รื้อบอร์ดเศรษฐกิจ 5 องค์กรหลัก เอาคนของ คสช. เสียบแทน ไม่กำหนดวาระแน่นอน

ในช่วงสามเดือนแรกของการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยไม่มีรัฐบาล รัฐสภา การออกกฎหมายต่างๆ ออกภายใต้คำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหาร ช่วงต้นของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คสช.ออกประกาศ และคำสั่ง 5 ฉบับ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการจำนวน 5 ชุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุน และพลังงาน โดยก่อนการรัฐประหาร คณะกรรมการเหล่านี้มีกฎหมายจัดตั้งอยู่ก่อนแล้ว

ต่อมาเมื่อมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว จึงให้ สนช.ตรา “พ.ร.บ.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ พ.ศ.2558” โดยเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจาก คสช.ยังมิได้ยกเลิก คณะกรรมการชุดเดิมตามกฎหมายปกติ  “…เป็นเหตุให้คณะกรรมการสองชุดมีอำนาจหน้าที่ทำนองเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดความสับสนขึ้นได้…”
 

โดยคณะกรรมการจำนวน 5 ชุด ประกอบด้วย

1) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI

2) คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ)

3) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

4) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน

และ 5) คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

 

เปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ เอาคนของ คสช. มานั่งแทน

เดิมทีคณะกรรมการทั้ง 5 ชุดที่ คสช.แต่งตั้งใหม่ มีกฎหมายกำหนดให้มีการจัดตั้งอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

 
– “คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน” หรือ BOI มี “พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

– “คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ)” มี “พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543

– “คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ” มี “พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535

– “คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน” มี “คําสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน

– “คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” มี “พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

 
การแต่งตั้งใหม่ของ คสช.ไม่ได้ยึดตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่มีอยู่ก่อน โดยในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งใหม่จะมีคนใน คสช.เข้าไปเป็นประธานในทุกคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) , คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน ในส่วนของกรรมการส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย ข้าราชการระดับสูงระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากภาคธุรกิจ เช่น ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย

 
สำหรับคณะกรรมการชุดเดิมที่รับรองโดยกฎหมายก่อนการรัฐประหารนั้น ให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้คณะกรรมการตามกฎหมายที่ดํารงตําแหน่งอยู่ก่อนวันที่ประกาศ คสช. หรือคําสั่ง คสช. พ้นจากหน้าที่

 
คณะกรรมการชุดใหม่อยู่ยาวเท่า คสช.

 กฎหมายปกติของคณะกรรมการต่างๆ กำหนดให้มีประเภทกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง, ข้าราชการกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะถูกแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีตามคุณสมบัติที่กำหนด โดยในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

 
สำหรับ พ.ร.บ.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ มาตรา 7 กำหนดให้คณะกรรมการทั้ง 5 ชุด ตามประกาศและคำสั่ง คสช. จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ คสช.สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ตามกฎหมายเดิมครบทุกคณะ “พ.ร.บ.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ พ.ศ.2558” เป็นอันยกเลิก