ร่าง พ.ร.บ.แร่ ‘เพราะประโยชน์ของชาติ (นายทุน ข้าราชการ)? ที่สำคัญกว่าชีวิตคน’

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เสียงคัดค้านจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ก็เริ่มดังขึ้น ชาวบ้านหลายพื้นที่คัดค้านด้วยการออกแถลงการณ์มาแล้วหลายครั้งหลายหน หรือแม้กระทั่งเดินทางมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งการไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเรียกร้อง ให้ชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมาย และรอสภาที่มาจากเสียงของประชาชนเป็นผู้พิจารณา ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกฤษฎีกา   
ย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาแล้ว โดยมีการเสนอร่างกฎหมายแร่ถึง 4 ฉบับ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้งหมดยังไม่ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติใช้บังคับ ด้วยเหตุผลที่เป็นข้อดีในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนได้เห็นเนื้อหาของร่างกฎหมายก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จึงทำให้มีการทบทวนและชะลอเวลา ไม่เร่งรีบผลักดันมากเกินไป ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แร่ ที่ ครม.ทหารอนุมัติ กลับมีความเร่งรีบ
ร่างดังกล่าวมีความน่าสนใจดังนี้
 
เดือน ธันวาคม 2557 ภาคประชาชนแถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับ คสช.
–คณะกรรมการแร่มีแต่ข้าราชการ–
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ภายใต้การดูแลของอานันท์ ปันยารชุน ที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด ปี 2553 อธิบายถึงความล้มเหลวของการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศไทยว่า เกิดจากความด้อยประสิทธิภาพของกลไกการกำกับดูแลและข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างการบริหารจัดการ นับแต่โบราณกิจการเหมืองแร่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของระบบราชการตลอดมา การแก้ไขร่างกฎหมายแร่ฉบับล่าสุดก็ยังคงยืนยันในหลักการเดิม คือให้กิจการแร่อยู่ในการควบคุมของข้าราชการต่อไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการแร่ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจการดำเนินกิจการแร่ของประเทศ (ร่างมาตรา 8) จากเดิมไม่เกิน 10 คน เป็น 15 คน โดยสัดส่วนเป็นข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไปโดยตำแหน่ง 11 คน บุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 3 คน รวมทั้งประธานสภาการเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการแร่จังหวัด ซึ่งสัดส่วนก็มาจากข้าราชการในจังหวัดเป็นหลักอีกเช่นกัน โดยต้องเน้นย้ำว่าไม่มีสัดส่วนของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำเหมืองแร่อยู่ในคณะกรรมการเหล่านี้เลย
–โอนอำนาจให้ข้าราชการอนุญาตทำเหมือง–
ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองแร่ หรือ การให้ “ประทานบัตร” เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองจะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินคำขอละ 300 ไร่ แต่หากเป็นการขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเล และการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน (มาตรา 44 วรรคสอง) รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรสำหรับเหมืองใต้ดินได้ไม่เกินรายละ 10,000 ไร่ และสำหรับทำเหมืองในทะเลได้ไม่เกินรายละ 50,000 ไร่ (มาตรา 45)
 

ขณะที่การขอประทานบัตรตามร่างกฎหมายแร่ ของ คสช. จะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินคำขอละ 625 ไร่ การขอประทานบัตรในเขตอาชญาบัตรพิเศษ จะขอได้ไม่เกินคำขอละ 2,500 ไร่ การขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินจะขอได้ไม่เกินคำขอละ 10,000 ไร่ การขอประทานบัตรในทะเลจะขอได้ไม่เกินคำขอละ 50,000 ไร่ (ร่างมาตรา 41)

ดยผู้ออกใบอนุญาตทำเหมืองจะเปลี่ยนจากรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ การอนุญาตจะแบ่งออกเป็นสามประเภท ดังนี้

– การทำเหมืองประเภทที่ 1 ขนาดเล็กหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ผู้ออกประทานบัตร คือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น (นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล)

