ประชาชนขอเพิ่ม 20 ข้อห้าม ใน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ….

ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. …. ที่มีการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยุค 2557 เป็นร่างที่ตกค้างมาจากสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขณะนั้นมีร่างอยู่ 4 ฉบับที่ถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน ได้แกร่างที่เสนอโดย 1. คณะรัฐมนตรี 2. นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง(พรรคชาติไทยพัฒนา) กับคณะ 3. นายเจริญ คันธวงศ์(พรรคประชาธิปัตย์) กับคณะ และ 4. นายสวรรค์  แสงบัลลังค์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,510 คน การรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้การพิจาณาร่างนี้ตกไป ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 สนช.พิจารณาและลงมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 200 : 0 งดออกเสียง 3 เสียง
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ภาคประชาชนนำโดยนางสาวปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร ในนามกลุ่มคนรักสัตว์เคลื่อนไหวก่อตั้งโครงการ A Call for Animal Rights Thailand รณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนผ่าน www.change.org/protectanimals เพื่อผลักดัน ข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการคุ้มครองสัตว์ ซึ่งในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 กลุ่มคนรักสัตว์และมูลนิธิเดอะวอยช์ เสียงจากเรา ที่มี "เก๋" ชลลดา เมฆราตรี เป็นประธาน ได้เดินทางมาที่รัฐสภาเพื่อยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 60,000 รายชื่อ พร้อมข้อเสนอ 20 ข้อเกี่ยวกับการกำหนดนิยามคำว่า “ทารุณกรรมสัตว์” ให้ครอบคลุมเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและการทารุณกรรมสัตว์ โดยมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ในฐานะตัวแทนกรรมาธิการพิจารณาร่างเป็นผู้รับเรื่อง
เหตุผลของผลักดัน
การละเมิดสวัสดิภาพสัตว์เป็นปัญหาที่สะสมมานานในประเทศไทย ประเทศไทยมีแค่กฎหมายอาญามาตรา 381, 382 ซึ่งระบุเพียงสั้นๆว่า "การทารุณสัตว์ที่ไม่ใช่เหตุจำเป็นหรือไม่ควร ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนและปรับไม่เกิน 1000 บาทเท่านั้น  ทำให้การทารุณสัตว์และการค้าสัตว์อย่างผิดกฎหมายยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนรักสัตว์ต้องการเห็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์ที่เข้มแข็ง เพราะกฎหมายปัจจุบันอ่อนมากในการดูแลสัตว์ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยใส่ใจ
“ที่ผ่านมามีสัตว์ถูกทารุณอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีแม่หมาท้องแก่พร้อมลูกถูกเจ้าของแขวนคอ พระตีหัวหมากะโหลกแตก ลูกช้างขอทานล้มกลางถนน คนแทง วางยา สาดน้ำร้อนหมาแมว หมาปอมถูกตัดขา หมาปั๊กถูกกระทำชำเราสาหัสปางตายหนองไหลไม่หยุด การลักลอบค้าเนื้อหนังสุนัข เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีกฎหมายฉบับนี้เพื่อปกป้องสัตว์เหล่านี้ เพราะเขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนเราทุกคน แต่เขาแค่พูดไม่ได้เท่านั้น” ปิยวรรณ กล่าว
 
สาระสำคัญของร่างที่อยู่ในสนช. ปัจจุบัน
1. นิยามสำคัญ
"สัตว์" ที่ได้รับการคุ้มครอง คือสัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน เลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร หรือเลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง เช่น สุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุกร เป็ด ไก่ หรือสัตว์เลี่ยงอื่น ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม 
แต่ไม่รวมถึง สัตว์ป่าตามกฏหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, สัตวน้ำตามกฏหมายว่าด้วยการประมง และสัตว์อื่นตามท่ีรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
"การทารุณกรรม" หมายถึงการกระทำหรือไม่กระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ทุกข์ทรมาน เจ็บปวด พิการ หรือเสียชีวิต
"การจัดสวัสดิภาพสัตว์" หมายถึงการเลี้ยงดูสัตว์ให้อยู่ในสถาพที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยดี ที่อยู่ดี อาหารและน้ำเพียงพอ
