“ปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมาย” เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

ในภาษาอังกฤษมีคำบางคำที่ออกเสียงเหมือนกัน อย่างเช่น คำว่า Slap กับ SLAPP โดย สแลป(Slap) คำแรกหมายถึง "การตบ" แต่ สแลป(SLAPP) คำหลังย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation ที่แปลได้ว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน”  
 
คำสองคำนี้เกี่ยวโยงกันมากกว่าเสียงที่เหมือนกัน กล่าวคือ แสลป (SLAPP)  เป็นการฟ้องคดีโดยมีจุดมุ่งหมายให้เสียงของการเรียกร้องสิทธิและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะอ่อนแรงและเงียบลงไป หรืออาจจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพว่า แสลป ก็คือการตบปากคนด้วยกฎหมาย เมื่อผู้มีอำนาจไม่อยากจะฟัง (หรือไม่อยากให้คนอื่นได้ฟัง) 
 
โดยปกติ การฟ้องคดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือเรียกร้องความเป็นธรรม และประชาชนทุกคนมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะฟ้องร้องผู้ที่ทำให้เราเสียหายได้ แต่ทว่า ปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมาย กลับมีจุดมุ่งหมายที่ต่างออกไป โดยการฟ้องคนในลักษณะที่เป็นสแลป ไม่ได้ต้องการความเป็นธรรม แต่ต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหยุดกลุ่มคนหรือบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ให้มีภาระทางกฎหมาย ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนพอสมควรในการต่อสู้คดี ทั้งนี้ ฐานความผิดที่นิยมใช้ส่วนมากก็คือ การฟ้องหมิ่นฐานประมาท แต่ในบางประเทศก็อาจจะนำกฎหมายอื่นๆ อย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงมาใช้ด้วย
 
หากใครที่เคยขึ้นโรงขึ้นศาลย่อมทราบดีว่า แม้จะไม่ได้กระทำความผิดเลยก็ตาม แต่ "ราคาที่ต้องจ่ายจนกว่าได้ความยุติธรรมมาไม่ใช่ราคาถูก" ไหนจะค่าเดินทาง ค่าเอกสาร รวมไปถึงค่าประกันตัว เรียกได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเต็มไปหมด และในค่าใชจ่ายเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่แสนสำคัญก็คือ "ค่าทนายความ" โดยเฉพาะถ้าผู้ที่ถูกฟ้องต้องการความมั่นใจว่า จะมีทนายความที่เปี่ยมด้วยความสามารถและทำงานอย่างเต็มที่ ราคาที่ต้องจ่ายก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก
 
โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสแลปก็มีอยู่หลายคดี อาทิ ในปี 2534 บริษัทแมคโดนัลด์ ฟ้องหมิ่นประมาทนักเคลื่อนไหวของกลุ่มกรีนพีช(Greenpeace) ในประเทศอังกฤษ เนื่องจากตีพิมพ์แผ่นพับว่า แมคโดนัลด์ผลิตอาหารโดยใช้แรงงานไม่เหมาะสม ขายอาหารที่ทำให้สุขภาพแย่ลง สนับสนุนการทำลายป่า รวมทั้งใช้การโฆษณาเจาะจงเพื่อจูงใจเด็กๆ ซึ่งการฟ้องคดีในครั้งนั้น นักเคลื่อนไหวของกรีนพีชต้องใช้เวลาถึง 7 ปี และสูญเสียเงินไปกว่า 481.5 ล้านบาท  เพื่อต่อสู้ในชั้นศาล
 
ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาสแลปเป็นไปอย่างยากลำบากก็เนื่องมาจาก "ช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรม" ที่ไม่สามารถกลั่นกรองคดีก่อนจะขึ้นสู่ศาลได้ แม้ในบางประเทศจะมีกฎหมายช่วยเหลือ เช่น เปิดช่องให้จำเลยขอยุติการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและกำหนดภาระให้โจทก์ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายและค่าทนายให้กับจำเลย แต่วิธีการดังกล่าวก็ไม่สามารถอุดช่องโหว่ได้อย่างสมบูรณ์ 
 
อย่างในประเทศไทยเอง ก็มีกระบวนการ "ไต่สวนมูลฟ้อง" ก่อนที่ศาลจะรับฟ้อง และกำหนดให้บางกรณีคนแพ้คดีต้องจ่ายค่าทนายความ แต่ในทางปฏิบัติค่าทนายความที่ศาลกำหนดให้ฝ่ายแพ้คดีจ่าย ก็แทบจะไม่พอค่ารถของทนายความและค่าถ่ายเอกสารด้วยซ้ำ 
 
อย่างไรก็ดี สแลปไม่ได้มีความหมายจำกัดอยู่ที่การฟ้องหมิ่นประมาทเท่านั้น ในบางประเทศผู้มีอำนาจตระหนักดีว่า “เสรีภาพในการแสดงออก” เป็นศัตรูตัวสำคัญที่จะทำให้พวกเขาไม่สามารถดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปได้นาน ดังนั้น ต้องจัดการผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง ยกตัวอย่าง การดำเนินคดีกับ ซูนาร์ นักวาดการ์ตูนเสียดสีการเมือง ที่ใช้ผลงานศิลปะวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปร่งใสของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย 
 
ซูนาร์ ถูกตั้งข้อหาจากทวิตเตอร์ 9 ข้อความ ทำให้เขามีโอกาสติดคุกนานถึง 43 ปี ตามกฎหมายป้องกันการปลุกระดม (the Sedition Act) ทั้งที่ ผลงานเหล่านั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะพยายามจะตอกย้ำปัญหาของรัฐบาล
 
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ บทบัญญัติของกฎหมายป้องกันการปลุกระดม (the Sedition Act) กลับเต็มไปด้วยข้อความที่คลุมเครือและตีความได้กว้าง อย่างเช่น การกระทำที่เป็น "การยุยงปลุกระดม"  "การกระตุ้นให้เกิดความไม่ชอบ" หรือ "ทำให้เกิดการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง" ต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ ซึ่งบทนิยามเช่นนี้ เปิดช่องให้รัฐสามารถเอาผิดใครก็ได้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และที่แย่ไปกว่านั้น กฎหมายยังเปิดช่องให้พนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เจตนาของผู้กระทำความผิด ซึ่งถือเป็นการบีบผู้ถูกฟ้องคดีที่มีเจตนาที่บริสุทธิ์ต่อสู้คดีได้ยากขึ้น 
 
จะเห็นได้ว่า ปัญหาอีกประการที่ทำให้เกิดสแลป ก็คือ ความบกพร่องในการเขียนกฎหมายที่มีลักษณะคลุมเครือ ตีความได้กว้าง จนประชาชนทั่วไปไม่สามารถรับรู้ได้ว่าขอบเขตในการแสดงออกอยู่ตรงไหน และสุดท้ายกฎหมายก็ถูกตีความมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปิดปากประชาชน
 
สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ยังไม่มีกฎหมายหรือกลไกเพื่อป้องกันการฟ้องร้องในลักษณะที่เป็นสแลป จึงได้แต่หวังว่า ประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งในการจับตาและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ
 
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมอีกว่า ผลกระทบของสแลปไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนถูกดำเนินคดี แต่ยังมีผลรวมถึง "พวกเรา" ซึ่งเป็นประชาชนทุกคน เพราะเมื่อมีคนถูกดำเนินคดีแบบสแลป ก็หมายความว่า กำลังมีการปิดกั้นข้อมูลบางอย่างที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เราได้ยิน และไม่อยากให้พวกเรารู้ทันอีกด้วย …