ตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย กับประชาธิปไตยแบบ “ไทยๆ”

ที่มา: ข่าวสด

 

"ประเทศตะวันออกไม่เหมาะกับประชาธิปไตยอย่างตะวันตก" คำกล่าวนี้เป็นเพียงวาทกรรมหรือความจริงยังเป็นที่ถกเถียงกัน  แต่ถ้าเราจะพิสูจน์ว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ยังมีหลักการ คุณค่า ความเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เราสามารถทำได้

วิธีการที่จะวัดประชาธิปไตย ตามเกณฑ์ของสถาบันพระปกเกล้า องค์กรที่ทำหน้าที่ วิจัย การจัดการศึกษาอบรมและเผยแพร่ให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองการปกครอง 

แบ่งออกเป็น  5 ด้าน ดังนี้

– กระบวนการเลือกตั้งและความหลากหลาย 

– หน้าที่ของรัฐบาล

– การมีส่วนร่วมทางการเมือง

– วัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย

– เสรีภาพพลเมือง

ตัวชี้วัดที่ 1 : กระบวนการเลือกตั้งและความหลากหลาย  โดยจะวัดจากความเป็นอิสระในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและหัวหน้ารัฐบาล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระในการออกเสียงและมีทางเลือกได้หลากหลาย ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ประชาชนทุกคนและพลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงตำแหน่งในรัฐบาลหรือมีอิสระในการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและองค์กรภาคพลเมืองได้ 

สำหรับประเทศไทยเนื่องจากตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ไม่ ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง และกำหนดให้สถาบันทางการเมืองมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น อาทิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดังนั้น หากนำเกณฑ์ข้อนี้มาวัดจะได้ค่าเป็นศูนย์ และเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการเลือกผู้แทน การใช้การแต่งตั้งเช่นนี้เป็นผล ให้ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งทางการเมือง หรือจัดตั้งกลุ่ม พรรคทางการเมืองได้อย่างเสรีอีกด้วย

ตัวชี้วัดที่ 2 : หน้าที่ของรัฐบาล โดยจะวัดจากระบบการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารงานของรัฐบาล ความเป็นอิสระจากอิทธิพลของกองทัพ ฝ่ายความมั่นคง หรือกลุ่มทางเศรษฐกิจ ศาสนา หรือ กลุ่มผู้มีอำนาจในประเทศ และรัฐบาลเปิดเผยโปร่งใสเพียงพอต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชนหรือไม่ 

รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ อำนาจสูงสุดเป็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ และเปิดช่องให้ คสช. เข้ามาแทรกแซงกลไกทางการเมืองได้ เช่น อำนาจในทางบริหาร คสช.สามารถเรียกประชุมกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้ความเห็นในเรื่องใดได้ อำนาจในทางนิติบัญญัติ คสช. สามารถทำหน้าที่เห็นชอบกฏหมายเองได้โดยไม่ต้องผ่านสนช. นอกจากนี้ คำสั่งของหัวหน้า คสช. ยังถูกรับรองให้ชอบด้วยกฎหมายในทุกกรณี ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นอิสระจากกองทัพ และที่สำคัญคือหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวกัน 

อีกประเด็นหนึ่งในการตรวจสอบถ่วงดุล รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจ คสช. เสนอให้ปลดนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี สามารถปฎิเสธไม่ตอบกระทู้ จากสนช. ได้ ในกรณีการถอดถอดสมาชิกสนช. สมาชิกไม่ น้อยกว่า 25 คน สามารถยื่นต่อประธานสนช. และใช้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งในการถอดถอน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนผู้แทนสนช. จะเห็นว่าเป็นทหารเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ดังนั้นการถอดถอนสมาชิก สนช. จึงค่อนข้างยากหรือหากเป็นไปได้ ผลลัพธ์จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเป็นสำคัญ 

และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยและตรวจสอบความโปร่งใส่ จะนำไปอธิบายในส่วนสุดท้ายเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะรัฐบาลชุดนี้มีมาตรการควบคุมการเผยแพร่ และเปิดเผยข้อมูลของสื่อมวลชน

ตัวชี้วัดที่ 3 : การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยจะวัดจากการมีส่วนร่วมของคน เชื้อชาติ ศาสนา และคนกลุ่มน้อยต่างๆ ว่ามีสิทธิมีเสียงในกระบวนการทางการเมือง ระดับของการมีส่วนร่วมทางการเมือง สมาชิกของพรรคการเมืองและองค์กรที่มิใช่รัฐ (NGO) ทางด้านการเมือง 

รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการมีส่วนรวมของประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นการลงชื่อถอดถอนนักการเมือง หรือการเสนอกฎหมายโดยประชาชน แม้ว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆ รับรอง เช่น ศูนย์ดำรงธรรม แต่ไม่มีการประกันใดๆ ว่าจะสามารถติดตามกระบวนการดังกล่าวได้

ในส่วนระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมค่อนข้างน้อย ตัวเลขตัวแทนของภาคประชาสังคมใน สนช. มีแค่ 5 คนจากทั้งหมด 220 คน (อ้างอิงจากไทยรัฐ) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสัดส่วนของสปช. จะเห็นว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการประจำ รวมถึงตำรวจและทหาร ดังนั้นสภาดังกล่าวจึงเป็นการปฎิรูปโดยคนจากระบบราชการมากกว่าประชาชน

ตัวชี้วัดที่ 4 : วัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย  โดยจะวัดจากระดับฉันทามติของสังคมและการร่วมกันสร้างความมั่นคงให้ระบอบประชาธิปไตย ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองโดยผู้เชี่ยวชาญหรือรัฐบาลแบบเทคโนแครต ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของสังคมระดับของประชาชนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

