สนช.กับการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐ

นอกจากพิจารณาร่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)ฉบับ 2557 มาตรา 6 วรรคสอง ยังให้อำนาจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่อื่นที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วุฒิสภา (ส.ว.) และรัฐสภา สามารถทำได้ เช่น การแต่งตั้ง/ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐ
สำหรับการแต่งตั้งตามแต่เดิมรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ภารกิจนี้เป็นอำนาจของ ส.ว. กล่าวคือ สนช.จะเข้ามาทำหน้าที่เลือก แต่งตั้ง หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แทน ส.ว.
หน้าที่ข้างต้น อาจแบ่งง่ายๆ เป็น สองแบบ คือ 1.สนช.มีอำนาจในการคัดเลือกและลงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลในตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง และ 2.สนช.ทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ กับบุคคลซึ่งกรรมการสรรหาของตำแหน่งนั้นๆ คัดเลือกมาให้แล้ว 
นับตั้งแต่ สนช.เข้ามารับหน้าที่งานนิติบัญญัติพวกเขาให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรใดบ้าง และเห็นชอบใครไปบ้าง?
+กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.)
วันที่ 2 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติเลือก ‘เมธี ครองแก้ว’ อดีตกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ‘ปรีชา ชวลิตธำรง’ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.)
หลัง สนช.ลงมติ ดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ได้มี หนังสือถึง ประธาน สนช.คัดค้านการแต่งตั้งเมธี ครองแก้ว ระบุว่า ได้รับ
หนังสือจากทนายความ 18 คน คัดค้านการเป็นกรรมการ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิของ เมธี เนื่องจากเมธีถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหลายคดี จึงมีคุณสมบัติอันเป็นลักษณะต้องห้าม หรืออาจไม่เหมาะสมทางจริยธรรม หรือไม่เหมาะสมแก่เกียรติ์ของสถาบันตุลาการ
ขณะที่ เมธี ชี้แจงว่า คดีที่ถูกฟ้องเนื่องจากการทำหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นคดีที่กรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะถูกผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดฟ้องกลับ ยังไม่มีคดีใดที่ศาลตัดสินว่ากระทำผิด และไม่มีคดีที่ถูกฟ้องอันเนื่องมาจากเรื่องส่วนตัว ทั้ง นี้ เมธี เคยดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.ต.ผู้ทรงวุฒิ ในปี 2555 – 2557 และเคยเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดียวกับ กล้านรงค์ จันทิก ประธานกรรมาธิการเสนอรายชื่อกรรมการ ก.ต.
3 พฤศจิกายน 2559 สนช. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาค อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปรีชา ชวลิตธำรง อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงวุฒิ
+ผู้ตรวจการแผ่นดิน
การประชุม สนช.เพื่อลงมติเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดินในหนึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช.เห็นชอบให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แทน พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ได้ลาออกจากเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธาน สนช. ทั้งนี้ในช่วงที่ พรเพชร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส ได้ทำงานร่วมกับ พรเพชร ในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน
สำหรับการประชุม สนช.ครั้งที่สองและสาม เป็นการเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดินแทน ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจาก ครบวาระ โดยการเลือกครั้งสอง วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่ประชุม สนช.ไม่เห็นชอบ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และเป็นอดีตผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สุดท้ายการประชุมครั้งที่สาม วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุม สนช.จึงเห็นชอบให้ ‘บูรณ์ ฐาปนดุล’ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันที่ 2 มิถุนายน 2559 ที่ประชุม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเห็นว่าสมาชิก สนช. กังวลถึงสายสัมพันธ์ทางการเมืองของเรวัตที่เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลเพื่อไทย และที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากพรรคเพื่อไทย 
โดยกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครอง, ประศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกหนึ่งคน
วันที่ 19 เมษายน 2561 ที่ประชุม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบให้ภรณี ลีนุตพงษ์ ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายบริหาร ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากพบข้อร้องเรียนเข้าข่ายการแอบอ้างบุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงในราชการ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และยังพบว่าไม่ได้รับการตรวจสุขภาพจริง จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สมาชิก สนช. หลายคนยังเห็นว่าการประกาศรับสมัครของคณะกรรมการสรรหาขาดความชัดเจนด้วย
วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดเช่น จังหวัดน่าน ขอนแก่น ระยอง เป็นต้น และอดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ปัจจุบันสมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของการประปานครหลวง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล 
+เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
วันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบให้ ‘ดิสทัต โหตระกิตย์’ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาชิก สนช. เป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยการประชุมครั้งนี้ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เสนอว่าไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ เนื่องจากเห็นว่า ดิสทัต เป็น สนช. เห็นผลงานกันอยู่แล้ว ที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน
+คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
วันที่ 27 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมสองคณะ คณะละ 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกจำนวนหนึ่งคน 
ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ‘คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน’ ได้พิจารณาคัดเลือก ‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ต่อจากนั้น ‘คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน’ ได้พิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
ด้านบัญชี คือ ‘ปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์’ รองปลัดกระทรวงการคลัง และ ‘อุไร ร่มโพธิหยก’ อดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ด้านกฎหมาย คือ ‘ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม’ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ และ ‘สุทธิพล ทวีชัยการ’ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ ‘จิรพร มีหลีสวัสดิ์' อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ด้านบริหารธุรกิจ คือ ‘กรพจน์ อัศวินวิจิตร’ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน ‘วิทยา อาคมพิทักษ์’ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
หลังจากที่คณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ตามกระบวนการ คือ ต้องส่งรายชื่อให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ และลงมติเห็นชอบ แต่จากการตรวจสอบไม่พบรายงานกระบวนการดังกล่าวในระเบียบวาระการประชุม สนช. อย่างไรก็ตามตำแหน่งเหล่านี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าเป็นที่เรียบร้อย
วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 สนช. ลงมติเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน ประกอบด้วย 
ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน คือ ‘ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์’ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ด้านกฎหมาย คือ ‘ศ.พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์’ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และ ‘อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป’ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ด้านบัญชี คือ ‘จินดา มหัทธนวัฒน์’ ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. และอดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ด้านการตรวจสอบภายใน คือ ‘พลเอกชนะทัพ อินทามระ’ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ด้านการเงินการคลัง คือ ‘วีระยุทธ ปั้นน่วม’ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน คือ ‘สรรเสริญ พลเจียก’ เลขาธิการป.ป.ช.
+กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.)
วันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติเลือก ‘ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช’ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) สำหรับ ศ.อุดม ก่อนหน้านี้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.ของ ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (2560)
+กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 9 คน ตามมติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ‘สมพล เกียรติไพบูลย์’  สมาชิก สนช., ‘รองศาสตราจารย์อติ ไทยานนท์’ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ‘รองศาสตราจารย์ พันตำรวจเอก ทิวลิป เครือมา’ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ‘ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ’ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, ‘พลตำรวจตรี สุเทพ รมยานนท์’ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร, ‘พิทยา จินาวัฒน์’ อดีตอธิบดีกรมคุ้งครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ‘ปริญญา หอมเอนก’ ประธาน ACIS Professional Center, ‘พลโท สมร ศรีทันดร’ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก และ ‘วันชัย รุจนวงศ์’ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด
วันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปปง. จำนวน 6 คน ประกอบด้วย สุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตข้าราชการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), อุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), พล.ต.ต.จักรพงษ์ วิวัฒน์วานิช อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, เฉลิมศักดิ์ จันทรทิม อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 
วันที่ 19 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เเต่งตั้งกรรมการผู้ทรคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จำนวน 4 คน ได้แก่ ‘พลตำรวจเอก ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล’เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.)  ‘ประยงค์ ปรียาจิตต์’ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) ‘ประสงค์ พูนธเนศ’ อธิบดีกรมสรรพากร ‘สุทธิรัตน์ รัตนโชติ’ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นผลมาจากคำสั่งหน้าคสช.ที่ 38/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นผลให้กรรมการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากสนช.เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ต้องพ้นจากตำแหน่ง
+กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (กอ.)
วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติเลือก ‘ไพรัช วรปาณี’ อดีตกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (กอ.) และ ‘พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์’ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็น กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ สำหรับ ไพรัช วรปาณี นอกจากได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่ออีกสมัยหนึ่งแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ของ สนช.
+กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบให้ ‘ภิญโญ ทองชัย’ ที่ปรึกษากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ท. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และ คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัตฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
+อัยการสูงสุด
วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบให้ ‘ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร’ รองอัยการสูงสุด และสมาชิก สนช. ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติเลือก และ คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
วันที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมสนช.ลงมติเห็นชอบให้ ‘เข็มชัย ชุติวงศ์’ รองอัยการสูงสุด ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) มีมติเลือกและคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
+คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุม สนช.มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่ คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหาและคัดเลือก จำนวน 7 คน เข้าสู่การพิจารณาสรรหาของ สนช. ได้แก่ ‘ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง’ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวสมุทรปราการ, ‘บวร ยสินทร’ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. ของ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท, ‘ประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์’ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ‘วัส  ติงสมิตร’ ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลฎีกา, ‘รองศาสตราจารย์ นพ.ศุภชัย  ถนอมทรัพย์’ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ‘สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย’ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ 
หลังการเผยรายชื่อว่าที่ กสม. ได้มีกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ออกมาจำนวนมาก โดยกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกแสดงความกังวลต่อกระบวนสรรหาที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการปารีส ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลดเกรดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย โดยมีแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม
อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 สิงหาคม 2558 สนช.เห็นชอบว่าที่ กสม.จำนวน 5 คน โดย สนช. ไม่เห็นชอบเพียง บวร ยสินทร เนื่องจากบวรถูกร้องเรียนเรื่องมีคดีความทางการเงินหลายครั้ง และศุภชัย ถนอมทรัพย์ มีปัญหาเรื่องถูกร้องเรียนทางจริยธรรม ในกรณีของ บวร ยสินทร ก่อนนี้ฮิวแมนไรท์วอทซ์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงเขาว่าเป็นผู้ที่ต่อต้านเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากที่เขาอ้างใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเชิงก้าวร้าวหลายครั้ง 
สุดท้ายวันที่ 16 ตุลาคม 2558 จึงมีการคัดเลือกใหม่อีกครั้ง ซึ่ง สนช.ได้เห็นชอบ เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.จังหวัดเชียงราย และอดีต สนช.ปี 2549-2551 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และเห็นชอบ ชาติชาย สุทธิกลม อดีตเลขาธิการ กสม. เป็น กรรมการ กสม.
+ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 
วันที่ 9 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบให้นครินทร์  เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับประสบการณ์ทำงานเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 เคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 2 ของ คสช.  
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 
+กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 
วันที่ 19 ตุลาคม 2558 คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการพิจารณาเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ภายหลังการพิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติเลือก จำนวน  5 ราย คือ วิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, สุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และพลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก 
ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบให้รายชื่อทั้งหมดข้างต้นเป็นกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับ พล.ต.อ.วัชรพล นั้นเพิ่งลาออกจากการเป็นสมาชิก สนช.เพื่อเข้ารับการสรรหาครั้งนี้

+คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุม สนช. มีมติไม่เห็นชอบ บุคคลทั้ง 7 คน ประกอบด้วย ‘เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ‘ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ’ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัทวรวิสิฏฐ์ ‘ประชา เตรัตน์’ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ‘ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี’ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา และ ‘ปกรณ์ มหรรณพ’ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 

ผู้สมัครทั้ง 7 คน ได้รับความเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งจากสมาชิก สนช. ทั้งหมด หรือน้อยกว่า 124 คน จากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 248 คน สำหรับเหตุผลที่ สนช.ไม่เห็นชอบคาดว่ามาจาก 1) สมาชิก สนช.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าภารกิจของ กกต. ชุดใหม่ในการควบคุมการเลือกตั้งมีความสำคัญจึงอยากได้บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการทำงาน 2) สนช. เห็นว่า กกต. สายศาล คือ ฉัตรไชยและปกรณ์ มีปัญหาเกี่ยวกับการสรรหา เกรงว่าจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายหลัง และ 3) คาดกันว่า สนช. ได้รับคำสั่งจากจากผู้มีอำนาจให้ไม่เห็นชอบทั้ง 7 คน ซึ่งส่งผลให้เพื่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
+คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
วันที่ 19 เมษายน 2561 ที่ประชุม สนช. มีมติไม่เห็นชอบรายชื่อผู้ทีได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. จากคณะกรรมการสรรหา กสทช. จำนวน 14 คน โดย สนช. ให้เหตุผลว่ามีผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามถึง 8 คน ทำให้จำนวนรายชื่อบุคคลที่สมควรเสนอชื่อไม่ครบ 2 เท่าตามกฎหมายกำหนด นอกจากนี้ สนช. ยังเห็นว่า คณะกรรมการสรรหา กสทช. กำหนดให้ผู้สมัครจำนวน 86 คน แสดงวิสัยทัศน์เพียงคนละห้านาที เป็นระยะเวลาที่ไม่สมเหตุสมผลเนื่องจากภารกิจของ กสทช. มีมูลค่ามหาศาล และอีกเหตุผลหนึ่งคาดว่ารายชื่อทั้งหมดไม่เป็นที่พอใจของนายกรัฐมนตรี 
+เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
วันที่ 25 ธันวาคม 2560 ที่ประชุม สนช. ประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ ป.ป.ท. ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธานได้นำเสนอ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงคะแนนลับโดยเห็นชอบให้ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์  ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. และวันที่ 6 มีนาคม 2561 จึงมีประกาศแต่งตั้งจากสำนักนายกรัฐมนตรี

 

+กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภา
วันที่ 21 ธันวาคม 2560 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบ ให้ วรารัตน์ อติแพทย์ และพลตํารวจเอก ปัญญา มาเม่น เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภา เป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) แทนตําแหน่งที่ว่าง โดย วรารัตน์ นั้น เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการวุฒิสภา อีกทั้งยังเป็นเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ส่วน พลตํารวจเอก ปัญญา นั้นเคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติและยังเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) อีกด้วย โดยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 มีประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้ง
+กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 21 ธันวาคม 2560  ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบ ให้พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง พลตํารวจเอก วรพงษ์ ชิวปรีชา และศศิธร ศรีสุจริต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) แทนตําแหน่งที่ว่าง โดยพลเรือเอก ประเสริฐ เคยเป็นผู้บัญชาการทหารเรือและเป็นอดีตสมาชิก สนช. ปี 2549 ในสมัยรัฐบาลของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) และประธานอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภากฎหมายและระเบียบในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) ส่วนของพลตํารวจเอก วรพงษ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และยังเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม และศศิธร เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และเป็นกรรมการข้าราชการวุฒิสภา โดยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 มีประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้ง