คุยกับครูเรื่องปฏิรูปครู : จำนวนครูไม่ได้ขาด เงินเดือนไม่ได้น้อยเกินไป

ท่ามกลางบรรยากาศถกเถียงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ คือ เรื่องคุณภาพครู ปริมาณครูและค่าตอบแทนครู "อาจารย์นิว" หรือ อาจารย์ธราดล รานรินทร์ อาจารย์หนุ่มไฟแรงเอกสังคมศึกษา จากโรงเรียนสวนอนันต์ ข้าราชการครู คศ.1 บัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีชื่อเสียงจากการแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้เทพเจ้ากรีก และอาณาจักรโรมัน จะมาแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และข้อคิดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้
ปัจจุบันเรามีครูเพียงพอกับจำนวนนักเรียนหรือเปล่า?
ข้าราชการครูทั้งประเทศมีประมาณสามสี่แสนคน ไม่นับครูอัตราจ้างของแต่ละโรงเรียนและครูในโรงเรียนเอกชน ปัจจุบันไม่ใช่ภาวะขาดแคลนครู เพราะมีการบรรจุครูใหม่อยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตามคนที่เรียนจบครูแล้วสอบบรรจุข้าราชการครูไม่ได้ก็มีจำนวนมาก บางส่วนก็สอบกพ.ภาคก. ภาคข.ไม่ผ่าน เพราะอัตราการแข่งขันตอนสอบบรรจุข้าราชการสูง ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้บรรจุข้าราชการก็ไปเป็นครูโรงเรียนเอกชน หรือเป็นครูของกทม.
ส่วนโรงเรียนต่างจังหวัดที่มีขนาดเล็กซึ่งมีครูไม่กี่คนน่าจะมีปัญหา เนื่องจากการใช้วิธีการนับอัตราครูตามอัตราหัวนักเรียน ครูหนึ่งคนต่อนักเรียนสามสิบคน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งมีครูแค่ 2-3 คน ซึ่งต้องทำเกือบทุกอย่างในโรงเรียน เช่น ต้องทำงานธุรการ ทำงานบริหาร ซึ่งแบบนี้ก็จะกระทบต่อคุณภาพการสอนอย่างแน่นอน
ดังนั้นภาวะขาดแคลนครูถ้าจะเกิดขึ้นจะอยู่ในเฉพาะจังหวะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมหรือไม่มีการบรรจุใหม่เท่านั้น เช่น ย้อนกลับไปช่วงที่ประเทศไทยเป็นหนี้ IMF ไม่มีการบรรจุข้าราชการครูใหม่ประมาณ 10 ปี ทำให้ขาดแคลนครูมาก 
ระบบเงินเดือนครูปัจจุบันเป็นอย่างไร? เงินเดือนครูน้อยเกินไปหรือเปล่า?
