สมาคมเพศวิถีฯ ชำแหละกฎหมาย 3 ฉบับ ชี้รัฐเลือกปฏิบัติทางเพศ ไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน

 

 

วันที่ 5 กันยายน 2558 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมเพศวิถีศึกษาจัดแถลงข่าวงานประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 5 “รัฐ/ประหาร/เพศ” โดยกฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงที่มาของชื่องานว่า เพราะรัฐสามารถเอาอุดมการณ์ความเชื่อที่รัฐมีอยู่มาแปลงเพื่่อจะกดและควบคุมเรื่องเพศของคน จากการศึกษาเชิงวิชาการพบว่า sexual citizenship หรือความเป็นเพศในฐานะพลเมือง มีความชัดเจนมากว่า ผู้หญิงจะมีสิทธิน้อยกว่าผู้ชายในหลายๆ ด้าน และขณะนี้กฎหมายไทยมี 5 มาตราในประมวลกฎหมายอาญาคือ มาตรา 301-305 ที่ใช้กับผู้หญิงแต่ไม่ใช้กับผู้ชาย คือการเอาผิดผู้หญิงที่ท้องแล้วต้องการทำแท้งในเงื่อนไขที่กฎหมายไม่อนุญาต แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ ต่อให้เป็นเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาต เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากก็ยังไม่ทำแท้งให้ผู้หญิง

ประเด็นที่สองคือ การละเลยหรือ มองไม่เห็น sexual minority หรือเพศวิถีทางเลือก ในที่นี้คือคนที่รักเพศเดียวกัน หรืออาจไม่ได้รักเพศเดียวกันแต่เป็นคนที่เลือกที่จะข้ามเพศ หรือเลือกที่จะเป็นเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งรัฐไม่มีช่องทางให้คนกลุ่มนี้ รัฐกดไว้เต็มที่

ในสมัยที่รัฐต้องการเพิ่มพลเมือง รัฐก็ทำกับร่างกายผู้หญิงโดยการประกวดแม่ลูกดก แต่เมื่อต้องการลดการเกิด รัฐก็ทำกับร่างกายผู้หญิงเช่นกัน ด้วยการให้ผู้หญิงคุมกำเนิด กว่าความคิดเรื่องสิทธิ ความเต็มใจ เสรีภาพของผู้หญิงจะเข้ามาก็ช้ามากเพราะรัฐได้ทำเรื่องพวกนี้มาก่อนแล้ว ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความเป็นเพศเกี่ยวกับรัฐและความเป็นชาติ

ดังนั้นเราจึงเลือกชำแหละกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญ, พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558  และร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่แปลงมาจากร่าง พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์  เพราะอุดมการณ์ความเชื่่อของรัฐที่ชัดเจนที่สุด และเมื่อกฎหมายผ่านจนมีการประกาศใช้แล้ว การแก้ไขต่างๆ ก็จะยาก ยกเว้นในช่วงรัฐประหารที่มีการออกกฎหมายมาหลายร้อยฉบับในเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
 

กฎหมายอุ้มบุญให้สิทธิเจ้าของยีน แต่ละเมิดสิทธิแม่อุ้มบุญ-คู่รักเพศเดียวกัน

สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กฎหมายอุ้มบุญบังคับใช้เมื่อ 30 กรกฎาคม 2558 เจตนารมณ์ข้อแรกคือ เพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์และการปฏิบัติทางเวชกรรมไม่ให้ใช้ในทางที่ผิดโดยผู้ให้บริการการอุ้มบุญ สองคือให้สิทธิกับพ่อแม่ผู้เป็นเจ้าของยีน หรือเจ้าของอสุจิ หรือไข่ที่มีความตั้งใจที่จะมีลูก ได้เป็นผู้ปกครองหรือเป็นพ่อแม่เด็กโดยกฎหมายอนุญาตทันที ไม่ต้องทำการโอนบุตรหรือทำเรื่องรับบุตรบุญธรรมทีหลัง ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมให้สิทธิผู้หญิงที่คลอดลูกเป็นแม่เท่านั้น ทำให้แม่ต้องทำการโอนหรือมอบลูกให้เจ้าของยีนทีหลัง
 