– การทำเหมืองประเภทที่ 2 ขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ ผู้ออกประทานบัตร คืออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
– การทำเหมืองประเภทที่ 3 ขนาดใหญ่หรือมีผลกระทบอย่างรุนแรงหรือมีมูลค่าสูง การทำเหมืองในทะเล การทำเหมืองใต้ดิน ผู้ออกประทานบัตร คือปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามการกำหนดพื้นที่ทำเหมืองข้างต้นแทบไม่มีความหมาย เนื่องจากผู้ออกประทานบัตรโดยอนุมัติของรัฐมนตรีสามารถกำหนดเขตประทานบัตรให้แก่เอกชนทำเหมืองเกินกว่าที่กำหนดได้ หากเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ (ร่างมาตรา 41) นอกจากนี้เอกชนคนเดียวสามารถมีประทานบัตรหลายฉบับ ซึ่งหากแต่ละฉบับมีเขตติดต่อกัน ให้ถือว่ามีเขตเหมืองแร่เดียวกัน (ร่างมาตรา 46) 
–ถ้าทำเหมืองชุมชนแค่รับฟัง แต่อาจค้านไม่ได้–
 
การพัฒนาทรัพยากรแร่ในประเทศไทยได้ทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่กลับไม่ได้เป็นบทเรียนให้ร่างกฎหมายแร่ ฉบับ คสช. แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ตัวอย่างในการยื่นขอประทานบัตร หากมีผู้ยื่นขอเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องประกาศการขอประทานบัตร โดยปิดประกาศเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ณ สำนักงานเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อครบกำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน (ร่างมาตรา 42) อาจนับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้ที่มีการจัดให้รับฟังความคิดเห็นชุมชน เพราะกฎหมายปัจจุบันไม่มี 
แม้กฎหมายแร่ปัจจุบันจะไม่มีการกำหนดให้รับฟังความคิดเห็น แต่ก็มีการบัญญัติประเด็นเดียวกันไว้อย่างน่าสนใจ คือ กำหนดว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ปิดประกาศการขอประทานบัตรแล้วหากไม่มีผู้โต้แย้งภายในยี่สิบวันนับแต่วันปิดประกาศ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะดำเนินการสำหรับคำขอนั้นต่อไป (มาตรา 49) กล่าวคือหากมีผู้โต้แย้งการขอทำเหมืองอาจทำให้คำขอนั้นถูกชะลอออกไป ซึ่งร่างของ คสช.ตัดขั้นตอนนี้ทิ้งไป
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าขั้นตอนการโต้แย้งอาจรวมอยู่ในการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ให้รัฐกับผู้ประกอบกิจการเหมืองร่วมมือกันเอาเปรียบชุมชน กฎหมายจึงควรบัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการการโต้แย้งหรือสิทธิอื่นๆ ของชุมชนให้ชัดเจน
ควรเน้นย้ำตรงนี้ว่า ในนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” นอกจากหมายถึงเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามกฎหมายนี้แล้ว ยังรวมถึงเอกชนผู้ดำเนินการแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
 
–เพื่อประโยชน์ของชาติ ต่อให้เป็นพื้นที่สงวนก็ทำเหมืองได้–
ทรัพยากรแร่สามารถสร้างรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมาก ความสำคัญของแร่สะท้อนผ่านกฎหมายปัจจุบันที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งอุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม แต่ทั้งนี้ให้คำนึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย (มาตรา 6 จัตวา)
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายแร่ ฉบับ คสช. ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรแร่เช่นกัน แต่ที่น่ากังวลคือร่างกฎหมายฉบับนี้ปฏิเสธสิ่งสำคัญ คือความจำเป็นที่จะต้องประเมินผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย (ร่างมาตรา 99) 
นอกจากนี้ เพื่อการพัฒนาและการส่งเสริมอุตสาหกรรมแร่ หากรัฐพบว่าพื้นที่ใดน่าจะมีแร่เหมาะสมเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง รัฐมนตรีอุตสาหกรรม…อาจให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จัดทำเอกสารที่จำเป็นในการขอประทานบัตร และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่นั้นเพื่อขอความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก่อนออกประทานบัตรให้ทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าว (ร่างมาตรา 129) 
ประเด็นที่น่ากังวลหากร่างมาตรา 129 มีผลบังคับใช้ คือ นักการเมือง ข้าราชการและเอกชนอาจสามารถร่วมมือทุจริตโดยใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณของรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตนเองและเครือข่าย กล่าวคือการอนุญาตให้รัฐทำการสำรวจแร่เอง พร้อมทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อออกประทานบัตรให้เอกชนทำเหมืองจะช่วยเอกชนลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนในกรณีที่สำรวจพื้นที่ไม่พบแหล่งแร่ ดังนั้นรัฐจะกลายเป็นผู้ที่ขาดทุนแทน 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไฟล์แนบ