ฟังเสียงปฏิรูป: เวียงรัฐ เนติโพธิ์ มองข้อเสนอสปช.เรื่องปฏิรูปท้องถิ่น “ประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มคลาน”

เนื่องจากความต้องการของประชาชนมีความหลากหลายตามสิ่งแวดล้อมและท้องถิ่น และรัฐส่วนกลางไม่อาจตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ในเวลาที่จำกัด แนวคิดการกระจายอำนาจ และถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงถูกขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้น เพื่อศึกษาและเสนอแนะให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ และการปกครองท้องถิ่นเป็นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปฏิรูป

ข้อเสนอของ สปช. เรื่องการปฏิรูปท้องถิ่นมีเนื้อหาสาระคือ การกระจายอำนาจและถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปฏิรูประบบกลไกการตรวจสอบในการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณท้องถิ่น และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด กลับพบข้อเสนอจำนวนหนึ่งที่ย้อนแย้งต่อหลักการกระจายอำนาจ เช่น การเพิ่มบทบาทการกำกับดูแลท้องถิ่น จึงชวนให้สงสัยว่า ข้อเสนอการปฏิรูปท้องถิ่นของ สปช.นั้น มีทิศทางอย่างไรกันแน่

ข้อเสนอต่างๆของ สปช. จะช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตได้หรือไม่ ข้อเสนอชุดนี้เปิดประเด็นใหม่ๆ ในสังคมได้อย่างไร มีสำเร็จแค่ไหน เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองท้องถิ่น จะลองชี้ให้เห็นภาพรวมของปัญหาและอุปสรรคของการกระจายอำนาจ และสาเหตุที่ปัญหาต่างๆ ไม่อาจแก้ได้ง่ายนัก

 

 

การกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหม่ ปัญหาต่างๆ พัฒนาได้ด้วยระบบเลือกตั้ง

เวียงรัฐกล่าวว่า หลักการกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 คนที่ศึกษาเรื่อง การเมือง เรื่องการกระจายอำนาจ โดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เขามองแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจว่า เป็น “ประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มคลาน” (Young Democracy) แต่ระบบของเราที่ผ่านมาเป็น Parliamentary Democracy คือ ประชาธิปไตยกระจุกตัวอยู่ที่รัฐสภา การกระจายอำนาจยังไม่มากนัก

แม้เราจะมีระบบกระจายอำนาจแบบเทศบาล แต่อย่าลืมว่า หน่วยงานประเภทเทศบาล สุขาภิบาล มีพื้นที่รับผิดชอบเล็กๆ แค่ส่วนกลางของจังหวัด ไม่ค่อยมีอำนาจหน้าที่อะไร เทศบาลครอบคลุมพื้นที่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำของประเทศทั้งหมด

ในความเป็น Young Democracy นั้นอาจมีปัญหาว่าสังคมยังไม่มีเวลาพอทำความเข้าใจ ทำให้การเลือกตั้งไม่อาจสะท้อนความต้องการได้อย่างแท้จริง การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเวียงรัฐมองเรื่องนี้ว่า เราต้องเข้าใจว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหม่ เป็นการปฏิรูปโครงสร้างของการเป็นประชาธิปไตย และเมื่อเป็นเรื่องใหม่ ย่อมมีปัญหาและอุปสรรค  แต่ปัญหาพวกนี้แก้ได้ในวิถีทางประชาธิปไตย ตัวประชาธิปไตยโดยใช้การเลือกตั้งเป็นที่มาของอำนาจ จะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ความเป็น Young Democracy นั้น ถ้ายิ่งการเลือกตั้งผ่านไป คนก็ยิ่งรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับอำนาจทางประชาธิปไตยมากขึ้น คนก็ยิ่งพัฒนาขึ้น นักการเมืองก็ยิ่งพัฒนาขึ้น อันนี้เป็นเรื่องหลักเหตุผลธรรมดา แต่แน่นอนปัญหาที่ สปช. ยกขึ้นมาเยอะแยะทั้งหมดนั้น แก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนนิดๆหน่อยๆ ตรงนี้ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของการกระจายอำนาจ
 

"ปัญหาที่เขามองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่ แต่เราคิดว่าเรื่องเล็กก็คือ การไร้ความสามารถของผู้นำท้องถิ่น อันนี้เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าคุณให้เลือกตั้งไปเรื่อยๆ สักวันมันจะดีขึ้นมาเอง" เวียงรัฐกล่าว