ปัจจุบันคนที่จบปริญญาตรีครุศาสตร์เริ่มบรรจุข้าราชการใหม่ จะเป็นตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” ได้เงินเดือนประมาณ 15,800 บาท เงินเดือนจะขึ้นเป็นขั้น ขั้นละ 400-500 บาท ทำงานไปสองปีจะเลื่อนเป็น ครู “คศ.1” ได้เงินเดือนขึ้นขั้นละประมาณ 1,000 บาท ถ้าระดับครูสูงสุด คือ “คศ.5” ได้เงินเดือนขึ้นขั้นละประมาณ 3,000-4,000 บาท การปรับขั้นปรับปีละสองครั้ง คนที่ผลงานดีก็อาจได้สองขั้น
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมสวัสดิการต่างๆ ของข้าราชการ และเงินประจำตำแหน่งหรือเงินวิทยะฐานะ หากเป็นครู “คศ.2” ขึ้นไปจะมีเงินประจำตำแหน่งอีก ครูคศ.2 ได้ 3,500 บาท คศ.3 ได้ 10,000 บาท คศ.4 ได้ 20,000 บาท คศ.5 ได้อีกเกือบ 30,000 บาท ในกรณีถ้าเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาก็มีโอกาสได้ขั้นเร็วขึ้นอีก 
ถ้ารับราชการเรื่อยๆ ประมาณ 20 ปีโดยไม่ทำผลงานพิเศษอะไร ก็มีโอกาสได้ค่าตอบแทนอยู่ในอัตราประมาณ สี่หมื่นกว่าหรือห้าหมื่นบาทต่อเดือน ถ้าขยันทำผลงาน และได้เลื่อนขั้นเร็วเงินเดือนครูสูงสุดที่เป็นไปได้คือ 69,810 บาท 
นอกจากนี้อัตราเงินเดือนครูนั้นก็ยังเปลี่ยนแปลงไปได้ตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละสมัย อัตราเงินเดือนถูกปรับปรุงครั้งล่าสุดสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตอนนั้นปรับอัตราทุกประเภทให้เพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีนโยบายปรับเงินเดือนขั้นต่ำคนจบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท เงินเดือนครูก็ปรับขึ้นตามอีก ส่วนเงินประจำตำแหน่งถูกปรับปรุงครั้งล่าสุดช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ หลังการรวมตัวประท้วงของครูคัดค้านการโอนโรงเรียนไปขึ้นกับท้องถิ้นทำให้ได้เงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นสองเท่า 
"ในรอบสามถึงสี่ปีมานี้หลังมีการปรับหลายครั้งก็รู้สึกว่าเงินเดือนครูไม่ได้น้อยแล้ว แทบทุกรัฐบาลมีนโยบายช่วยครูและปรับอัตราค่าตอบแทนให้อยู่เป็นระยะ แม้อัตราเงินเดือนอาจจะยังน้อยกว่าการทำงานเอกชน แต่ถ้าเทียบกับการใช้จ่าย ค่ากินอยู่ก็ถือว่าโอเคเลย จากเงินเดือนตอนนี้อาชีพครูเริ่่มจะอ้างเรื่องความยากจนไม่ได้แล้ว ถ้าคนที่อยากเป็นครูจริงๆ เงินเดือนแค่นี้ไม่น้อยนะ" อาจารย์ธราดลกล่าว
ตารางอัตราเงินเดือนครู จาก ganook.com
เงินเดือนที่ได้กับงานที่ต้องรับผิดชอบ เทียบกันแล้วคุ้มค่าหรือเปล่า?
ภาระงานตามปกติของครู คือ ต้องมาถึงโรงเรียนก่อนแปดโมงเพื่่อมาคุมเข้าแถว หลังจากนั้นก็สอน ถ้าเป็นวันปกติสามโมงหรือสี่โมงเย็นก็เลิกงาน แต่ถ้าเป็นช่วงมีการสอนชดเชย เช่น หลังจากหยุดน้ำท่วมก็อาจต้องสอนถึงหกโมงเย็น เมื่อว่างจากการสอน ครูก็ต้องมีภาระเตรียมสื่อการสอน หรือศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเปิดสอนวิชาใหม่ตามนโยบายรัฐบาล เช่น วิชาอาเซียน วิชาหน้าที่พลเมือง
