อย่าปล่อยให้ สนช.ทำงานอย่างเดียวดาย!!!

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาดูแลงานนิติบัญญัติ แทนที่จะบริหารประเทศเพียงลำพัง รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 กำหนดให้สนช.มีจำนวนไม่เกิน 220 คน และห้ามผู้ที่เคยยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองมาเป็นสนช. สมาชิกส่วนใหญ่จึงประกอบไปด้วยทหาร และข้าราชการทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่และที่เกษียณอายุแล้ว หน้าที่ของสนช.คือการออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมาย ที่จะนำมาบังคับใช้กับคนทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน
สนช.ทำงานได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่มีฝ่ายค้านและไม่ต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ทำให้น่าเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายหลายฉบับที่กำลังจะเข้าสู่สนช. หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. หรือผ่านความเห็นชอบของ สนช.ไปแล้ว (ดู http://ilaw.or.th/NLAWatch) จะผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบทุกแง่มุมหรือไม่ จะกระทบต่อชีวิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ มากน้อยแค่ไหน? และประชาชนที่จะถูกกฎหมายบังคับใช้จะรู้จักเข้าใจกฎหมายเหล่านั้นหรือไม่
iLaw ขอเชิญชวนเพื่อนที่มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่สนช.มุ่งจะออกกฎหมาย (ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย) มาช่วยกันสอดส่องร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. และเขียนสรุปวิเคราะห์กฎหมายฉบับต่างๆ ที่ท่านสนใจส่งมาให้เราพิจารณา
กติกา คือ 
1. เลือกดูร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาหรือที่ผ่านพิจารณาของ สนช. (ดูร่างกฎหมาย http://ilaw.or.th/NLAWatch) มาเขียนสรุปประเด็นสาระสำคัญให้คนอื่นๆ ได้ติดตามรับรู้ร่วมกัน
2. เขียนวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย และผลกระทบของร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ จากประสบการณ์และมุมมองของท่าน  
3. ความยาวไม่เกิน 6 หน้ากระดาษ
4. เขียนให้เป็นภาษาชาวบ้าน คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้
ส่งบทความมาที่ อีเมล [email protected] บทความที่น่าสนใจจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.ilaw.or.th เพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะ และเจ้าของบทความจะได้รับค่าเรื่อง 500-1000 บาทตามแต่ความซับซ้อนและความละเอียดของเนื้อหา
ช่วยกันหน่อยๆ อย่าปล่อยให้ สนช.ทำงานอย่างเดียวดาย!!!