ปัญหาหลักของการกระจายอำนาจ คือ รัฐที่เคยรวมศูนย์ไม่ยอมปล่อยอำนาจ

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มองว่า ปัญหาหลักของการจัดระบบกระจายอำนาจ คือ รัฐเคยรวมศูนย์อำนาจมาตลอด อำนาจอยู่ในมือระบบราชการ การจะเปลี่ยนแบบโครงสร้างแบบพลิกแผ่นดิน โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจทันที ยึดโยงกับประชาชน มาจากประชาชน จะเป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นย่อมมีแรงเสียดทาน มีแรงต้านการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนี่คือปัญหาหลัก หรือ core problem ของการกระจายอำนาจ

ปัญหาและอุปสรรคของการกระจายอำนาจ คือ การรวมศูนย์ การไม่ยอมปล่อยอำนาจ เพราะต้องเอาอำนาจที่ตัวเองเคยมีไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การปฏิรูปควรทำจากนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่เสนอจากส่วนกลาง

จากการที่สปช. เสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลดการทับซ้อนระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เวียงรัฐมองว่า เป็นไปได้ที่จะมีการปฏิรูปเพื่อลดความซ้ำซ้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานส่วนกลาง แต่การปฏิรูปทั้งหมดควรทำจากนักการเมืองที่มีประสบการณ์ เจอปัญหาในท้องถิ่น ไม่ใช่ทำข้อเสนอปฏิรูปจากส่วนกลาง ตัวอย่างเช่น พอเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทะเลาะกัน ทำอะไรไม่ได้ ก็ดึงกลับมาให้ส่วนกลางทำแทนหมด อย่างนี้จะลำบาก

อย่างเช่น ถ้าอบจ.ทำสนามกีฬาจังหวัด ศูนย์ประชุมจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องระดับจังหวัด ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างเช่น ศูนย์กู้ชีพ 1669 ที่มีเกือบทุกจังหวัด มีรถพยาบาลประจำตามจุดต่างๆ เพราะว่าถ้าทุกตำบลซื้อรถพยาบาล ไม่มีใครป่วยเลยทั้งปี ก็หมดไปหลายล้าน สู้เอาเงินของจังหวัดมาซื้อ แล้วประจำตามจุดต่างๆ อาจจะดีกว่า

เวียงรัฐ กล่าวว่า ภารกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการการพัฒนา การวางแผน การกำหนดทิศทางของจังหวัดที่สำคัญๆ ควรจะเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรจะให้งบประมาณไปเลย อย่างเช่น การแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งมวลชน

ปัจจุบันจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ไม่มีรถเมล์ที่คนจะใช้บริการได้ มีแต่รถท้องถิ่น เมืองใหญ่ๆ ตอนนี้ไม่มีรถเมล์เลย ถ้าให้ทุกคนต้องซื้อรถ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ก็จะเป็นปัญหาการจราจรอีก ลักษณะอย่างนี้ท้องถิ่นควรจะมีอำนาจจัดการ แล้วประชาชนจะได้เห็นว่า เอาภาษีไปใช้ได้คุ้มค่าแค่ไหน ประชาชนก็จะตรวจสอบท้องถิ่นของตัวเอง แน่นอนว่าการปฏิรูปก็ควรทำให้ระบบราชการทำงานได้มีประสิทธิภาพ แต่ควรต้องเปลี่ยนจากการมองว่าให้ระบบราชการมีอำนาจมากขึ้น สั่งการได้มากขึ้น มามองว่าควรถ่ายโอนภารกิจใดมาให้ท้องถิ่นมากกว่า

เวียงรัฐเปรียบเทียบว่า การปฏิรูปในหลายๆประเทศ ใช้วิธีลดอำนาจกระทรวงมหาดไทย แต่การพูดเรื่องนี้ในประเทศไทยเป็นเรื่องเสียหาย เป็นเรื่องพูดยาก ก็อาจต้องบอกว่า จะต้องลดการควบคุมจากส่วนกลางแล้วก็ให้มีความเป็นอิสระ แต่ว่าจะต้องมีกลไกการตรวจสอบที่ไม่ใช่มาจากส่วนกลาง ต้องเป็นการตรวจสอบจากประชาชน

เวียงรัฐกล่าวด้วยว่า โดยหลักการแล้วโครงสร้างการกระจายอำนาจ จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มาเป็น พรบ.การกระจายอำนาจ ปี2542 เป็นหลักการแก้ปัญหาการปกครองไทยที่ดี เป็นการแก้ปัญหาการเมืองไทยที่ตรงจุดที่สุดแล้วตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา

ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว การสร้างระบบการมีส่วนร่วมต้องค่อยๆ ให้ประชาชนเรียนรู้

จากข้อเสนอของสปช. ที่เห็นได้ว่ามีประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน อยู่ไม่น้อย เวียงรัฐมองว่า ปัญหาที่คิดว่าสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง ก็คือ กลไกการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่ สปช. สนใจ คล้ายๆ กับว่า สปช.ไม่เชื่อมั่นในระบบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มองว่าเมื่อเลือกเข้าไปแล้ว ชาวบ้านก็ตรวจสอบไม่ได้ การโกงกินเกิดขึ้นได้

ในการปฏิรูปกลไกเชิงสถาบันแบบนี้ประชาชนต้องค่อยๆเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านที่เรียนจบ ม.3 จบ ป.6 จะรู้ได้ทันทีได้อย่างไร แต่พออยู่ไป 4 ปี เขาก็จะเริ่มรู้ เริ่มรู้จักกลไกการเข้าชื่อ รู้จักการยื่นเรื่องต่อสภา แต่ที่ผ่านมาเขาใช้วิธีที่ยังไม่เป็นทางการเยอะ เช่น ญาตินายกองค์การบริหารส่วนตำบลก็ไปบอกนายก ส่งลูกศิษย์ไปนั่งอยู่ในสภา ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่มีส่วนร่วม เพียงแต่การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเราต้องมีจังหวะ และพยายามคิดช่องทางโดยใช้วิธีของการมีส่วนร่วมที่เป็นมาก่อน ให้ขยับมาเป็นรูปแบบทางการให้ได้

ส่วนข้อเสนอของสปช. ให้มี สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เวียงรัฐเห็นว่า เรื่องนี้ต้องมีเจ้าภาพกลางอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการกระจายอำนาจ แต่ว่า การให้มีสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาตินั้น ยังไม่ได้กำหนดองค์ประกอบ กลัวว่าจะมาในรูปแบบ ให้คสช.แต่งตั้งเหมือนที่มาของสปช. ผลก็คือจะไม่ได้คนที่มีวิสัยทัศน์เรื่องประชาธิปไตย ไม่มีการปฏิรูปที่เป็นประชาธิปไตย แต่ใช้ชื่อว่าเหมือนเป็นการกระจายอำนาจ

'สมัชชาพลเมือง' มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ควรพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ตั้งใหม่

จากข้อเสนอของสปช. ที่ให้มีการจัดตั้ง 'สมัชชาพลเมือง' เวียงรัฐมองว่า ข้อเสนอนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงคนกลุ่มไหน ถ้าหมายถึงการที่ประชาชนจะรวมตัวกันเป็นองค์กรภาคประชาชนสำหรับจัดการเรื่องต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่น ก็มีการรวมตัวกันอยู่แล้ว เช่น เครือข่ายคนชรา เครือข่ายสตรี ซึ่งรัฐก็ใช้ประโยชน์แบบนี้ตลอด

ทุกวันนี้ส่วนกลางกับท้องถิ่นก็ใช้ระบบนี้ เช่น เครือข่ายอาสาสมัคร ก็เป็นฐานให้กับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เป็นฐานหาเสียง เป็นฐานอะไรได้หลายอย่าง เครือข่ายแม่บ้าน เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายคนชรา เครือข่ายกลุ่มอาชีพก็เป็นฐานให้กับเทศบาล คือ เทศบาลก็ใช้ประโยชน์ แต่เครือข่ายต่างๆ ก็มีอำนาจต่อรองได้ อย่างเช่น เทศบาลเล็กๆ ก็อาจจะมีเครือญาติของผู้บริหารที่เข้าไปนั่งในเครือข่ายพวกนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติที่ให้จัดตั้งชุมชน

สำหรับเวียงรัฐ คำถามต่อไปคือ จะทำอย่างไงให้เครือข่ายเหล่านี้เป็นอิสระและเป็นกลไกภาคประชาชนสังคมอย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเป็นระบบเครือญาติ หรือเครื่องมือของนักการเมือง อันนี้เป็นจุดที่ต้องปฏิรูป ต้องคิดในกรอบนี้ แต่ไม่ใช่การไปตั้งเป็นสมัชชาพลเมือง สมัชชาชุมชนแห่งจังหวัด แห่งอำเภอ อันนี้มันจะเป็นลักษณะแบบความร่วมมือระหว่างรัฐกับสังคม โดยที่สังคมถูกจัดตั้งเป็นองค์กรแล้วรัฐเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อที่จะควบคุมในเรื่องความมั่นคงของชาติ