เจตนารมณ์ของกฎหมายถือว่าดี แต่ก็ยังมีการละเมิคสิทธิหรือไม่คุ้มครองสิทธิคนที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ เพราะคู่เกย์ หรือหญิงรักหญิง หรือคนโสดที่ต้องการจะมีลูกให้ไม่สามารถใช้บริการอุ้มบุญได้ ซึ่งมันสะท้อนอคติที่อยู่เบื้องหลังของการออกกฎหมาย และสะท้อนทัศนะของสังคมไทยต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ดี เป็นพ่อแม่ไม่ได้ และจะสร้างปัญหาให้ลูก
 
นอกจากนี้ การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องผิดกฎหมายนั้น แสดงว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาสถานการณ์การอุ้มบุญในประเทศที่สะท้อนปัญหาที่ลึกกว่านั้น คือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะเท่าที่ตนสัมภาษณ์แม่อุ้มบุญ พบว่าส่วนใหญ่ทำเพราะว่าเป็นหนี้และยากจน
 
พ.ร.บ.ฉบับนี้พูดถึงแต่ความกังวลด้านศีลธรรมที่เกิดจากการอุ้มบุญที่หวังผลการค้า และศีลธรรมในแง่ของสิทธิเด็ก สิทธิของพ่อแม่ทางยีน แต่ไม่ได้คำถึงถึงสิทธิของแม่อุ้มบุญในการที่จะตัดสินใจเลือกได้เองว่า ตนเองจะให้เด็กรับรู้หรือไม่ว่าใครเป็นคนอุ้มท้อง นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความไม่ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ถ้าเอาเรื่อง รัฐ/ประหาร/เพศ เข้ามาจับ กฎหมายฉบับนี้ประหารผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งกดทับและกดขี่ผู้หญิง
 
“ประเด็นในกฎหมายที่ให้สิทธิเจ้าของยีนได้สิทธิเป็นผู้ปกครองหรือพ่อแม่เด็กทันที ทำให้เกิดประเด็นว่า แล้วแม่ที่อุ้มบุญล่ะ ถึงแม้เขาจะอุ้มบุญโดยรับค่าตอบแทนซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเขาที่ควรจะได้รับ เพราะเขาต้องเสียโอกาส เสียเวลาอุ้มท้องถึง 9 เดือน แต่เท่าที่ได้สัมภาษณ์มา คนที่อุ้มบุญเขาก็ไม่ได้หวังแต่เงินเพียงอย่างเดียว เขาหวังให้พ่อแม่หรือคู่ชีวิตที่ไม่มีลูกได้มีลูกสมใจ
 
“ซึ่งการที่กฎหมายตัดความสัมพันธ์แม่อุ้มบุญก็ค่อนข้างจะโหดร้ายไปหน่อย คนที่อุ้มท้องมา 9 เดือน ย่อมมีความผูกพัน ดังนั้นกฎหมายควรเปิดช่องไว้ ไม่ใช่ตัดความสัมพันธ์ของแม่อุ้มบุญออกไป อีกเรื่องหนึ่งคือเด็กเองควรมีสิทธิรับรู้ว่าใครอุ้มท้องเขามา ไม่ใช่กฎหมายหรือรัฐเป็นคนบอกว่าเขาไม่ควรรับรู้” สุชาดากล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีโอกาสเลือกด้วยตัวเองว่าจะใช้มดลูกของตัวเองตั้งครรภ์ให้ใคร เมื่อไหร่ เพราะกฎหมายบอกว่าหญิงที่รับอุ้มบุญ จะต้องเป็นญาติของคู่ที่ต้องการมีลูก และจะต้องเป็นผู้หญิงที่แต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย และสามีจะต้องอนุญาตให้อุ้มบุญได้ ซึ่งจริงๆ มดลูกเป็นสิทธิของผู้หญิง แต่ผู้ที่จะอนุญาตให้ใช้มดลูกได้กลับกลายเป็นสามีหรือผู้ชาย นี่สะท้อนอคติการเลือกปฏิบัติ และการมองไม่เห็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศในกฎหมายฉบับนี้
 
