ร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม: ควรทำความเข้าใจและตั้งข้อสังเกต

12 มิ.ย.57 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม ที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสนอผ่านคณะรัฐมนตรี โดยเหตุผลในการร่างกฎหมายดังกล่าวก็เพื่ออุดช่องโหว่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และที่ผ่านมากองทุนยุติธรรมตามระเบียบกระทรวงยังขาดความคล่องตัวและมีงบประมาณที่จำกัด อย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 แต่ก่อนจะไปถึงข้อกังวลใจต้องขออธิบายเนื้อในแห่งความหวังดีเสียก่อน
รู้จักมั้ย กองทุนยุติธรรมคืออะไร?
กองทุนยุติธธรรมเป็นกองทุนหนึ่งที่จัดตั้งภายในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีสถานะเป็น ‘นิติบุคคล’ จึงมีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินหรือตกลงทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ได้ ภายในขอบเขตวัถตุประสงค์ของกองทุน
วัถตุประสงค์ของกองทุนคือ เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมาย
แล้วเงินในกองทุนจะถูกนำไปใช้ในกรณีใดบ้าง?
1) ใช้ช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี เช่น ค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี
2) ใช้สำหรับการขอปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาและจำเลย
3) ใช้ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต ค่าขาดประโยชน์ระหว่างทำมาหากินไม่ได้ และอื่นๆ
4) ใช้เพื่อการให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชน
แหล่งรายได้และที่มาของเงินมาจากไหน?
แหล่งรายได้มาจากหลายส่วน ได้แก่ บรรดาเงิน ทรัพย์สินและหนี้สิ้นที่มาจากกองทุนยุติธรรมตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2553 / เงินที่ได้รับจากรัฐบาลหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปี / เงินจากการบังคับกรณีผิดสัญญาประกัน ค่าธรรมเนียมศาล ค่าปรับในคดีอาญา (ไม่เกินร้อยละ 2 ของส่วนที่นำส่งคลัง) / เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค / ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน / เงินอื่นๆ
ประชาชนจะใช้สิทธิช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมได้อย่างไร?
–  กรณีให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีและการให้การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการให้การช่วยเหลือหรือคณะกรรมการอนุกรรมการประจำจังหวัด ต้องคำนึงถึง พฤติกรรมและข้อเท็จจริงของผู้ที่่จะได้รับความช่วยเหลือ / ฐานะของผู้ขอรับความช่วยเหลือ / โอกาสที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือจะได้รับตามกฎหมายอื่น
–  กรณีให้ความช่วยเหลือในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้คำนึงว่า หากได้รับการปล่อยตัวแล้วจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และก่อเหตุภยันอันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ กองทุนอาจมอบให้พนักงานกองทุนหรือเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นคำร้องปล่อยตัวและลงนามในสัญญาประกัน แต่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องทำหนังสือสัญญากับกองทุนว่า หากกองทุนต้องชำระเงินค่าปรับเท่าไร ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องชดใช้เงินกองทุนจนครบ และให้ สามีภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ญาติใกล้ชิด ผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง มาเป็นผู้ค้ำประกัน
แล้วใครเป็นผู้ดำเนินการต่างๆภายในกองทุนยุติธรรม?
กองทุนยุติธรรม มีคณะกรรมการการกองทุนยุติธรรม ประกอบไปด้วย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน  ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน  ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นที่ประจักษ์จำนวนหกคน
โดยทำหน้าที่ กำหนดนโยบายแผนงาน รวมถึงออกระเบียบต่างๆ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน แต่งตั้งอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วราชอาณาจักร หรือก็คือให้แต่งตั้งคณะกรรมการประจำจังหวัดทุกจังหวัดนั้นเอง
ดูแลเรื่องเงินๆทองๆ แบบนี้ ตรวจสอบ การเงินและการบัญชีกันอย่างไร?