เสนอให้ท้องถิ่นเก็บภาษีมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนกระตือรือร้นในการตรวจสอบ

ต่อประเด็นน่ากังวลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เวียงรัฐเสนอว่า ควรกำหนดบังคับเปิดเผยบัญชีการใช้งบประมาณ และจัดระบบการยื่นซองประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ให้โปร่งใสว่าคนที่ประมูลได้เพราะอะไร ซึ่งเดี๋ยวนี้มีการใช้ระบบ e-government เข้าไปประมูลผ่านช่องทางออนไลน์ ก็ช่วยป้องกันปัญหาไปได้เยอะ

"อยากเสนอเรื่องนึง คือในเมืองนอกเขาใช้วิธีแบบทำประชาคมแบบจริงจัง เพราะว่าเขาเก็บภาษีท้องถิ่นเยอะ คือพอคุณเสียภาษีเยอะ คุณย่อมต้องอยากรู้ว่าเงินคุณถูกเอาไปทำอะไร จะเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปตรวจสอบ" เวียงรัฐเสนอ

เวียงรัฐอธิบายด้วยว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการ ก็จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งกันของกลุ่มต่างๆ เยอะขึ้น และจะเปลี่ยนตำบลที่เล็กๆ ให้เป็นตำบลที่พัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาการท่องเที่ยว หรือจะให้เป็นตำบลที่คงความเป็นเอกลักษณ์ไม่ให้ใครเข้ามาแต่รักษาประเพณีวัฒนธรรมเอาไว้ ก็จะเป็นไปตามนั้น ถ้าผู้บริหารมีอิสระที่จะทำ คนก็อยากเข้าไปทำ โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อท้องถิ่น พอประชาชนเห็น ประชาชนก็เลือก

ซึ่งระบบนี้ที่สำคัญต้องให้ท้องถิ่นเก็บภาษี ไม่ใช่เพิ่มอัตราการเก็บจากประชาชนให้มากขึ้น แต่เพิ่มประเภทของการเก็บภาษีให้ท้องถิ่นรับผิดชอบมากขึ้น และเงินอุดหนุนก็ต้องให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับภาษีที่เขาเก็บได้ด้วย


 

 

แก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น ด้วยระบบกระจายอำนาจ

เวียงรัฐมองว่า ข้อเสนอของสปช. ในประเด็นการกระจายอำนาจล้วนมุ่งไปที่ประเด็นย่อย ซึ่งควรจะกำหนดในระดับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วก็ควรจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด

"ดูเหมือนสปช. คิดว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดจากคนเลว เขามองคอร์รัปชั่นในแง่ของศีลธรรม แต่ว่าคอร์รัปชั่นเนี่ยมันต้องมองในแง่ของการตรวจสอบ พูดง่ายๆ การกระจายอำนาจก็เป็นการลดคอร์รัปชั่นไปเยอะละ" เวียงรัฐกล่าว

เวียงรัฐยกตัวอย่างว่า สมมติสร้างถนนใช้งบประมาณ 100 บาท ถ้าส่วนกลางเป็นคนสร้างก็ไม่มีใครรู้ว่างบประมาณไปอยู่ไหนบ้าง แต่ถ้าให้ท้องถิ่นเป็นคนสร้าง ถ้าแอบกินสัก 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยอีก 70 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องสร้าง เพราะมันต้องเห็นได้ ปัญหาก็อาจลดลงไปบ้าง แต่ถามว่าทำอย่างไรจะตัด 30 เปอร์เซ็นต์นี้ให้ได้ ก็คือกลไกตรวจสอบโดยประชาชน แต่ไม่ใช่เอาส่วนกลางมาคุม หรือดึงกลับไปให้ส่วนกลางทำเอง เพราะถ้าดึงกลับไปแล้วยิ่งจะตรวจสอบไม่ได้

สปช.มองเรื่องแบบนี้เป็นประเด็นย่อย เขามองปัญหาการคอร์รัปชั่น การขาดประสิทธิภาพ อำนาจที่ซ้อนทับ เป็นปัญหาหลัก เพราะฉะนั้นเมื่อเขาทำข้อเสนอปฏิรูปเขาก็เลยเน้นดึงอำนาจกลับมา