ภาระการตรวจข้อสอบและตรวจการบ้านขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรียนว่าใหญ่หรือเล็กและมีนักเรียนจำนวนเท่าไร ปัจจุบันโรงเรียนที่สอนอยู่คือโรงเรียนสวนอนันต์ ต้องดูแลนักเรียนระดับหนึ่งไม่ถึงร้อยคนภาระตรงนี้ก็ไม่หนักมาก
อย่างไรก็ตามครูบางคนต้องรับผิดชอบกิจกรรมชุมนุมของนักเรียน บางคนต้องไปดูแลงานอื่น เช่น งานธุรการ งานบรรณารักษ์ มันวัดลำบากมากว่าครูทำงานคุ้มค่ากับเงินเดือนหรือเปล่า มีความจริงอยู่ส่วนหนึ่งว่าข้าราชการทำงานเช้าชามเย็นชาม เพราะต่อให้ไม่ทำอะไรเงินเดือนก็ขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งบางคนก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ต้องดูแลนักเรียน ต้องเข้าเวรตอนกลางคืน ต้องไปค่ายลูกเสือ ไปเยี่ยมค่ายรด. ไม่มีวันหยุด ค่าโอทีก็ไม่ได้ งานแบบนี้ถ้าไม่ใช่คนขี้เกียจหนีงานก็เป็นงานที่ครูต้องทำ
ทำไมครูชอบไปสอนพิเศษนอกเวลา
ครูหลายคนเงินไม่พอกับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ซึ่งเป็นภาระที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ถ้าไม่สอนพิเศษเลยก็อยู่ได้ แต่ต้องอดออมให้มากขึ้น เงินเดือนครูในระดับนี้ไม่ถึงกับบีบให้ครูต้องสอนพิเศษเพื่อความอยู่รอด แต่ก็เข้าใจได้ว่าครูบางคนมีภาระทางครอบครัว ถ้าสอนพิเศษด้วยก็มีโอกาสใช้จ่ายได้คล่องขึ้น
จากประสบการส่วนตัว เห็นว่าถ้าคนที่อยากเป็นครูอยู่แล้ว การสอนในห้องจะสอนเต็มที่ได้ดีมาก ถึงไปสอนพิเศษด้วยก็ไม่มีปัญหาเลย แต่คนที่ถูกกล่าวหาว่าสอนในห้องไม่ดีแต่ไปสอนพิเศษแล้วสอนดี ก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้าใจได้ เช่น การเรียนการสอนในห้องอาจจะมีเวลาน้อยเกินไป หรือนักเรียนในห้องมีจำนวนมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบการสอนพิเศษจะมีนักเรียนน้อยกว่าทำให้นักเรียนมีโอกาสซักถามได้มากกว่า
ระบบปัจจุบัน “ผลิตครู” ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานหรือเปล่า
ปัญหาเชิงระบบในการผลิตครูก็คือ นักศึกษา(หรือคนที่จะกลายเป็นครูในอนาคต)หนึ่งคนมีหนึ่งค่าหัว ยิ่งพอมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็เพิ่มจำนวนนักศึกษาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางแห่งเพิ่มจนนักศึกษาคณะครุศาสตร์แต่ละรุ่นในเอกหนึ่งๆ มีหลายร้อยคน แค่พูดถึงตัวเลขก็เห็นปัญหาแล้ว สมัยก่อนมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดรับไม่จำกัดจำนวน ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนนักศึกษาที่่เยอะส่งผลต่อคุณภาพของคนที่จะไปเป็นครู แต่สมัยนี้ทุกแห่งรับจำกัดจำนวนหมดแล้ว
ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีการผลิตครู และมีคณะอื่นๆ อยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย จะมีผลในแง่คุณภาพทางวิชาการ เพราะครูสามารถไปเรียนวิชาการกับคณะอื่นได้ ครูวิทยาศาสตร์ก็ได้เรียนกับคณะวิทยาศาสตร์ ครูสังคมก็ได้เรียนกฎหมายกับคณะนิติศาสตร์ ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่ง ที่ไม่ได้มีคณะหลากหลายการสอนความรู้เฉพาะทางก็อาจมีคุณภาพแตกต่างไป
