เกณฑ์การกักตัวตามกฎอัยการศึก 7 วันนับอย่างไร?

ในสถานการณ์ปกติ เมื่อมีการกุมจับตัวบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือข้อหาใด เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจกักตัวไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้ต้องนำตัวไปศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายฝากขัง หากไม่มีหมายฝากขังก็ต้องปล่อยตัวไป
ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวขยายเพิ่มขึ้นเป็น 7 วัน ตามมาตรา 15 ทวิ ส่วนกระบวนการนอกจากนี้ยังคงเหมือนเดิม คือ หากครบ 7 วันแล้วต้องนำตัวไปศาลเพื่อขอหมายฝากจัง หากไม่มีหมายฝากขังจากศาลก็ต้องปล่อยตัวไป ไม่ว่าด้วยเหตุใดเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถควบคุมตัวเกินกว่า 7 วันได้
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 
           
            มาตรา 15 ทวิ
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน
ทั้งนี้ การควบคุมตัวภายในระยะเวลา 7 วันนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะควบคุมตัวตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ แต่ตามมาตรา 15 ทวิ ต้องปรากฏเงื่อนไขว่า 
            “มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใด
            (1) จะเป็นราชศัตรู หรือ
            (2) ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร”
หากบุคคลใดไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ทหารไม่อาจแสดงหลักฐานได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นราชศัตรู ก็ย่อมไม่มีอำนาจควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้เลย ไม่ว่าจะกี่วันก็ตาม
นอกจากนี้ การควบคุมตัวนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขว่า
            “เพื่อ 
            (1) การสอบถาม หรือ
            (2) ตามความจำเป็นของทางราชการทหาร”
หากการสอบถามเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีประเด็นอะไรจะต้องสอบถามพูดคุยเพิ่มเติม หรือเจ้าหน้าที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีความจำเป็นใดทางราชการทหารอีก ก็ย่อมไม่มีอำนาจควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้เลย ไม่ว่าจะกี่วันก็ตาม
หากกรณีเข้าเงื่อนไขในการกักตัวตามกฎอัยการศึกแล้ว ประเด็นต่อไปมีว่า การควบคุมตัวไม่เกิน 7 วันนั้น จะเริ่มนับวันไหน และจะต้องปล่อยตัวภายในวันไหน
เนื่องจากกฎอัยการศึกไม่ได้กำหนดเรื่องวิธีการนับเวลาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด คือ เรื่องวิธีการนับเวลาจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา 
            มาตรา 21 ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
ดังนั้น วันที่บุคคลถูกจับกุม หรือวันที่บุคคลเข้ารายงานตัว จะต้องเริ่มนับเป็นวันที่หนึ่งและนับต่อจากนั้นไป จนถึงวันที่เจ็ด ภายในวันที่เจ็ดนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปล่อยตัว แต่จะปล่อยในเวลาเท่าใดและสถานที่ใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่มีเวลาถึง 23.59 น. ของวันที่ครบกำหนดที่จะปล่อยตัว หากควบคุมตัวเกินกำหนดนั้นก็จะเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น 
หากนาย ก. ถูกควบคุมตัววันที่ 1 ไม่ว่าเวลากี่โมงก็ตาม ต้องถูกปล่อยตัวภายใน 23.59 ของคืนวันที่ 7 
หากนาย ก. ถูกควบคุมตัววันที่ 2 ไม่ว่าเวลากี่โมงก็ตาม ต้องถูกปล่อยตัวภายใน 23.59 ของคืนวันที่ 8 
หากนาย ก. ถูกควบคุมตัววันที่ 3 ไม่ว่าเวลากี่โมงก็ตาม ต้องถูกปล่อยตัวภายใน 23.59 ของคืนวันที่ 9 
หากนาย ก. ถูกควบคุมตัววันที่ 4 ไม่ว่าเวลากี่โมงก็ตาม ต้องถูกปล่อยตัวภายใน 23.59 ของคืนวันที่ 10
เป็นต้น