เวียงรัฐเปรียบเทียบการกระจายอำนาจ กับการเลี้ยงดูลูกว่า เมื่อคุณให้อิสระลูกไปศึกษาเล่าเรียน ปัญหาของลูกคือ ความเป็นอิสระกับความรับผิดชอบ ประสิทธิภาพที่เขาจะพัฒนาเติบโตขึ้น เพราะลูกเพิ่งหลุดออกจากบ้านไปดูแลตัวเอง แต่ลูกอาจจะคบเพื่อนไม่ดี ผลการเรียนตก อาจจะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถ้าพ่อแม่จับมาเป็นปัญหาใหญ่แล้วดึงลูกกลับบ้าน พอลูกกลับมาอยู่บ้าน ปัญหาติดยาเสพติดมันก็ยังมี คบเพื่อนไม่ดีมันก็ยังมี การเรียนตกต่ำก็ไม่ได้แก้ ไม่ได้แปลว่าการที่คุณดึงอำนาจปกครองกลับมา แล้วจะลบปัญหานั้นได้

ปัญหาหลักของการกระจายอำนาจในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่การเติบโต เพราะเรายังเป็น young democracy การที่จะปล่อยให้เติบโตต้องส่งเสริม เช่น จัดอบรม ฝึกปฏิรูปโครงสร้างย่อยๆ ช่วยการเติบโตของระบบการกระจายอำนาจ แต่ สปช.เขามองปัญหากลับกัน

มองภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ2558 ต่อการปกครองท้องถิ่นอย่างไร ?

สำหรับหมวดการปกครองท้องถิ่นในร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ฉบับที่ตกไปแล้ว เวียงรัฐมองว่า เป็นเหมือนกับการพยายามแก้ปัญหา คงการกระจายอำนาจไว้ แต่แทรกอะไรบางอย่างเอาไว้ มีระบบการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นแนวคิดไม่ไว้ใจประชาชน ไม่ไว้ใจระบบตัวแทน

หลักการในมาตรา 200 กำหนดให้องค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาจมาจากความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งก็ได้ หมายความว่า ประชาชนอาจจะมีประชามติแบบอื่นได้ที่ไม่ใช่เลือกตั้ง เช่น ใช้กลไกสมัชชาประชาชน สมัชชาพลเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ทางตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน (direct democracy)

เวียงรัฐกล่าวว่า สปช.มองว่าระบบนี้ดีกว่าการเลือกตั้ง สปช.ไม่ไว้ใจการเลือกตั้ง ซึ่งการเขียนแบบนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นอันตรายมาก เป็นการเปิดช่องว่างไว้ให้ไม่มีการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกอีกด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งใน มาตรา 202 ที่กำหนดให้มีการกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่น(อบท.) คือกำหนดมาตรฐานกลางให้ อบท. ปฏิบัติและติดตามตรวจสอบได้ เมื่อมีมาตรฐานกลางก็เท่ากับควบคุมมากขึ้น

สำหรับมาตรา 202 (3) ที่กำหนดให้รัฐส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาว่าการกระทำของอบท.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เวียงรัฐเห็นว่าประเด็นนี้เป็นการให้อำนาจศาลปกครองเต็มที่ เหมือนศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลปกครองเห็นว่า การขุดลอกคลองตรงนั้นตรงนี้ไม่เหมาะสม หรือมีมติไม่ให้สร้างตึกสูง ศาลปกครองก็สั่งได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าศาลปกครองเข้าใจความต้องการของคนในท้องถิ่น

เวียงรัฐกล่าวว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น แต่การที่มาตรา 202 (3) กำหนดให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า ชอบหรือไม่ชอบ และการตีความก็จะขึ้นอยู่กับศาล ทำให้อาจเกิดการยับยั้งกฎ กติกา หรือผลมติของท้องถิ่นได้

อีกเรื่องที่อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์สังเกตเห็นในร่างรัฐธรรมนูญ คือ การเปลี่ยนชื่อจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นองค์กรบริหารท้องถิ่น คือ ไม่ใช้คำว่า'ปกครอง' management หรือ administration แต่ใช้คำว่า local government อาจเพราะกลัวคำว่า 'ปกครอง' อาจจะเป็นการจงใจลดอำนาจการปกครองลง แล้วให้ทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว เพราะในที่สุดแล้วศาลปกครองก็เข้ามาตัดสินได้อยู่ดีว่า คำสั่งชอบหรือไม่ชอบ ถูกหรือไม่ถูก ดีหรือไม่ดี