สนช.แก้กฎหมายภาษี #1 กำหนดเวลาขอคืนภาษีให้ครอบคลุมและชัดเจน

2 ตุลาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อแก้ไขกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของประชาชนในการเสียภาษีอากร หรือภาษีเงินได้ ในมาตรา 63 มาตราเดียว ประเด็นสิทธิหน้าที่ในการยื่นคำร้องขอคืนภาษี ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเกินกว่าที่ต้องเสียงจริง
ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย >>>
ประมวลรัษฎากร กำหนดว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ให้รัฐ หรือที่เรียกว่า ภาษีอากร เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บภาษี กฎหมายจึงกำหนดให้นายจ้างที่เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทน มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่ผู้มีรายได้ต้องเสีย แล้วนายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีที่หักไว้เข้ารัฐ ตัวอย่างเช่น หากนาย ก.ได้รับค่าจ้าง 1,000 บาท อาจได้รับจริง 950 บาท และถูกนายจ้างหัก ณ ที่จ่ายเลย 50 บาท
ระบบการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้บังคับกับการจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าจ้างที่จ่ายเป็นรายครั้ง แต่นายจ้างซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีนั้นอาจไม่ทราบสิทธิหน้าที่ของผู้เสียภาษีโดยละเอียด ว่าจริงๆ แล้วควรต้องหักภาษีไว้หรือไม่ เพียงใด บางครั้งจึงอาจหักไว้เกิน ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถไปขอเงินส่วนนี้คืนได้
การขอคืนภาษี ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย >>>
กรณีที่จะต้องขอคืนภาษีที่ถูกนายจ้างหักไว้ ณ ที่จ่าย แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองกรณี
1.  กรณีที่ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ภาษีที่ถูกหักไว้นั้นเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสียจริงๆ เช่น กรณีที่ผู้เสียภาษีมีเหตุได้รับการลดหย่อนเพราะมีบุตร แต่นายจ้างไม่ทราบถึงเหตุลดหย่อนจึงหักภาษีไว้เกินกว่าที่ต้องเสียจริงๆ ส่วนที่ถูกหักเกินสามารถขอคืนได้
2.  กรณีผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่นายจ้างไม่ทราบ จึงหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ภาษีทั้งหมดที่ถูกหักไว้สามารถขอคืนได้
ข้ออ่อนของมาตรา 63 เดิม ก่อนการแก้ไข >>>
ประมวลรัษฎากร มาตรา 63 กำหนดเรื่องสิทธิหน้าที่ในการขอคืนภาษี กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 63  บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน ๓ ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป”
จะเห็นได้ว่า มาตรา 63 เดิม กำหนดเรื่องสิทธิของบุคคลที่จะขอคืนภาษีได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหักภาษี หรือนำส่งภาษีเกินกว่าที่ควรจะต้องเสีย และมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องภายในสามปี นับตั้งแต่สิ้นปีภาษีนั้น เช่น ถูกหักภาษีเกินในรอบปี 2557 ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นแค่กรณีแรกของการขอคืนภาษีเท่านั้น
แต่หากเป็นกรณีที่สอง ในกรณีบุคคลที่ถูกหักภาษีไปแล้ว มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดสิทธิหน้าที่ไว้โดยตรงว่ามีสิทธิได้รับภาษีคืนหรือไม่และต้องยื่นภายในกำหนดเวลาใด ทำให้อาจถูกตีความได้ว่า ผู้ที่ถูกหักภาษีทั้งที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์อาจยื่นคำร้องขอคืนภาษีเมื่อไรก็ได้โดยไม่มีกำหนดเวลา
แก้ไขมาตรา 63 กำหนดกรณีคนที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ให้ชัดเจน >>>
แม้ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา คนที่จะขอคืนภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีที่หนึ่งและกรณีที่สองจะปฏิบัติคล้ายกัน และใช้กำหนดเวลาเดียวกัน แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในสิทธิหน้าที่ สนช.จึงแก้ไขมาตรา 63 ใหม่ กำหนดว่า
                “มาตรา 63 บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
                บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี แต่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายแต่นำส่งแล้ว บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้วนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานภายในสามปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้”
มาตรา 63 ที่แก้ไขใหม่ กำหนดวิธีการขอคืนภาษีกรณีทื่หนึ่ง ไว้ในวรรคแรก และ กรณีที่สองไว้ในวรรคที่สอง ทำให้ไม่ต้องตีความอีกว่ากรณีผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จะมีสิทธิหน้าที่ในการขอคืนภาษีอย่างไร
ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำร้องอีก 3 เดือน >>>
นอกจากนี้มาตรา 63 ที่แก้ไขใหม่ ยังขยายเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีออกไปอีก 3 เดือน กล่าวคือ กฎหมายเดิมกำหนดให้ต้องยื่นคำร้องภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายของปีภาษี ส่วนกฎหมายใหม่กำหนดให้ยื่นภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ซึ่งหมายถึง วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป
ตัวอย่างเช่น หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในปี 2557 กำหนดเวลาที่ต้องยื่นรายการภาษี คือ ภายใน 31 มีนาคม 2558 และกำหนดเวลาต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีก็ คือ สามปีนับตั้งแต่วันที่  31 มีนาคม 2558 ก็คือ 31 มีนาคม 2561 ทั้งกรณีที่หนึ่ง และกรณีที่สอง ก็มีกำหนดเวลายื่นคำร้องขอคืนภาษีในวันเดียวกัน
แต่ในทางปฏิบัติ จริงๆ แล้ว การยื่นคำร้องขอคืนภาษีมักยื่นไปพร้อมกับการยื่นรายการภาษี ที่ต้องยื่นภายใน 31 มีนาคม 2558 เลย บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้จึงยังไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงทางปฏิบัติในการขอคืนภาษีมากนัก