สุชาดากล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเห็นข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ให้แพทย์หรือผู้ให้บริการซึ่งอาจเป็นนายหน้ามาค้ากำไรเกินควร หรือเอาธุรกิจนี้มาแสวงหาผลประโยชน์ ขณะเดียวกันตนก็ไม่เห็นด้วยกับการทำให้บริษัทเอเจนซี่ที่เอาเปรียบเป็นอาชญากรรม รัฐควรแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายเชิงบวก โดยกำหนดให้มีการควบคุม ตรวจสอบบริษัทเอเจนซี่ให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิผู้หญิงที่รับอุ้มบุญ ไม่ขูดรีดพ่อแม่ที่ตั้งใจจะมีลูก มีการตรวจสอบประวัติผู้ที่เข้าใช้บริการ นอกจากนี้โทษของคนกลางที่เป็นผู้ติดต่อประสานงาน อำนวยความสะดวกต่างๆ กลับน้อยกว่าโทษของหญิงอุ้มบุญ

 


 

กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ นิยามไม่ครอบคลุมคนข้ามเพศ
 
ด้านรณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่บังคับใช้เมื่อ 9 กันยายน 2558 หลายคนอาจรู้สึกว่าใหม่ รู้สึกเมืองไทยทันสมัยที่สุดในอาเซียนและเป็นแนวหน้าในเอเชีย แต่กว่ากฎหมายนี้จะผลักออกมาได้ก็ใช้เวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่ตอนที่ไทยทำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528
 
หลักการของ พ.ร.บ.นี้คือ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ในมาตรา 3 ได้ให้นิยาม "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือกำจัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยปราศจากความเป็นธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือมีการแสดงออกที่ต่างจากเพศโดยกำเนิด"
 
นิยามนี้มีปัญหาว่าจะหมายรวมถึงคนข้ามเพศหรือไม่ ครอบคลุมเรื่องเพศวิถีหรือไม่ เพราะเพศวิถีเป็นเรื่องชีวิตทางเพศ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกให้ใครรู้

แต่หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการให้สิทธิคนที่ได้รับปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศมาร้องเรียนกับคณะกรรมการ ถือว่าอย่างน้อยรัฐก็ได้เปิดช่องให้พลเมืองของรัฐลุกขึ้นมาส่งเสียง ประท้วง เพื่อสร้างบรรทัดฐานหรือวิถีปฏิบัติกับบุคคลที่ต่างไปจากเดิม จากเดิมที่ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การใช้บริการทางการแพทย์ของรัฐ ก็สามารถร้องเรียนได้
 
ถูกเลือกปฏิบัติร้องเรียนได้ พร้อมมีมาตรการบรรเทาทุกข์

นอกจากนี้ พ.ร.บ.นี้ ยังมีมาตรการบรรเทาทุกข์ด้วย เช่น ไปสมัครงานโดยมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ไม่ได้รับเลือกเพราะเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งหากจะร้องเรียนก็ต้องใช้เวลานาน พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงมีกองทุนช่วยสนับสนุนในการฟ้องร้อง จ่ายค่าชดเชย ค่าเสียเวลา และมีบทลงโทษ เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยตัดสินว่าบริษัทมีความผิด และไม่ปฏิบัติหรือชดเชยตามที่กรรมการสั่งจึงจะมีการลงโทษเป็นจำคุกหรือปรับ
 
จุดที่ตนมองว่าต้องจับตา คือ พ.ร.บ.นี้ให้ตั้งคณะกรรมการสองชุด ชุดแรกคือคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศที่จะทำงานเชิงรุกในการพิจารณานโยบาย และเสนอแนะรัฐบาลว่าควรแก้ไขอย่างไร อีกชุดหนึ่งคือคณะกรรมการ วินิจฉัยความเท่าเทียมระหว่างเพศ จะทำงานเชิงตอบสนอง ทำหน้าที่ตั้งรับเรื่องร้องเรียนที่จะเข้ามา ตนมองว่าเป็นจุดอ่อนที่ทำงานเชิงรับอย่างเดียว เพราะหลายคนอาจไม่รู้ว่ากำลังถูกเลือกปฏิบัติอยู่ เนื่องจากสังคมไทยมีความแนบเนียนมากในการทำให้คนไม่รู้ว่ากำลังถูกเลือกปฏิบัติ หรือบางคนยอมถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ที่เคยร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีกติกาการชมฟุตบอล หากพบว่ามีการทะเลาะกันเกิดขึ้นจะเอากะเทยไปตบแล้วจูบ ทำให้คนหวาดกลัวแล้วไปร้องเรียน  ซึ่งตามพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศจะไม่สามารถร้องเรียนได้ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สิทธิบุคคลที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่น้องที่เป็นกะเทยอาจไม่รู้สึกว่าถูกกระทำ เพราะอาจจะได้รับค่าจ้าง ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของ พ.ร.บ.นี้ที่มองไม่เห็นการเลือกปฏิบัติที่มันแนบเนียน
 
