จับตากระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ ‘มีชัย’

ภายหลังที่มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” หนึ่งในสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้เผยโฉมออกมาสู่สายตาของสาธารณะไม่นาน กระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก็ทยอยออกมาไม่ว่าจะเป็นความเห็นจากอดีตสมาชิกสภาปฏิรูแห่งชาติ นักการเมือง พรรคการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคประชาสังคม ทั้งนี้ เราได้ทำการรวบรวมความเห็นส่วนหนึ่งไว้เพื่อสะท้อนมุมมองของแต่ละฝ่ายว่ามีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร
พรรคการเมือง 
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ว่าเมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน และได้เผยแพร่ต่อประชาชนให้ได้รับทราบ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล และไม่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ประชาชนตกผลึกแล้วประชาชนถูกรอนสิทธิ อำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกลิดรอนและถูกควบคุมกำกับโดยองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสินชะตาอนาคตของประเทศ จะมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ  ไม่อาจพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง คิดนโยบายระยะยาวไม่ได้ ไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนได้
พรรคประชาธิปัตย์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามจะหาทางป้องกันการทุจริตอย่างเต็มที่ อย่างการให้องค์กรอิสระมีส่วนช่วยกันทักท้วงเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล แต่ส่วนที่ต้องแก้ไข เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งบัตรใบเดียว อาจจะก่อให้เกิดปัญหา เช่น จะทำให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้น และประชาชนไม่สามารถแสดงเจตจำนงที่แท้จริงของตนในการไปเลือกตั้งได้
พรรคคนไทย อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีส่วนใดเลยที่สะท้อนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข เพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระ มาครอบงำผู้แทนที่มาจากประชาชน ทั้งในเรื่องการบริหารงาน การใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนเรื่องการตรากฎหมายต่างๆ ในทางตรงกันข้ามกลับไม่มีส่วนใดที่มุ่งแก้ไขระบบราชการให้ดีขึ้นเลย สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก ต้องเปิดช่องให้สามารถแก้ไขได้โดยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตามหลักสากลแล้ว รัฐธรรมนูญต้องร่างจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น
อดีตกลุ่มสปช., กปปส. และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้บางองค์กรมีอิสระสุดๆ ควบคุมไม่ได้ เป็นเรื่องน่ากลัว โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่พบเรื่องการถ่วงดุลอำนาจองค์กรอิสระในร่างรัฐธรรมนูญ
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า มีจุดดี การป้องกันการทุจริต ตัดสิทธิพวกเคยโกงลงเลือกตั้ง ให้สามองค์กรอย่าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ท้วงติงการใช้งบประมาณของรัฐบาลได้ ส่วนจุดอ่อนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยาก ส่วนการเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก ผลที่ได้จะยิ่งรุนแรงเป็นการเอาระบบล้าหลังกลับมา
รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ กรธ. ไม่ได้บัญญัติอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนมีสิทธิอะไรบ้าง และรัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างไร อีกทั้ง รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้บริโภค นอกจากนี้ ตัดการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของภาคประชาสังคมออกไป ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบอำนาจรัฐและการทุจริตของฝ่ายบริหารโดยองค์กรอิสระภาครัฐเป็นเพียงตรายาง
บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดบทบาทรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี การตั้งรัฐบาลก็ถูกควบคุม บ่อนเซาะตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบให้กาบัตรใบเดียว เมื่อเป็นรัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะเจอกับดักเต็มไปหมด จะแก้รัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ องค์กรที่เป็นใหญ่กลับกลายเป็นองค์กรอิสระทั้งหลาย
สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีจุดอ่อนอยู่หลายจุดหลายประเด็น อาทิ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือใบเลือกตั้งใบเดียว เป็นระบบที่มีจุดบอดและบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรืออย่างสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อ่อนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 อยู่มากทีเดียว ทั้งสิทธิผู้ด้อยโอกาส คนพิการ แรงงาน ผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมของประชาชนหดหายไปเยอะ
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้นั้นต้องลาออกภายใน 90 วัน แต่คุณสมบัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับไม่จำกัดเงื่อนเวลาใดไว้เลย ดังนั้น คสช. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในปัจจุบันจึงเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนี้การกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 คน เป็นการสร้างความวุ่นวาย การออกแบบใหม่ให้ ส.ว. มาจากการลากตั้งที่ยุ่งเหยิง รวมทั้งวางเงื่อนไขให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากหรือแก้ไม่ได้เลย โดยกำหนดให้ทุกพรรคต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 10% จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ภาคประชาสังคม
ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) แถลงว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย โดยเฉพาะละเลยการบัญญัติหลักการขั้นพื้นฐานที่ควรกำหนดในรัฐธรรมนูญ ลดทอนสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสิทธิในการตรวจสอบโครงการของรัฐ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไม่ถูกกำหนดไว้ การกระจายอำนาจถูกตัดทอนลง
การได้มาซึ่งองค์กรอิสระ ตัวแทนจากศาลยุติธรรมมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือก ซึ่งจะทำให้ขัดกับหลักการสำคัญในการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้สถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐในทางบริหาร นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถูกกำหนดหน้าที่ให้ต้องชี้แจงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรต่างๆ และต่างประเทศแทนรัฐบาล นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า กสม.เป็นเครื่องมือของรัฐ
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) แถลงว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคล ชุมชน ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนทุกเพศในทุกมิติทุกระดับ ต้องเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญควรต้องให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชน
เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แถลงว่าในหลายมาตราลดทอนสิทธิมนุษยชนและชุมชน ซึ่งอาจทำให้การป้องปรามเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมีชุมชนเป็นข้อต่อระหว่างบุคคลกับประเทศในการช่วยตรวจสอบดูแล ไม่เป็นผลตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังตัดคำว่า “สิทธิชุมชน ชมชุนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ออกจากการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement – NDM) ออกแถลงการณ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง บั่นทอนอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งและเพิ่มพูนอำนาจขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังยอมรับให้ คสช. มีอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลายาวนาน ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรที่ดีขึ้นเลย นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยบุคคลเพียงกลุ่มเดียวในสังคมเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากประชาชนแต่อย่างใด
นักวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาก อีกทั้งทำให้ระบบการเมืองไทยมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบระบบการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ความอ่อนแอของพรรคการเมืองนี้ย่อมจะส่งผลให้การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบอื่นๆ เกิดขึ้นได้ง่าย และยังให้อำนาจกับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง ส่วนสุดท้ายคือ วุฒิสภาที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มากและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 กังวลเรื่องบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะในบทเฉพาะกาลอนุญาตให้ คสช.คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่ในตำแหน่งต่อไปถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้แล้ว นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้แม่น้ำทั้งสี่สายสามารถเข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้ เพียงแต่ต้องลาออกก่อนที่จะลงสมัครหรือเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้พิจารณาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว พบว่าเนื้อหาสาระที่ว่าด้วยสิทธิชุมชนหายไปทั้งหมด ทั้งนี้ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การไม่กำหนดไม่เน้นย้ำเรื่องสิทธิของชุมชนโดยเฉพาะการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ไปกำหนดแค่ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำ
สิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยว่า จะสร้างปรากฏการณ์ที่ต้องจับตา อาทิ การเกิดสภาวะกฎหมายสูงสุดคู่ขนาน เพราะถึงรัฐธรรมนูญประกาศใช้และรอการออกกฎหมายลูก แต่ประเทศไทยจะมีทั้งรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ของ คสช. ควบคู่กันไป
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทเฉพาะกาลกำหนดให้คงอำนาจมาตรา 44 ที่ใช้บังคับก่อนรัฐธรรมนูญนี้ หรือจะใช้บังคับต่อไประหว่าง คสช.ยังมีอำนาจ ระหว่างการจัดเลือกตั้งไม่เป็นเรื่องดี เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ก่อนกลับสู่ประชาธิปไตยคณะยึดอำนาจยังคงอำนาจเต็มก่อนจะมี ครม.ชุดใหม่