"เจ้าของสัตว์" หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองสัตว์
"องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์" หมายถึง คณะบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์
"คณะกรรมการ" หมายถึง คณะกรรมการป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์
2. คณะกรรมการป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ (หมวดที่ 1)
2.1 จำนวนคณะกรรมการ (มาตรา 5) 
คณะกรรมการมีทังหมด 15 คน ประกอบไปด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน ได้แก่ 1) ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ประธาน) 2) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน 3) อธิบดีกรมการศาสนา 4) อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ 5) อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ 6) อธิบดีกรมประมง 7) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 8) อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย 9) อธิบดีกรมอนามัย 10) อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช และ 11) ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อีก 4 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งจากคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ผู้แทนสมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามพ.ร.บ.นี้ 
2.2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (มาตรา 8) 
1) เสนอนโยบาย แผน และมาตรการในการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ต่อรัฐมนตรี
2) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการแก้ไขปรับปรุงกฏหมาย
3) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกประกาศตาม พ.ร.บ.นี้
4) กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.นี้
5) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฏหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
3. องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ (หมวด 2)
คณะบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือแสวงหากำไร มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ (มาตรา 11) หากปรากฏว่าองค์กรใดดำเนินกิจกรรมโดยฝ่าฝืนกฏหมาย มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือแสวงหากำไร หรือกระทำการขัดต่อความสวงเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้นายทะเบียน(ผู้ที่อธิบดีกรมปศุสัตว์แต่งตั้ง) มีเพิกถอนการขึ้นทะเบียนขององค์กรได้ 
4. การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (หมวด 4)
ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร (มาตรา 17) ทั้งนี้การกระทำดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ (มาตรา 18) 
(1) การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
(2) การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาด
(3) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บ และไม่สามารถรักษาชีวิตได้
(4) การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
(5) การฆ่าสัตว์เพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
(6) การกระทำอื่นใดที่กฏหมายให้สามารถกระทำได้
5.การจัดสวัสดิภาพสัตว์ (หมวด 5)
เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมตามประเภท ชนิด ลักษณะ และอายุของสัตว์(มาตรา 19) และห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตยโดยไม่มีเหตุอันควร (มาตรา 20)
6.พนักงานเจ้าหน้าที่ (หมวด  6)
เข้าไปสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้นได้โดยต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากดำเนินการช้าจะมีการทำลายหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิด (มาตรา 22 (2))
7.บทลงโทษ (หมวด 7)
ผู้ใดฝ่าฝืนทารุณกรรมสัตว์ตามมาตรา 17 (มาตรา 28) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อบกพร่องของร่างที่อยู่ใน สนช.
