ร่างกฎหมายป่าชุมชนยกที่สาม ในยุคสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังคงไม่ตอบโจทย์ชุมชน

กว่า 25 ปีที่ร่างกฎหมายป่าชุมชนถูกผลักดันจากภาคประชาชน จนมาถึงปัจจุบันในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการป่าไม้และที่ดินสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ผลตอบรับจากภาคประชาชนกลับเป็นเสียงคัดค้าน ด้วยเหตุผลว่าร่างของ สปช. บิดเบือนเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับประชาชน

          
ที่มา ข้อมูลสารนิเทศ กรมป่าไม้

แนวคิดป่าชุมชนคืออะไร ทำไมต้องมีป่าชุมชน ?

หลักการของป่าชุมชน คือ การให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามีส่วนร่วมกับรัฐจัดการทรัพยากรป่าไม้ในละแวกชุมชนที่อยู่อาศัยของตัวเอง เพราะลำพังรัฐส่วนกลางอย่างเดียว หรือชุมชนอย่างเดียวไม่สามารถดูแลป่าได้ทั่วถึง รัฐเองก็มีงบประมาณไม่เพียงพอ ส่วนชาวบ้านแม้จะมีแผนการจัดการป่าตามประเพณี ที่มีกฎเกณฑ์ และกลไกการควบคุม แต่กฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับทางกฎหมาย จึงไม่สามารถนำมาใช้กับคนภายนอกได้ ประกอบกับปัญหาการทำลายป่าส่วนใหญ่มาจากการโครงการพัฒนาต่างๆ และการให้สัมปทาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐกับชุมชนต้องร่วมมือกันจัดการป่าโดยมีกฎหมายรองรับ

การเดินทางของกฎหมายป่าชุมชน จากปี 2532 ถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องร่างกฎหมายป่าชุมชนมาจากเมื่อปี 2532 หลังกรมป่าไม้ให้นายทุนเช่าพื้นที่ป่าสาธารณะเพื่อปลูกสวนป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ป่าห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านจึงร่วมกันคัดค้าน ต่อสู้เรียกร้องให้กรมป่าไม้เพิกถอนการให้เช่าพื้นที่ป่า เพื่อให้ชาวบ้านจัดการกันเองในรูปของป่าชุมชน โดยชาวบ้านได้ร่วมมือกับนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ช่วยกันร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสนอเป็นทางออกของปัญหา

อนันต์ ดวงแก้วเรือน ผู้ผลักดันร่างกฎหมายป่าชุมชน เล่าว่าเมื่อปี 2542 เราได้รวบรวมรายชื่อเกิน 5 หมื่นคน เพื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน ตามที่มาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่า ประชาชนสามารถรวมตัวกัน 5 หมื่นชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านไปถึงชั้นวุฒิสภาก็ไม่ผ่าน สุดท้ายกฎหมายนี้ก็ไม่ได้ออก

ต่อมากฎหมายป่าชุมชนได้ผ่านการพิจารณาในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่แล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ร่างกฎหมายฉบับนั้นมีประเด็นถกเถียงว่า การกำหนดเรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ต่อมาในปี 2553 ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ต้องตกไป เพราะผ่านการพิจารณาของ สนช. โดยมิชอบ เนื่องจากกรรมาธิการมาไม่ครบองค์ประชุม ทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปโดยไม่ได้มีการวินิจฉัยว่าเนื้อหากฎหมายนั้นขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปัจจุบัน สปช.นำกฎหมายป่าชุมชนขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ประเด็นที่ถกเถียงกัน คือ เรื่องการให้ป่าชุมชนอยู่นอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งมีความกังวลว่าพื้นที่เขตอนุรักษ์อาจทับซ้อนกับที่ทำกินของประชาชนที่ตั้งรกรากมาก่อน ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและจะสร้างความขัดแย้งตามมา นอกจากนี้ยังมีข้อวิจารณ์ว่า แม้ร่างกฎหมายฉบับ สปช. จะให้อำนาจชุมชนจัดการป่า แต่ไม่ได้สนับสนุนให้คนอยู่กับป่า ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนกว่าล้านคนที่อยู่ในป่า จึงทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากเครือข่ายภาคประชาชน


เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือเรียกร้องให้ สปช. ยุติร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน (25 พ.ค.58)

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

ภาคประชาชนค้านกฎหมายป่าชุมชนฉบับ สปช.

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ขณะที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ, เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ยื่นหนังสือให้ สปช. ยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพราะเป็นร่างที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540, 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเรื่องสิทธิชุมชน, สิทธิพลเมือง ทั้งยังมีเนื้อหาสาระที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไม่สิ้นสุด

ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2558 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายเกษตกรภาคอีสาน เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือและเครือข่ายชนเผ่าแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ สปช. แก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.บ.ป่าชุมชน สรุปใจความได้ว่า

1. ให้คณะกรรมการยกร่างกฎหมายป่าชุมชนยุติหลักการที่ระบุว่า จะมีการย้าย อพยพหรือนำคนชุมชนเก่าที่อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ออกไปที่อื่น เพราะชุมชนเหล่านี้ผูกพันกับป่า และไม่มีเครื่องมือหาเลี้ยงชีพแบบคนเมือง

2. กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้มีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงเสนอให้มีการแก้ไขช่องโหว่ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ

และ 3. ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กำหนดกรอบกฎหมายอย่างชัดเจนร่วมกับฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล

โดยสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ตัวแทนภาคประชาชนในภาคเหนือกล่าวว่า ยกตัวอย่างกรณีการสำรวจข้อมูลของภาคประชาชนที่ยืนยันว่า คนอยู่กับป่าอย่างรับผิดชอบได้ เช่น พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีชุมชนสร้างบ้านเรือนอยู่ในเขตอนุรักษ์และมีที่ทำกินติดเขตอนุรักษ์มากกว่า 3,000 ชุมชน มีชุมชนที่มีบ้านเรือนนอกเขตอนุรักษ์แต่มีที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์มากกว่า 8,000 ชุมชน ล้วนแล้วแต่มีการจัดระบบป่าอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น โดยบางพื้นที่มีการแบ่งป่าเป็น ป่าใช้สอย เพื่อใช้ประโยชน์จากป่า มีโครงการหยุดหาของป่าชั่วคราว มีป่าอนุรักษ์ ป่าความเชื่อที่ชาวบ้านสร้างข้อตกลงร่วมกัน และมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมปกป้องเพื่ออาศัยทรัพยากรระยะยาว

สรศักดิ์กล่าวต่อว่า อีกตัวอย่างหนึ่งจากการสำรวจแผนที่และพื้นที่ป่าในจังหวัดเชียงใหม่ของปี 2497 พบสภาพป่าธรรมชาติประมาณ 47 % ซึ่งช่วงนั้นประชาชนรุกที่กันมากมาย และไม่มีเกณฑ์การอยู่ร่วมกับป่า ส่งผลให้เกิดการสูญเสียป่าไปหลายส่วน แต่ปีปัจจุบันพบว่าหลังประชาชนเลือกรวมตัวเพื่ออนุรักษ์ป่า ออกกฎร่วมกัน พบว่ามีป่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 60 % สะท้อนว่าชาวบ้านมีศักยภาพในการจัดการป่าไม้ได้ดี

เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ยื่นหนังสือคัดค้านการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับ สปช. (11 มิ.ย.58)

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

11 มิถุนายน 2558 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เครือข่ายป่าชุมชน 6 ภาค ยื่นหนังสือคัดค้านการร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับสปช. เพราะมีหลายประเด็นที่ลดทอนอำนาจชุมชนในการช่วยดูแลป่า คือ หนึ่ง ไม่สะท้อนหัวใจของป่าชุมชนและไม่เรียนรู้จากบทเรียนการจัดการป่าไม้ที่เป็นสากล สอง ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ สาม ลิดรอนสิทธิชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่าและทำป่าชุมชนมาแต่ดั้งเดิม และ สี่ ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนและกติกากำกับที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังเสนอให้พิจารณาถอนร่างกฎหมายป่าชุมชนออก และเริ่มต้นจัดทำใหม่ โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ควรเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและอิสระ รวมถึงไม่ควรรีบเร่งจัดทำขึ้นเพียงเพื่อให้ได้มีกฎหมายขึ้นมา

ขณะที่สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงในการประชุม “วาระปฏิรูปที่ 11 : ปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน เพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” ว่า พร้อมรับฟังทุกความเห็น ยืนยันกฎหมายป่าชุมชนไม่ได้เอื้อประโยชน์หรือสร้างเงื่อนไขกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกอย่างเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำ ผืนป่า และประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ หลักการของป่าชุมชนไม่ใช่เอาคนออกจากป่า แต่ช่วยให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่า

ส่วนประเด็นเขตอนุรักษ์ จะยึดตามหลักสากลเพราะหากพื้นที่เหล่านี้หมดไป คงไม่สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้ และยังต้องมีการพิสูจน์สิทธิอย่างชัดเจนว่าป่ามาก่อนคน หรือคนมาก่อนป่า

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ซึ่งเป็นการเสนอขึ้นมาโดย สปช. ต่อจากนี้ยังมีขั้นตอนอีกมาก คือจะต้องส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

 

ไฟล์แนบ