เลือกปฏิบัติได้ถ้าเป็นเหตุทางศาสนา-ความมั่นคง เปิดช่องตีความครอบจักรวาล หวั่นกฎหมายไร้ประโยชน์
 
ส่วนประเด็นมาตรา 17 วรรคสอง ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศมีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นเหตุทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ซึ่งตนในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้พยายามขอตัดออกทั้งหมด แต่ก็ยากมาก เราตัดให้เหลือเพียงศาสนาอย่างเดียว แต่ สนช. ก็ลักไก่ในวินาทีสุดท้ายโหวตให้เอาประเด็นความมั่นคงเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบจักรวาลมาก เหมือนเปิดช่องใหญ่ให้คนอ้าง ทำให้ พ.ร.บ.ชุดนี้น่ากังวลและต้องจับตา
 
ด้านกฤตยา กล่าวเสริมว่า เรื่องศาสนาและความมั่นคงเป็นเรื่องครอบจักรวาล ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุณีไทยยังไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นนักบวช เพราะฉะนั้นถ้าท่านเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชนยังเป็นนางหรือนางสาว เวลาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติว่าเป็นนักบวช ตนเข้าใจว่าภิกษุณีสามารถมาร้องเรียนได้ แต่ถ้าใช้หลักการทางศานาแบบเถรวาทตามความเชื่่อกระแสหลักของสังคมไทย เรื่องนี้ก็จะตกไปทันที จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.นี้ไม่มีประโยชน์เลยถ้ายังมีมาตรา 17 วรรคสองอยู่
 
รณภูมิ กล่าวต่อว่า อีกมาตราหนึ่งที่ต้องจับตาคือมาตรา 36  ซึ่งเป็นมาตราสุดท้าย กำหนดว่า ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดีเห็นว่าคดีใดไม่ต้องขึ้นสู่ศาลก็สามารถเปรียบเทียบปรับได้ คดีก็จะจบ แต่อย่าลืมว่าคนที่เลือกปฏิบัติมักจะเป็นผู้มีอำนาจกระทำกับผู้ด้อยอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจก็ชอบที่จะเปรียบเทียบมากกว่าขึ้นศาล เพราะเขาไม่ได้เสียหายเท่าไหร่ มาตรานี้จึงปรามไม่ได้ผล บางครั้งก็จำเป็นต้องขึ้นศาลเพื่่อลงโทษและเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง

 

ภาคประชาชนค้าน ร่างกฎหมายการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หวั่นละเมิดสิทธิเด็ก

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เสนอโดยนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการด้านสาธารณสุขของ สนช. ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่าในแต่ละปีมีหญิงที่คลอดลูกประมาณ 8 แสนคน เป็นวัยรุ่นประมาณ 1.3 แสนคน โดยในปี 2557 ผู้คลอดลูกที่มีอายุ 10-19 ปี มีเพียง 316 คน การมีกฎหมายนี้จึงเหมือนเป็นการตื่นตระหนกเกินไป
 
และเมื่อดูในส่วนของหลักการและเหตุผลของการร่างพระราชบัญญัตินี้ มีการกล่าวถึงปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งไม่รู้ว่าวัยอันควรคือแค่ไหน  อย่างไรก็ดีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดนิยามของวัยรุ่นว่า หมายถึง เด็กหรือเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าวัยรุ่นคือผู้ที่มีอายุ 10-19 ปี ซึ่งการนิยามแบบนี้ก็จะทำให้ตกมาตรฐานของ WHO
 
สำหรับนิยามของคำว่า “สิทธิทางเพศ” กฎหมายระบุว่าหมายถึง "ความเป็นอิสระในการเลือกวิถีชีวิตทางเพศ การมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยความสมัครใจและปลอดภัย เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน  และรับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศโดยปราศจากความรุนแรงและไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน" จะเห็นว่าเฉพาะสองประโยคท้าย หลายคนคงเคยฝ่าฝืนกฎหมายและศีลธรรมอันดีตามนิยามดังกล่าว
 