กองทุนต้องจัดให้มีระบบบัญชีที่เหมาะสมเพื่อบันทึกรายการทางบัญชีและแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินตามมาตรฐานบัญชี โดยกองทุนต้องยื่นรายการแสดงการจัดการกองทุนต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนการรับเงิน การจ่ายเงิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
หากพิจารณาจากร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ พอจะเห็นภาพความหวังดีของคณะรัฐมนตรีที่ต้องการสร้างกองทุนช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ แต่ทว่าร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม มีการเสนอกันมาหลายฉบับ โดยที่ประชาชนก็ไม่แน่ใจว่าร่างที่อยู่ในสภาชุดปัจจุบันเป็นร่างที่ดีที่สุดหรือไม่ จึงขอเปรียบเทียบกับร่างที่ประชาชนเสนอ ซึ่งเป็นฉบับที่ ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ยกร่าง และมีประเด็นที่แตกต่างดังนี้
หนึ่ง ไม่มีนิยามศัพท์คำว่า ‘ผู้ยากไร้’
คำว่า ‘ผู้ยากไร้’ หายไปจากร่างฉบับ สนช. และเมื่อกลับไปหาคำตอบว่าทำไมต้องบรรจุไว้  ผศ.ดร.ปกป้อง ได้อธิบายไว้ในคำอธิบายประกอบร่างว่า เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำและให้โอกาสกับผู้ยากไร้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ดังนั้นต้องให้การช่วยเหลือผู้ยากไร้เป็นหลัก และจำต้องมีนิยามของ “ผู้ยากไร้” โดยพิจารณาจากรายได้และทรัพย์สินของบุคคล ส่วนร่างของสนช. ไม่มีการกำหนดเรื่อง "ผู้ยากไร้" เอาไว้ คำให้สามารถตีความได้ว่าร่างของ สนช. ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งไม่แน่ว่าจะสอดคล้องกับเจตนาเดิมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ดีกว่าหรือไม่
สอง สัดส่วนคณะกรรมการและที่มาไม่เหมือนกัน
ในกองทุนกำหนดให้มี ‘คณะกรรมการ’ เพื่อดูแลจัดการกองทุน แต่ทว่าสัดส่วนและที่มาของร่างฉบับประชาชน มีคณะกรรมการที่มาจากเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแปดคนซึ่งสาเหตุที่เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนดังกล่าว ก็เพื่อจะได้ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมในการบริหารกองทุนยุติธรรม  และสัดส่วนจากรัฐและประชาชนเท่าๆกัน แต่ร่างฉบับปัจจุบันตัดส่วนนี้ออกและให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียงหกคน
สาม กำหนดรายละเอียดก่อนจะให้การช่วยเหลือประชาชนและเยียวยาผู้เสียหาย
ร่างฉบับประชาชนไม่มีการกำหนดขั้นตอนก่อนที่คณะอนุกรรมการให้การช่วยเหลือพิจารณาเลย แต่ร่างฉบับสนช. ให้ความสำคัญต่อข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของผู้ขอรับความช่วยเหลือ และในกรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราวก็ให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของผู้ขอความช่วยเหลือด้วยว่า หากได้รับการปล่อยตัวแล้วจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และก่อเหตุภยันอันตรายหรือไม่
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยเอง เพราะเมื่อมีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวทุกครั้งศาลจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าควรอนุญาตหรือไม่ และเมื่อคดีความถึงชั้นศาลก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องพฤติกรรมของจำเลย แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมของสนช. เปิดช่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานในระบบยุติธรรมได้ 
ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้น เช่น คดีนักข่าวภูเก็ตหวานถูกกองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาท และทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม (ภายใต้ระเบียบกระทรวงยุติธรรม) แต่คณะกรรมการกองทุนได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงแทนศาล ซึ่งมีบันทึกของคณะกรรมการผู้พิจารณาไว้ส่วนหนึ่งว่า
“ไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมเนื่องจาก ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ขอรับการสนับสนุนในฐานะเจ้าของเว็บไซต์และผู้สื่อข่าวนำเสนอเผยแพร่ต่อสาธารณะชนนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นความเท็จ..”
ทั้งทีคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ดังนั้นการให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาหลักการช่วยเหลือ อาจส่งผลเสียหายในลักษณะเดียวกันก็เป็นได้
ไฟล์แนบ