ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ประชามติ 7สิงหา ไม่อาจใช้อ้างความชอบธรรมให้ร่างรัฐธรรมนูญ

การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผ่านพ้นไป โดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้มาใช้สิทธิเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคำถามพ่วง ที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กระบวนการหลังจากนี้จึงต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง โดยมีเวลาอีก 90 วันก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้
จากการสังเกตการณ์ตลอดกระบวนการจัดทำประชามติครั้งนี้ พบปัญหาอุปสรรคหลายประการที่ภาครัฐจงใจสร้างขึ้น ซึ่งกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นและการได้รับข้อมูลที่เพียงพอของผู้ใช้สิทธิลงคะแนน จนทำให้ประชามติที่เกิดขึ้นไม่อาจมีความหมายเป็นกระบวนการที่ประชาชนให้ความเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอย่างชอบธรรมได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1. มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) มาตรา 61 วรรคสอง พร้อมกับประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติพ.ศ. 2559 โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี จากการแสดงความคิดเห็นภายใต้เงื่อนไขที่คลุมเครือ เช่น "ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่" ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าจะแสดงความคิดเห็นได้เพียงใด 
2. เจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายประกาศต่อสาธารณะโดยอ้างอิงพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง เพื่อข่มขู่และห้ามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 19 ครั้ง  มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ อย่างน้อย 39 คน สร้างบรรยากาศความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และสร้างความหวาดกลัวแพร่กระจายออกไปในสังคมวงกว้างก่อนการงประชามติ 
3. กระบวนการจัดทำประชามติ ยังดำเนินไปภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น พร้อมกับกระบวนการยุติธรรมที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจับกุม การสอบสวน และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือน ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติ ด้วยข้อหาต่างๆ อย่างน้อย 142 คน 
4. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับจริงได้ก่อนการลงประชามติ โดย กกต. ประกาศว่า จะจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1,000,000 เล่ม ส่งไปตามหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา ไม่ส่งไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 50 ล้านคน จะจัดส่งเพียง จุลสารสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ความยาว 6 หน้า ไปแทน ซึ่งจนถึงวันลงประชามติก็ยังมีรายงานจากประชาชนหลายครัวเรือนว่ายังไม่ได้รับ
5. ขณะที่ประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงออกทำนองไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ภาครัฐกลับใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐ เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน, วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย (ครู ก. ข. ค.), รายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ, การทำคลิปวีดีโอข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ, แอพลิเคชั่นต่างๆ ฯลฯ นำเสนอข้อดีด้านต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยในจุลสารที่จัดส่งไปตามบ้าน และแผ่นพับที่จัดทำขึ้นสำหรับแจกจ่ายประชาชนทั่วไป โดยกรธ. เต็มไปด้วยข้อความเท็จที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญ การตีความเพิ่มเติมโดยใส่ความคิดเห็น และขาดสาระสำคัญหลายประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในร่างรัฐธรรมนูญ
6. "คำถามพ่วง" เขียนด้วยข้อความยาวสี่บรรทัด ยากต่อการเข้าใจสำหรับประชาชนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง วิธีการเขียนมีข้อความที่ไม่ใช่สาระสำคัญแต่มุ่งสนับสนุนให้เห็นชอบ เช่น "เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง" หลีกเลียงสาระสำคัญที่จะให้อำนาจแก่ ส.ว. โดยใช้คำว่า "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" และไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. 
7. การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงประชามติยังไม่ทั่วถึง จากการสำรวจของเราประมาณหนึ่งเดือนก่อนการลงประชามติ พบว่า ประชาชนร้อยละ 70.25 ไม่ทราบวันที่ลงประชามติที่ถูกต้อง ร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าลงประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 92.41 ไม่ทราบว่าคำถามพ่วงคืออะไร 
8. การประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อออกเสียงนอกเขตยังไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนจำนวนมากพลาดการลงทะเบียนอกเสียงนอกเขต และพลาดการออกเสียงลงคะแนน ขณะที่การลงประชามติในครั้งนี้ไม่ได้จัดให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศมีสิทธิลงคะแนนด้วย ทั้งที่เคยจัดได้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ทำให้ชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจครั้งนี้
9. ประชาชนจำนวนมาก เห็นว่าการทำประชามติครั้งนี่ไม่มีความชอบธรรมทั้งในแง่เหตุที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นก่อนการทำประชามติ จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมกระบวนการ หรือไม่ไปลงคะแนนเลย เช่น พรรคพลังประชาธิปไตย นักศึกษากลุ่มดาวดิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, โตมร สุขปรีชา หรือกรณีชาวนนทบุรีที่ประกาศว่า "ไม่มีสิทธิ์ร่าง จึงไม่ขอมีสิทธิ์ร่วม" เป็นต้น
10. ก่อนการลงประชามติ ประชาชนพอจะเข้าใจได้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน ทิศทางการเมืองของไทยจะเป็นอย่างไรต่อ แต่รัฐบาลคสช. ซึ่งถืออำนาจเบ็ดเสร็จกลับจงใจไม่ชี้แจงว่า หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่านประชามติ จะมีกระบวนการอย่างไรให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ซ้ำ มีชัย ฤชุพันธ์ ยังเคยขู่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติอาจจะเจอฉบับที่โหดกว่านี้ ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงลงคะแนนแทบไม่มีทางเลือกเพราะรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคตหากลงคะแนนไม่เห็นชอบ 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคของการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของประชาชน และส่งผลต่อยอดรวมคะแนนการออกเสียงทั้งประเทศ 
อย่างไรก็ดี เนื่องจากประชาชนเสียงข้างมากได้ออกเสียงไปแล้ว ไม่ว่าการออกเสียงนั้นจะเกิดจากการตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือการรับข้อมูลเท็จ หรือการไม่มีทางเลือก หรือการตัดสินใจด้วยเหตุผลใดๆ ก็ย่อมเป็นการตัดสินใจที่มีความหมายและต้องเคารพ จึงถือว่ากระบวนการทำประชามติได้ผ่านไปแล้วโดยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง 
ด้วยเหตุที่กล่าวมา แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติ แต่ภาครัฐไม่อาจหยิบยกกระบวนการและผลที่ได้จากการลงประชามติขึ้นเพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา และใช้อำนาจต่างๆ ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ได้ตามอำเภอใจ การบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปในอนาคตจะมีความชอบธรรมหรือไม่ยังต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการที่ต้องเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและนำมาผนวกรวมกับการตัดสินใจ การบังคับใช้ต้องเป็นไปในทางที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่มุ่งกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไม่มุ่งสืบทอดอำนาจให้กับคนบางกลุ่ม และมุ่งคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็ว