สุเพ็ญศรี กล่าวต่อว่า สำหรับคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  ประธานกรรมการมาจากนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนกรรมการ 10 คน เป็นรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ซึ่งน่าจะเป็นผู้ชายทั้งหมด และที่น่าสงสัยคือมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาเป็นกรรมการด้วย
 
ขณะที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน กำหนดว่าต้องเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิ ด้านการศึกษา ด้านจิตวิทยาและด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านละสองคน โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ควรมีการกำหนดสัดส่วนของเพศชายและหญิงในคณะกรรมการด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐเข้าแทรกแซงในสถานการณ์ต้องสงสัยได้ทันที

สำหรับหมวดสอง เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีส่วนที่น่าสนใจคือมาตรา 18-20 โดยมาตรา 18 ระบุว่า ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและสุขภาวะทางเพศแก่วัยรุ่นได้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปแทรกแซงในการป้องกัน แก้ไขได้ อีกเรื่องหนี่งคือในมาตรา 21 กรณีที่วัยรุ่นตั้งครรภ์แล้ว ให้ผู้ปกครองขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ถามวัยรุ่นที่มีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม ว่าจะตัดสินแก้ไขอย่างไร
 
หมวดสี่เป็นเรื่องอำนาจเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็ก เครือข่ายภาคประชาสังคมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เคยยกเรื่องการเข้าไปค้น ซักถามของเจ้าหน้าที่ เมื่อเห็นวัยรุ่นมีเหตุอันควรสงสัย อย่างเช่นวัยรุ่นอาจไปข้างๆ ต้นขนุนโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่มีเกสเฮ้าชั่วคราว ถ้าเจ้าหน้าที่สงสัย ก็สามารถเข้าไปสอบถามหรือเรียกเข้ามาพูดคุยได้ ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเห็นว่ามาตรา 23-24  เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้การรับรอง และขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ข้อ 16 ที่มีบทบัญญัติรับรองว่า เด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการถูกแทรกแซงโดยพลการ หรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว บ้าน หรือหนังสือโต้ตอบ รวมทั้งจะไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง
 
สุเพ็ญศรีกล่าวว่า มาตรา 23 และ 24 ดูเหมือนดีที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่ลักษณะการดำเนินการอาจขัดต่อหมวดสี่ เรื่อง การคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อาจสรุปได้ว่าหมวดสี่ทั้งหมวดในความเห็นขององค์กรด้านเด็ก องค์กรสตรี น่าจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเด็ก
 
เปิดโอกาสวัยรุ่นท้องให้เรียนจนจบ

สุเพ็ญศรีกล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังมีข้อดี เช่น มาตรา 22 เขียนว่า สถานศึกษาต้องจัดให้นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์หรือประสบปัญหาสุขภาวะทางเพศได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมจนสำเร็จการศึกษา

ในส่วนของบทลงโทษ เท่าที่ดูเล็กน้อยมาก เช่น ผู้ใดไม่ให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน  10,000 บาท ที่สำคัญพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้มีสถานะเทียบเท่ากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจารย์ไม่ให้เด็กไปเข้าคลาสวิถีศึกษาทางเพศ อาจารย์คนนั้นก็จะถูกเชิญไปพบ เป็นต้น
 
สำหรับร่างกฎหมายการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยกับร่างของ สนช.แต่ถ้ามีการปรับแก้บทบาทอำนาจเจ้าหน้าที่ และเอาร่างของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นร่างคู่ขนานมาผสมให้ดีขึ้น รวมถึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่มีผู้แทนขององค์กรด้านเด็ก สตรี สังคม วิชาการเข้าไปนั่งกรรมาธิการแปรญัตติ ก็เห็นว่าควรมีกฎหมายนี้

ด้านกฤตยา กล่าวว่าจุดยืนของตนคือไม่ควรให้มีกฎหมายนี้เลย เพราะเมื่อปี 2513 ที่เรามีนโยบายการวางแผนครอบครัว เราต้องการให้คนมีลูกน้อยลง ไทยเป็นประเทศที่สามารถลดอัตราการเกิดได้ในหนึ่งเจเนอร์เรชั่น การแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงไม่จำเป็นต้องบังคับออกกฎหมายนี้ เพราะเราเคยทำวิธีอื่นสำเร็จมาแล้ว
 
คลิกชมคลิปแถลงข่าวงานประชุมวิชาการระดับชาติ เพศวิถีศึกษา ครั้งที่ 5

ไฟล์แนบ