กลุ่มคนรักสัตว์ต้องการกฎหมายที่จัดการคนกระทำผิดได้อย่างรัดกุมเด็ดขาด และเป็นกฎหมายที่เข้มแข็งน่าเกรงขาม โดยเฉพาะมาตรา 17 ที่ระบุเพียงสั้นๆ ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร" ซึ่งมีเนื้อหากว้างๆ นอกจากนี้ร่างดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องจำนวนมาก เช่น ไม่รวมสัตว์ป่าที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่มีข้อกำหนดห้ามบริโภค และค้าเนื้อหนังสุนัขและแมว และไม่มีการระบุเรื่องข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์ที่ชัดเจน ทั้งหมดเหล่านี้ถือว่ากว้างมาก หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาก็จะกลายเป็นเพียงแค่เศษกระดาษเท่านั้น
 
ภาพจาก: http://chn.ge/1wCauUW
 
ข้อเสนอภาคประชาชน “เพิ่มข้อห้ามการทารุณสัตว์ 20 ข้อ”
ภาคประชาชน เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการทารุณกรรมสัตว์และการกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ทั้งสิ้น
(1) การเฆี่ยน ทุบตี ฟัน แทง เผาลวก หรือทำการใดๆให้สัตว์ได้รับความทุกข์ ทรมาน พิการหรือตายโดยไม่จำเป็น
(2) ใช้งานสัตว์ในการทำผิดกฎหมาย ใช้งานจนเกินสมควรแก่ประเภท อายุ โดยเฉพาะสัตว์อ่อนแอ เจ็บป่วยและชรา เช่น นำช้างหรือหมามาขอทาน
(3) ใช้ยาหรือสารพิษที่ทำให้สัตว์ได้รับอันตรายหรือทรมานหรือตาย เช่นสารกระตุ้น โด๊บให้สัตว์ครึกครื้น หรือทำร้ายร่างกาย
(4) ใช้พาหนะขนหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ไม่เหมาะสม ทำให้สัตว์ได้รับการทุกข์ทรมาน บาดเจ็บ ตาย
(5) เลี้ยงกักขังในที่แคบเเออัด จนทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน บาดเจ็บ หรือตาย
(6) นำสัตว์ที่เป็นอริกันไว้ในที่เดียวกันเช่น กระต่ายกับงู ฯลฯ
(7) พรากแม่พรากลูกที่ยังไม่หย่านม นอกจากมีเหตุจำเป็น เช่นลูกหรือแม่สัตว์เป็นโรคติดต่อ
(8) ทอดทิ้งสัตว์เพื่อให้พ้นภาระ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เคยถูกเลี้ยงประเภทใด ผิดกฎหมายทั้งหมด
(9) ทำให้สัตว์เลี้ยงในครอบครองทุกข์ทรมานโดยการอดข้าวอดน้ำ
(10) เจ้าของสัตว์ไม่ให้การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงในยามเจ็บป่วย
(11) ใช้ยาพิษเพื่อให้สัตว์ได้รับการทุกข์ทรมานหรือตาย
(12) การกระทำใดๆ ให้สัตว์ต้องพิการหรือเสียรูปร่างจากเดิมโดยไม่จำเป็น
(13) การนำสัตว์มาประลองต่อสู้กันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
(14) ฆ่าหรือทำร้ายสัตว์โดยลุแก่โทสะ
(15) พันธนาการเช่น ล่าม ผูก ขังไว้นานจนเกินไปและใช้เครื่องพันธนาการที่ไม่เหมาะสม
(16) ใช้สัตว์เลือดอุ่นที่มีชีวิตอยู่เป็นอาหารสัตว์อื่นโดยมีทางเลือกอื่นที่เป็นอาหารได้
(17) บริโภคสัตว์ทั้งที่มีชีวิตและลมหายใจอยู่ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
(18) สังวาสหรือใช้สัตว์ประกอบกามกิจ
(19) สนับสนุนหรือมีส่วนให้ผู้อื่นกระทำการทารุณกรรมสัตว์
(20) การกระทำอื่นๆ ตามกำหนดในกฎกระทรวงหรือเนื้อหาด้านบนทั้งหมดกำหนดให้นับเป็นการทารุณกรรมสัตว์ที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น
บทลงโทษของผู้กระทำผิด
ภาคประชาชนเสนอให้บทลงโทษมีความชัดเจนมากขึ้น โดยผู้ใดกระทำทารุณต่อสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ อีกทั้งถ้ามีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า หากสัตว์ยังอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด อาจจะถูกทารุณหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพไม่เหมาะสม ศาลอาจสั่งริบสัตว์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดในคดีนั้นให้แก่กรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
สุดท้าย ปิยะวรรณกล่าวถึงการเข้ามาร่วมผลักดันข้อเสนอพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ว่า “นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะมีกลไกทางกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อมาดูแลสัตว์ ข้อห้ามทั้ง 20 ข้อที่เสนอเพื่อให้กฎหมายมีบรรทัดฐานชัดเจน ไม่ใช้เพียงดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ อันเป็นการป้องกัน การเล่นลิ้นของผู้กระทำความผิด และความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่เปิดช่องโหว่เอื้อผลประโยชน์ให้คนหากินกับสัตว์อย่างไร้มนุษยธรรม กระทำชำเราสัตว์ หรือพวกทารุณกรรมสัตว์อีกต่อไป”
ข้อมูลอ้างอิง
ไทยรัฐออนไลน์, 29 ต.ค. 'เก๋ ชลลดา' บุกสภา ยื่น 6 หมื่นชื่อ ดัน พรบ.คุ้มครองสัตว์, เข้าถึงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2557.
ไฟล์แนบ