COVER เพลงลงเว็บเสี่ยงผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นวันแรกที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โดยมีการแก้ไขที่สำคัญ เช่น การเพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ การเพิ่มสิทธิของนักแสดง กำหนดการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี 
ขายงานลิขสิทธิ์มือสองถือว่าไม่ละเมิด
ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้มีการเพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์อีก 2 กรณี คือในมาตรา 32/1 ระบุว่า ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น นายเอซื้อหนังสือที่มีลิขสิทธิ์มา เมื่ออ่านจบแล้วนายเอจึงขายต่อให้นายบี ถือว่าไม่ละเมิด
อีกกรณีหนึ่งคือ มาตรา 32/2 กำหนดว่า การนำสำเนาที่มีลิขสิทธิ์มาใช้โดยมีความจำเป็นต้องทำซ้ำ เพื่อให้อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์หรือกระบวนการส่งงานทางระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติ ไม่ถือว่าละเมิด เช่น การซื้อ e-book มาอ่าน ในการอ่านนั้น ระบบคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องทำซ้ำหนังสือเพื่อให้เปิดดูได้ กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์
เพิ่มสิทธิให้นักแสดงเท่ากับผู้สร้างสรรค์
เดิมนักแสดงไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ เป็นเพียงผู้ที่ถ่ายทอดผลงานของผู้สร้างสรรค์ เช่น นักแต่งเพลงสร้างผลงานเพลงออกมา โดยให้นักร้องเป็นผู้แสดงเพลงนั้น เมื่อก่อนในปกซีดีจะระบุเพียงชื่อผู้แต่งเพลง แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ให้สิทธินักร้องระบุชื่อในปกซีดีด้วย รวมถึงมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นบิดเบือน ตัดทอน หรือดัดแปลงจนทำให้นักแสดงเสียชื่อเสียง โดยมีตัวอย่างจากต่างประเทศ กรณีที่แฟนคลับนำเพลงของศิลปินท่านหนึ่งไปร้อง แล้วถ่ายคลิปวีดีโอลงในเว็บไซต์ Youtube ศิลปินท่านนั้นรู้สึกว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์จึงเกือบจะมีการฟ้องร้องขึ้น แต่ก็สามารถเจรจากันได้ 
สิทธิของนักแสดงปรากฏอยู่ใน มาตรา 51/1 นักแสดงย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นนักแสดงในการแสดงของตน และมีสิทธิห้ามผู้รับโอนสิทธิของนักแสดงหรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่การแสดงนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของนักแสดง และเมื่อนักแสดงถึงแก่ความตาย ทายาทของนักแสดงมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร
ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ต้องรับผิด ถ้าถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บแล้ว
ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) อย่าง Google Youtube  Facebook หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งผู้ให้บริการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เมื่อศาลรับคำร้อง ให้ศาลทำการไต่สวน ถ้าศาลเห็นว่าควรมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการกระทำที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือนำงานนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด  ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่ง
กรณีที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้ว ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามคำสั่งศาล (มาตรา32/3)
ตัวอย่างเช่น นายเอเป็นเจ้าของเพลงเพลงหนึ่งซึ่งอยู่ใน ISP แห่งหนึ่ง ส่วนนายบีเป็นผู้ใช้บริการ ISP แล้วละเมิดลิขสิทธิ์โดยการนำเพลงของนายเอไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของนายบี นายเอสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ISP นำเพลงนั้นออกจากเว็บไซต์ของนายบีได้ ถ้า ISP นำออกตามคำสั่งศาลและไม่ได้เป็นผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้ละเมิดลิขสิทธิ์ ISP ก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ ส่วนนายเอก็จะฟ้องร้องต่อนายบีต่อไป
ห้ามลบหรือเปลี่ยนชื่อผลงาน/เจ้าของผลงาน
ข้อมูลการบริหารสิทธิ คือ ข้อมูลที่บอกว่าผู้สร้างสรรค์คือใคร เจ้าของลิขสิทธิ์คือใคร ระยะเวลาและเงื่อนไขในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ รวมถึงตัวเลขหรือรหัสแทนข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลบริหารสิทธิจึงเป็นเหมือนบาโค้ดของสินค้า ที่ติดมากับผลิตภัณฑ์นั้น เช่น ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อผลงาน เลข ISBN เป็นต้น ซึ่งการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิดความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 53/1) 
ตัวอย่างการละเมิดเช่น มีการเปลี่ยนชื่อผู้แต่งหนังสืออันมีลิขสิทธิ์เป็นชื่อที่มีความคล้ายคลึงกันจนอาจทำให้เกิดความสับสนว่าใครเป็นผู้แต่ง หรือการลบลายน้ำบนภาพก็ถือเป็นการละเมิดเช่นกัน อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่าลบโดยมีเจตนาไม่ดีหรือเป็นความผิดพลาด
นอกจากนี้ผู้ที่นำหรือสั่งงานละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นมีการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วย (มาตรา 53/2)
ยกเว้น การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ด้วยเหตุจำเป็นในการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคง หรือใช้โดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด องค์กรแพร่ภาพแพร่เสียงสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร
ห้ามทำลายมาตรการทางเทคโนโลยีที่ป้องกันการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์
ที่ผ่านมางานลิขสิทธิ์อาจมีมาตรการป้องกันการทำซ้ำหรือควบคุมการเข้าถึงผลงาน เช่น การห่อหนังสือด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันคนที่ไม่ซื้อหนังสืออ่าน ในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยป้องกันการเข้าถึงมากขึ้น เช่น การใส่รหัส การสแกนลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา ซึ่งทำให้มีความพยายามทำลายมาตรการทางเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงได้มีการบัญญัติให้การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี (มาตรา 53/4) ตัวอย่างเช่น หนังสือนวนิยายมีรหัสป้องกันการเข้าถึง หากมีการถอดรหัสหรือทำลายรหัสเพื่อเข้าไปอ่านนิยายก็จะมีความผิด 
แต่ก็มีข้อยกเว้น ถ้าการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีนั้นกระทำโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือทำเพื่อประโยชน์ในการวิจัย วิเคราะห์ หาข้อบกพร่องของการเข้ารหัสโดยขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว หรือเพื่อทดสอบ ตรวจสอบ แก้ไขระบบความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำโดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด องค์กรแพร่ภาพแพร่เสียงสาธารณะที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร
ละเมิดลิขสิทธิ์ระวังปรับสูงสุด 4 แสน คุก 2 ปี
สำหรับโทษของการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิหรือละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ถ้าทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากมีหลักฐานชัดแจ้งว่าจงใจหรือมีเจตนาเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสู่สาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้บรรดาสิ่งของละเมิดลิขสิทธิ์ และสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบเสียให้สิ้น (เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยให้สิ่งของละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์) หรือกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ทำให้สิ่งนั้นใช้ไม่ได้หรือสั่งทำลายสิ่งนั้นก็ได้ โดยให้ผู้ละเมิดเสียค่าใช้จ่ายในการนั้น  
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้สรุปความจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 และการบรรยายพิเศษเรื่อง “รู้จักกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่” โดย รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนุสรา กาญจนกูล ผอ.สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558ณ อาคารพินิตประชานาถ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ไฟล์แนบ