ตรงกันข้ามมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้ผลิตครูออกมาจากคณะครุศาสตร์ แต่ผลิตครูที่จะสอนแต่ละวิชาออกมาจากคณะนั้นๆ โดยตรง เช่น ครูวิทยาศาสตร์ก็เป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์เลย ครูสังคมก็ไปเรียนกับคณะสังคมศาสตร์ แบบนี้ก็จะอาจจะแตกต่างกันในเรื่องวิชาความเป็นครูหรือจิตวิทยาการสอน ทำให้ครูที่ผลิตออกมามีมาตรฐานไม่เหมือนกัน
ตัวอย่าง “ทหารส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนเตรียมทหารทั้งประเทศ ก็ผลิตออกมาคล้ายๆ กัน แต่ระบบการผลิตครูมีหลากหลาย คุณภาพครูก็นัวมั่วกันไปหมด มันก็เป็นปัญหาเชิงระบบเหมือนกัน” อาจารย์ธราดลแสดงทัศนะเชิงเปรียบเทียบ
ทำไมคนเรียนเก่งไม่เลือกเป็นครู
มีทัศนคติในสังคมที่ คนเรียนเก่งก็อยากเรียนหมอ หรือวิศวะฯ แต่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่จริงเท่าเมื่อก่อน ดูจากผลแอดมิชชั่นคะแนนคณะครุศาสตร์ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ความนิยมของคณะนี้จะขึ้นๆ ลงๆ เป็นวัฏจักร ในทศวรรษนี้วิชาชีพครูมาแรงขึ้น ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นและเงินเดือนก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
“ในแง่ของความเคารพ จะมีสักกี่วิชาชีพที่คนไหว้ได้อย่างสนิทใจ และไม่ใช่ไหว้แค่ตอนเด็ก คนที่จบไปเป็นใหญ่เป็นโตก็ยังหันกลับมาไหว้ครู เสน่ห์ของวิชาชีพครูยังมีและเมื่่อบวกกับผลประโยชน์ที่มากขึ้นก็ทำให้คนอยากมาเข้าสู้เส้นทางสายนี้กันมากขึ้น” อาจารย์ธราดลกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
คนเรียนจบครูส่วนใหญ่ไปเป็นครูกันหรือเปล่า
จากประสบการณ์ที่เห็นมา คนที่มาเป็นข้าราชการครูจริงๆ น่าจะประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ได้ ที่เหลือส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในสายการสอน เช่น ไปสอนมหาวิทยาลัย ไปสอนโรงเรียนสาธิต หรือไปเป็นครูสังกัดท้องถิ่น ไปสอนพิเศษเป็นติวเตอร์ หรือไปจัดการศึกษานอกระบบ ที่เหลืออีกประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่ไปทำงานนอกสายเลย เช่น ไปเป็นแอร์โฮสเตส เข้าวงการบันเทิงก็มี ที่น่าสนใจ คือ มีค่านิยมว่าเป็นครูยากจน ทำอาชีพอื่นรวยกว่า หลายคนจึงไปลองทำอาชีพอื่นสักพัก แต่สุดท้ายกลับมาเป็นครูก็มี
เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่คนเรียนจบครูจะเป็นครูหรือไม่ คือระบบการเรียนการสอน ในแง่นี้คณะครุศาสตร์มีการหล่อหลอมให้อยากเป็นครูได้มากเหมือนกัน บางคนจากที่มีใจอยากเป็นครูแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ พอเรียนจบใจอยากเป็นครูเต็มร้อยก็มี การไปฝึกสอนเหมือนเป็นการวัดใจ บางคนพอไปฝึกสอนเสร็จแล้วจากที่ไม่อยากเป็นก็อยากเป็นครูขึ้นมาเลย บางคนไปฝึกสอนแล้วไม่อยากเป็นก็มีเช่นกัน 
ครูถูกบังคับให้ทำผลงาน ในระบบประเมินผลเยอะเกินไปหรือเปล่า
ปัจจุบันมีหน่วยงานอิสระที่มาทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบคุณภาพการศึกษาหลายระบบ คือ สถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) คอยออกข้อสอบวิชาพื้นฐานวัดคุณภาพนักเรียนเมื่อจบช่วงชั้น มีการวัดผลตามพื้นที่การศึกษา หรือการสอบ LAS ที่ต้องกำหนดวันสอบเพิ่มอีก และยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งชื่อ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) คอยทำหน้าที่ประเมินโรงเรียนทุกๆ ห้าปี มีมาตรฐานวัด 16 มาตรฐานถ้าโรงเรียนไหนตกแค่มาตรฐานเดียวก็คือประเมินไม่ผ่าน 
ระบบการประเมินที่ซ้ำซ้อน ทำให้เด็กนักเรียนต้องมีภาระการสอบเพิ่ม และมีผลทำให้ทั้งครูและเด็กต้องเครียดกับการประเมิน ยิ่งโรงเรียนขนาดเล็กแทนที่จะช่วยทำให้โรงเรียนนั้นมีมาตรฐานมากขึ้นกลับสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้หดหู่เข้าไปอีก เพราะครูที่มีไม่กี่คนก็ยังต้องทำระบบการประเมินให้ครบ 16 มาตรฐานเหมือนโรงเรียนใหญ่ มาตรฐานที่ใช้ประเมินโรงเรียน มีการกำหนดให้ครูต้องทำวิจัยเรื่่องการเรียนการสอน ต้องทำแผนการสอน อาจไม่ได้หนักหนามากเกินไปแต่ก็ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีภาระงานใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เรียกได้ว่า นับวันภาระครูยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการประเมินเหล่านี้ถูกครูวิพากษ์วิจารณ์มากว่าควรยกเลิกได้แล้ว 
"โดยส่วนตัวเห็นว่า ภาระที่เพิ่มขึ้นของครูมีผลกระทบต่อการเรียนการสอนมาก สมัยก่อนการสอนนักเรียนมีความสุขมาก แต่พอปัจจุบันต้องนั่งพิมพ์เอกสารทั้งวันทั้งคืน พอถึงเวลาประเมินโรงเรียนต้องวิ่่งกันตลบอบอวลหาเอกสารนู่นนี่ สอนเด็กไม่มีความสุขแล้ว ถ้าแต่ละวันครูต้องอยู่กับเอกสารมากๆ แล้วความรับผิดชอบต่อนักเรียนจะไปอยู่ตรงไหน?" อาจารย์ธราดลสะท้อน
การได้เป็นแฟนพันธุ์แท้เทพเจ้ากรีกและอาณาจักรโรมัน เป็นความเก่งส่วนตัวหรือเป็นผลผลิตของระบบการศึกษา
เชื่อว่า ทุกคนในระบบการศึกษาปัจจุบันมีโอกาสเก่งได้ ทุกอย่างเป็นปัจจัยร่วมกัน ระบบการศึกษา ความขยันส่วนตัว และครอบครัวต่างมีส่วนวสำคัญ สำหรับผมถ้าครอบครัวไม่สนับสนุนและไม่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจอยู่บ้างก็คงไม่มีโอกาสมาถึงวันนี้ ความรู้เรื่องกรีกโรมันที่ศึกษาก็ได้มาจากการอ่านหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียนสมัยที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา พอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้เลือกเรียนวิชาที่สนใจได้ก็ช่วยต่อยอดไปอีก อย่างน้อยที่สุดถ้าระบบการศึกษาดี มีแหล่งการเรียนรู้ มีครูที่ดี ต่อให้นักเรียนมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พร้อมก็ยังมีโอกาสเรียนรู้ได้ แต่อาจจะเหนื่อยกว่าเท่านั้น
ระบบผลิตครูในปัจจุบัน มีอะไรควรปฏิรูปบ้าง
ระบบผลิตครูควรมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ต้องเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น วิชาสังคม ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต้องแตกต่างกัน ครูควรต้องมีความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ครูที่นครศรีธรรมราชก็ต้องรู้จักพระธาตุเมืองนคร ครูที่เชียงใหม่ต้องรู้เรื่องพระธาตุดอยสุเทพ เพราะฉะนั้นการผลิตครูให้เหมือนกันหมดก็ไม่ใช่ดี แต่มาตรฐานต้องเท่ากัน เช่น แหล่งการเรียนรู้ต้องหลากหลายเหมือนกัน ความรู้พื้นฐานต้องมีแหมือนกัน การสนับสนุนผลงาน การสร้างขวัญกำลังใจต้องมีเท่ากัน แบบเรียนกลางทุกคนต้องรู้เท่ากันก่อนแล้วค่อยแยกแบบเรียนเฉพาะถิ่น ปัจจุบันเราใช้ระบบแบบเรียนตามสำนักพิมพ์ซึ่งแต่ละโรงเรียนใช้หนังสือจากคนละสำนักพิมพ์ซึ่งมีเนื้อหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนสำนักพิมพ์แต่ละครั้งอาจทำให้ครูสับสนได้
ปัจจุบันการเรียนครูต้องใช้เวลา 5 ปี รวมฝึกสอน แต่ได้ยินมาว่าครุสภากำลังเตรียมกำหนดระบบใหม่ให้คนที่เรียนจบปริญญาตรีแล้วต้องสอบใบประกอบวิชาชีพครูอีกต่างหาก ซึ่งอาจช่วยให้มาตรฐานเท่ากัน แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย
การผลิตครูควรจะคำนึงถึงความเป็นคนด้วย คนแต่ละคนที่เรียนในวิชาชีพนี้มีฐานชีวิตไม่เท่ากัน อย่ามองแต่ว่าจะวางระบบที่ดีแล้วผลิตคนให้ออกมาเป็นบล็อกๆ เหมือนสินค้าของโรงงานแล้วเอาระบบประเมินมาตรฐานเดียวมาจับ ชีวิตมนุษย์นั้นซับซ้อนที่สุด คนแต่ละคนไม่ใช่โปรแกรม คนที่นั่งเรียนมาด้วยกันความรู้เท่ากัน ชีวิตก็อาจจะต่างกัน มีผลต่อการทำงาน การผลิตครูหรือบัณฑิตสาขาไหนก็ตามควรคำนึงถึงคนด้วย อย่าวัดเกณฑ์ของครูแบบเป็นกรอบสี่เหลี่ยมมากเกินไป
“วันหนึ่งคำว่าผลิตครูก็จะหายไป เหลือแต่คำว่าสร้าง ถ้าใช้คำว่าผลิตก็จะนึกถึงกระบวนการโรงงาน แต่ถ้าใช้คำว่าสร้างคน โดยคำนึงถึงความเป็นคนจริงๆ ถ้าสร้างครูโดยคำนึงถึงความเป็นคน วันหนึ่งครูเหล่านั้นก็จะไปสร้างนักเรียนโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของนักเรียนด้วยเช่นกัน” อาจารย์ธราดลกล่าวอย่างมีอารมณ์ร่วมจากประสบการณ์ตัวเอง
แนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่มองเห็นและอยากเสนอ
“สังคมไทยต้องไม่โยนประเด็นการปฏิรูปการศึกษามาให้คนในแวดวงการศึกษาอย่างเดียว” อาจารย์ธราดลกล่าวทันทีทันใด
แม้ครูจะสอนเด็กในโรงเรียนอย่างดี แต่เด็กอยู่กับครูไม่กี่ชั่วโมงแต่อยู่บ้านตลอดชีวิต เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ ครอบครัวจึงเป็นส่วนที่สำคัญ ภาคส่วนของการบังคับใช้กฎหมายก็สำคัญ ถ้าไม่อยากให้นักเรียนไปยุ่งกับอบายมุขก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคส่วนของสังคมวัฒนธรรมต้องช่วยกันทำให้คนภูมิใจกับสังคมด้านดีที่มากกว่าการกราบการไหว้ที่่สวยงาม ให้นักเรียนมองเห็นเส้นทางที่ดีที่สามารถไปได้
นักเรียนเองก็ควรมีส่วนในการเสนอจากมุมมองของเขาเอง ครูทุกคนไม่ได้อยู่ในทุกสังคม อย่างเช่น ตนไม่เคยอยู่ในสายนักเลงที่มีเรื่องกันบ่อยๆ ก็ไม่ได้เข้าใจทุกอย่างในมุมนั้น ดังนั้น การที่เด็กเสนอสิ่งที่อยากได้จากมุมมองตัวเอง เราก็จะได้รู้ว่าเด็กกำลังเผชิญกับอะไรอยู่