไว้อีกสองมาตรา คือ มาตรา 18 และมาตรา 19 ซึ่งระบุว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และจัดทําฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ในกรณีที่มีสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาประกาศระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามดังกล่าว พร้อมกับเสนอความเห็น แนวทาง มาตรการ หรือการดําเนินการอื่นที่จําเป็นในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์นั้น ต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี
สำนักงบประมาณต้องอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานรัฐตามแผนด้านความมั่นคง
กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 16 เลยว่า ให้สํานักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ในการจัดทํางบประมาณ นําความเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาว่าแผนงานหรือโครงการใดจะถือเป็นแผนงานหรือโครงการเรื่องสําคัญ
อีกทั้ง ในมาตรา 17 ยังให้อำนาจสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติติดตามผลการดําเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคง หรือแผนงานกับโครงการ เพื่อสนับสนุน อํานวยการ หรือประสานการดําเนินการที่จําเป็น รวมทั้งให้คําแนะนําเกี่ยวกับการเร่งรัดหรือปรับปรุงการดําเนินงานดังกล่าว
ไฟล์แนบ