หากวิเคราะห์จากข้อมูล นิด้าโพล ภายหลังวิกฤตทางการเมืองประเทศไทยไม่เคยมีฉันทามติต่อประเด็นต่างๆ และแนวคิดทางประชาธิปไตย ที่น่าสนใจคือ คนมีความเชื่อมั่นต่อความเป็นผู้นำแบบรวมศูนย์อำนาจ มากกว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือกระบวนการประชาธิปไตย และนิยมชมชอบระบบเทคโนแครต ไม่ว่าจะด้วยการผลิตซ้ำของสื่อหรือชนชนชั้นนำ วาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยถูกนำไปผูกโยงกับความไม่สงบ เห็นได้จากการพยายามปรับทัศนคติ ของประชาชน หรือ การจัดการกับบุคคลที่เห็นต่าง เพราะมองว่าเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม

จากจำนวนผู้เข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. และผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ที่ไม่ยอมรับประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบคือ การเลือกตั้ง และไม่เชื่อถือเสียงของประชาชน แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง

ตัวชี้วัดที่ 5 : เสรีภาพพลเมือง โดยจะวัดจากความเป็นอิสระของสื่อ เสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วง เสรีภาพในการถกเถียงปัญหาของสาธารณะด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การใช้วิธีการทรมานโดยรัฐ การปกป้องสิทธิมนุษยชน และระดับของรัฐบาลที่อ้างถึงความเสี่ยง และการคุมคามใหม่ๆ เพื่อควบคุมเสรีภาพพลเมือง 

ตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีการออกประกาศและคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมสื่อ ควบคุมเนื้อหา ห้ามชุมนุมทางการเมือง และขยายการควบคุมไปยังสื่อออนไลน์ เช่น การบล็อคเว็บ หรือการเข้าถึงข้อมูล เช่น ข้อมูลทางการเมือง

นอกจากนี้มีการประกาศเรียกตามโทรทัศน์ให้บุคคลมารายงานตัวและควบคุมตัว รวมถึงการจับกุมบุคคลและดำเนินคดี จาการชุมนุมอย่างสันติ การฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามกำหนด หรือ การดำเนินคดีในมาตรา 112 นับว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐอย่างชัดเจน

และการควบคุมตัวดังกล่าวในหลายกรณีเป็นการควบคุมตัวที่เกินกว่า 7 วัน ตามอำนาจของกฏอัยการศึก โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว และชี้แจงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการมีทนายความ ที่น่าวิตก คือ วิธีการจับกุมในระหว่างควบคุมตัว บางกรณีมีการข่มขู่ การปิดตา ใส่กุญแจมือ เป็นต้น ยังไม่กล่าวถึงการซ้อมทรมานทางร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวที่มีรายงานมาก่อนหน้านี้  อย่างไรก็ตาม การบีบให้คนอยู่ ในสภาวะข้างต้นถือเป็นการทรมานอย่างน้อยก็ทางจิตใจ 

ความเป็นอิสระของสื่อก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อกล่าวถึงประเด็น เสรีภาพการแสดงออก ไม่ใช่แค่การแสดงออกแต่รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรีอีกด้วย ดังนั้นการควบคุมเนื้อหาในสื่่อมวลชน และ การปิดกั้นสื่อออนไลน์ จึงเป็นการทำลายหลักการในเรื่องนี้

นอกจากนี้มีความพยายามควบคุมเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวคือ โดยปกติคนสามารถใช้สิทธิวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือผู ้ปกครองประเทศได้อย่างเสรีในสังคมประชาธิปไตย แต่ตลอดมา คสช. จะใช้มาตรการเพื่อควบคุมมหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการ เพื่อจำกัดการวิพากษ์รัฐบาล รวมไปถึงการสั่งให้งดหรือเลื่อนกิจกรรมเสวนาทางวิชาการหลายครั้ง

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของไทยหลังรัฐประหาร ซึ่งหากใช้เกณฑ์วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยทั้งห้าข้อของสถาบันพระปกเกล้ามาเป็นตัวชี้วัด ประชาชนก็พอจะตัดสินใจให้ คะแนนได้ว่า ระบอบการปกครองและแนวทางการใช้ อำนาจรัฐแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โดยไม่พึงต้องพิจารณาว่าหลักการประชาธิปไตยนั้นเหมาะกับสังคมตะวันออกหรือตะวันตก

แหล่งอ้างอิง

นางสาวยุวดี เทพยสุวรรณ. (2551). ดัชนีชีวัดประชาธิปไตย. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
"ลอก-ขุด-ใหม่" ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
คณะรัฐมนตรีใหม่ ภารกิจเพื่อชาติ และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
สภาปฎิรูปแห่งชาติ: ขั้นตอนมากมาย ความหมายเท่าเดิม
“41/2557” สิทธิเสรีภาพ ท่ามกลางการเรียกรายงานตัวต่อ คสช.
การคุกคามและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา
สถิติการเรียก, จับกุม, ปล่อยตัวบุคคล ตั้งแต่หลังรัฐประหารถึงเดือนกันยายน 57
นิด้าโพล : ทางออกของการเมืองไทย การเลือกตั้ง การปฏิรูป สภาประชาชน และนายกคนกลาง
นิด้าโพล : วิกฤติทางการเมืองกับบทบาทของกองทัพและตำรวจ
นิด้าโพล : คสช. ควรเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี
นิด้าโพล : อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)นิด้าโพล : ความเหมาะสมตำแหน่งทางการเมืองของ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา