‘มีชัย ฤชุพันธ์ุ’ ร่างรัฐธรรมนูญทดแทนบุญคุณแผ่นดิน

นับหนึ่งอีกครั้งสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 
วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม คสช.เพิ่งประกาศแต่งตั้ง ‘มีชัย ฤชุพันธ์ุ’ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมกับกรรมการอีก 20 คน โดยในการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม มีชัยเผยว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 เมษายน 2559   
สำหรับแวดวงการเมืองและกฎหมายเมื่อกล่าวถึง มีชัย ฤชุพันธ์ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อเขา เพราะเขาผ่านงานการเมืองระดับประธานรัฐสภาและรัฐมนตรี และเป็นมือร่างกฎหมายคนสำคัญของคณะกรรมการกฤษฎีกา และว่ากันว่าเขาคือ ‘เนติบริกรชั้นครู’ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมากลุ่มของพวกเขามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร โดยมีลูกทีมคนสำคัญอย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งล้มเหลวไม่เป็นท่ากับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด
ร่างรัฐธรรมนูญแบบ 'มีชัย' มากับแนวคิด 'นายกคนนอก'-'ส.ว.แต่งตั้ง' 
ผลงานการร่างรัฐธรรมนูญที่โดดเด่นของ มีชัย เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหลังการรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังการยึดอำนาจ รสช.ได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน คณะกรรมาธิการชุดนี้ใช้เวลา 6 เดือนเต็มในการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534  
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 มีอย่างน้อยสองประเด็นสำคัญ คือ การเปิดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ประเด็นเหล่านี้ถูกสื่อมวลชนอิสระทั้งหลายวิพากษ์วิจารณ์ว่ากติกาที่ร่างขึ้นมาเท่ากับเป็นการปูทางให้ รสช.สืบทอดอำนาจ
ผลคือหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำการรัฐประหารลาออกจากผู้บัญชาการกองทัพบก มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดการประท้วงจากประชาชน และการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชนจนเกิด ‘เหตุการณ์พฤษภาเลือด’ ในปี 2535 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนในที่สุด พล.อ.สุจินดา ต้องลาออก และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ คือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
มีชัย กลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อเกิด การรัฐประหารในปี 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เขาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ คปค. มีบทบาทสำคัญในการร่างแถลงการณ์ประกาศและคำสั่ง คปค. หลายฉบับ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 ร่วมกับวิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมทั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคนั้น
และล่าสุด การรัฐประหารในปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีชัย กลับมาอีกครั้งโดยเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งสมาชิก คสช. ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายทหาร โดยตลอดระยะเวลาของการบริหารประเทศโดย คสช. บทบาทของมีชัยเป็นในลักษณะผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ด้วยสถานการณ์ล่าสุดที่เนติบริกรรุ่นน้องอย่าง วิษณุ ต้องติดพันกับภารกิจในคณะรัฐมนตรี ขณะที่ บวรศักดิ์ ก็ล้มเหลวจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ด้วยตัวเลือกของ คสช.จึงเหลือเพียง มีชัย ฤชุพันธ์ เท่านั้นที่สามารถเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความเหนื่อยหน่ายของสังคมได้
ซึ่งหลังตกปากรับคำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าจะเข้ามารับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญ มีชัยกล่าวถึงเหตุผลของการเข้ามารับหน้าที่นี้ว่า
“…ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ผมจึงไม่อาจจะเห็นแก่ความสุขความสบายที่ชักจะเริ่มเคยตัว และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ มิฉะนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน…” 
หลังจากนี้ มีชัยและคณะมีเวลาประมาณหกเดือนในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในไม่ช้าไม่นานกำหนดเวลานี้ก็จะมาถึง 
บั้นปลายชีวิตของนักกฎหมายผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการการเมืองมาอย่างยาวนาน จะตอบแทนทดแทนบุญคุณแผ่นดินสำเร็จหรือไม่?   
ความคิดเสรีของ มีชัย
‘ความคิดเสรีของ มีชัย’ เป็นชื่อของคอลัมน์หนึ่งของเว็บไซต์ meechaithailand.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ส่วนตัวของ มีชัย ฤชุพันธ์ ที่มีทั้งบทความและการตอบปัญหากฎหมายและคำถามอื่นๆ กับผู้มาเยี่ยมเยือนเว็บไซต์ คำถามและคำตอบจำนวนหนึ่งของมีชัยน่าสนใจและสะท้อนแนวคิดของเขาต่อปัญหาการบ้านการเมืองไทยในปัจจุบัน เช่น
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 มีผู้ถามว่า “ทำไมประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร คือทุกอย่าง ทั้งที่การเลือกตั้งคือสิทธิของปวงชนภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง”     
มีชัย ตอบ นั่นสิ … การเลือกตั้งเป็นเพียงองค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่ไม่ถูกกาละและเทศะ หรือเต็มไปด้วยการทุจริต บางทีก็ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือทำลายประชาธิปไตยได้”   
วันที่ 13 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีผู้ถามว่า “เห็นข่าวความพยายามในการผลักดันให้มีการตั้งนายกฯ ที่มาจากมาตรา 7 ในขณะนี้ไม่ทราบว่า ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญจริงๆ แล้วสามารถทำได้หรือไม่ และถ้าทำได้จะต้องใช้วิธีการใดบ้าง เช่น ระงับการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และในวิกฤตการเมืองขณะนี้การมีนายกฯ คนกลางมีความเหมาะสมหรือไม่”
มีชัย ตอบ “… มาตรา ๗ ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้ตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่เป็นบทบัญญัติที่จะต้องใช้เมื่อไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องอะไร ยกตัวอย่างเช่น เลขานุการ ศอ.รส เกิดทำระเบิดหลุดมือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนรัฐมนตรีตายกันหมด การจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเมื่อเกิดเหตุเช่นนั้น ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติ ก็ต้องไปพึ่งพาบริการของมาตรา ๗ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 
วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีผู้ถามว่า “ตั้งนายกจากบุคคลที่ไม่ใช่ ส.ส.ได้ไหม จากตัวบทรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172, 171 วรรคสาม, 173, 132(2), 180, 89 วรรคสอง, 125 สามารถอนุโลมนำมาใช้เทียบเคียงตั้งนายกจากบุคคลที่ไม่เป็น ส.ส.ได้หรือไม่เพียงไรแค่ไหนอย่างไร ทำได้ไม่ได้อย่างไร”          
มีชัย ตอบ “ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความจำเป็นต้องตั้งนายกรัฐมนตรีในขณะนี้หรือไม่ ถ้ามีความจำเป็น และเมื่อไม่มีคนที่เป็น ส.ส. ก็ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗ ของ รธน.มาอนุโลม เพราะในอดีต นายกนั้นมีทั้งที่มาจาก ส.ส. และไม่ใช่ ส.ส. บางขณะห้าม ส.ส.เป็นเสียด้วยซ้ำไป” 
 
ภาพจาก: เว็บไซต์ meechaithailand.com
จากคำถามสามข้อข้างต้นไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอนายกฯ มาตรา 7 (นายกฯ พระราชทาน/คนกลาง/คนนอก) หรือการกล่าวว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย คล้ายกับ วิธีคิดและวาทกรรมของกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งที่พาประเทศไทยมาสู่วิกฤตทางการเมืองและรัฐธรรมนูญในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จนนำมาสู่การพยายามแก้ปัญหาโดยการรัฐประหารทั้งสองครั้งในปี 2549 และ 2557 
มองไปที่คำตอบของมีชัย คงไม่น่าแปลกใจ หากในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เราจะเห็นการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ หรือการเขียนมาตรา 7 เปิดช่องให้มีนายกฯ คนกลางได้ และรวมไปถึงการลดความสำคัญของการเลือกตั้งด้วย ความเป็นไปได้ข้างต้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ และคงไม่เกินความคาดหมายหากจะเกิดขึ้นซ้ำในร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย
กรอบการร่างรัฐธรรมนูญ
หากมองมาที่กรอบการร่างรัฐธรรมนูญ หลัง คสช. มีมติเลือกมีชัย เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีชัยกล่าวถึงปัญหาว่าน่าจะมีคนสงสัยว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ “ผมก็คงไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วก็คงต้องร่างไปตามที่มีผู้สั่ง” เรื่องนี้มีชัยกล่าวว่า “ในการร่างรัฐธรรมนูญมันไม่มีใครร่างตามใจปรารถนาของตัวเองได้ … เพราะไม่ได้ร่างเก็บไว้ใช้ในบ้าน แต่เป็นการร่างเพื่อนำไปใช้กับคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องมีกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ” 
กรอบหนึ่ง “มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บังคับอยู่ว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องร่างให้เป็นไปตามนั้น ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้”
กรอบสอง “คสช.ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และภารกิจที่สำคัญ คือต้องทำให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาของบ้านเมือง ตนก็ต้องถามไถ่ว่า แล้ว คสช.มีกรอบหรือมีความคิดอย่างไร ซึ่งเมื่อคุยกันแล้วสรุปได้ 5 ประการ”
กรอบความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญ 5 ประการ
ประการที่ 1 ให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล แต่ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศและคนไทยที่มีอยู่หรือเป็นอยู่
ประการที่ 2 ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้
ประการที่ 3 ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง และเกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้
ประการที่ 4 มีแนวทางการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผล
ประการที่ 5 ให้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม
ควรเน้นอีกครั้งว่ากรอบข้างต้นถูกกำหนดโดย คสช. ซึ่งไม่ต่างจากความคิดและความต้องการของมีชัยมากนัก และในฐานะสมาชิกคสช. ตัวมีชัยเองก็น่าจะมีส่วนสำคัญในการออกแบบกรอบเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ผลของการดำเนินการตามกรอบเหล่านี้เคยปรากฏเป็นรูปธรรมมาแล้ว ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับของบวรศักดิ์ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า 
น่าสนใจว่ากรอบการร่างรัฐธรรมนูญอันเดิม แต่เมื่อมาอยู่ในมือของมีชัย เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?