ชำแหละ-แจกแจง-วิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเลือกตั้ง 2 ก.พ.57

เพื่อให้สะดวกต่อทำความเข้าใจ จึงสรุปแยกเป็นประเด็นๆ ในแต่ละประเด็นจะประกอบไปด้วย (1) ข้อร้องเรียนโดย ผู้ตรวจการแผ่นดิน (2) ประเด็นชี้แจงของรัฐบาล และ (3) ประเด็นชี้แจงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ หลังจากนั้นจึงเป็นบทสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อการร้องเรียนนี้ 
ประเด็นการเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการรับสมัครและประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแค่เพียง 347 เขตเลือกตั้ง ขาดอีก 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร และ กกต.ได้ทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต จึงทำให้การเลือกตั้งทั่วไปมีสองวัน
ด้าน รัฐบาล ชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นวันเลือกตั้ง แม้ว่า กกต.ขอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่เฉพาะใน 28 เขตรัฐบาลก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม เพราะการตราพระกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ต้องเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระหรือมีสมาชิกที่ว่างลง อีกทั้งติดเงื่อนไขว่าการเลือกตั้งต้องมีขึ้นภายใน 60 วันหลังการยุบสภา ซึ่งหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ไม่สามารถเลื่อนไปเป็นเวลาได้นานจึงเห็นว่าไม่ควรเลื่อน กรณีที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีการรับสมัครใหม่และลงคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้นภายหลังวันเลือกตั้งทั่วไป  ซึ่งกรณีนี้ไม่ทำให้สามารถตีความว่าการเลือกตั้งทั่วไปไม่ได้ทำในวันเดียวกันได้แน่นอนเพราะหากเป็นเช่นนั้นการเลือกตั้งทั่วไปก็ไม่สำเร็จกันไปตลอด
ขณะที่ กกต. เห็นว่ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่ากกต.ขอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการรับสมัครเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขึ้นใหม่ มีผลให้การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นเป็นสองวันนั้น เป็นการคาดการณ์และแสดงความคิดเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่มีกฎหมายรับรอง อีกทั้งนายกรัฐมนตรีมีความเห็นขัดแย้งในเรื่องนี้ นอกจากนี้การที่ กกต.เสนอให้นายกรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกามิใช่การกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ และกกต.ย่อมมีอำนาจกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องเป็นวันเดียวกับวันเดิมก็ได้ 
ประเด็นการที่ไม่มีผู้สมัคร 28 เขตทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม
ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องว่าการที่กกต.มีหนังสือแจ้งไปทุกพรรคว่า หากไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ได้สิทธิในการจับฉลากหมายเลขผู้สมัคร ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งหลายพรรคไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และได้สิทธิจับฉลากหมายเลขผู้สมัครทั้งๆ ที่พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ได้ไปถึงสถานที่รับสมัคร และในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัคร โดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าทำให้มีผู้ประสงค์จะสมัครบางรายไม่สามารถสมัครได้ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เที่ยงธรรมและขัดกับหลักความเสมอภาค
ด้าน รัฐบาล ชี้แจงว่ากรณี 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ในข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่สามารถสมัครได้เพราะมีเหตุขัดขวางการรับสมัคร ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องจัดการให้สมัครให้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.เลือกตั้ง) บัญญัติว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง อำนาจในการจัดการเลือกตั้งเป็นของกกต. จนกว่าจะได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด 
ขณะที่ กกต. เห็นว่า กกต.มีอำนาจหน้าที่ภายในขอบเขตกฎหมายเท่านั้น โดยจะออกประกาศ ระเบียบ ข้อกำหนดได้เฉพาะในเรื่องที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ กรณีการประกาศรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งที่มีปัญหา ไม่มีกฎหมายให้อำนาจกกต.ที่จะดำเนินการได้จึงไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว
ประเด็นการกำหนดให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งโดยเปิดเผย
ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องว่า กกต.กำหนดให้มีนับคะแนนการเลือกตั้งโดยเปิดเผยหลังจากหมดเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นผลทำให้ผู้ที่จะลงคะแนนเลือกตั้งภายหลังจากวันดังกล่าวทราบผลคะแนนแล้วและก่อให้เกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจ อีกทั้งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองและระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ด้าน รัฐบาล ชี้แจงว่าเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีการลงคะแนนจำนวน 28 เขตอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งยังไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งและลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง จึงไม่มีประเด็นการรู้คะแนนของคนอื่นก่อนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง 
ประเด็นการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. เป็นการตัดสิทธิพื้นฐานในการออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก
ประเด็นต่อเนื่องจากการนับคะแนนเลือกตั้งโดยเปิดเผย ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งไม่ชอบเพราะมีการนับคะแนนไปแล้วทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้าและการลงคะแนนเลือกตั้งที่เลื่อนออกไป ในวันที่ 20 เม.ย.และ 27 เม.ย.2557 เป็นอันไร้ผล บัตรลงคะแนนเลือกตั้งจะกลายเป็นบัตรเสีย และเป็นการตัดสิทธิพื้นฐานในการออกเสียงเลือกตั้งของคนที่ยังไม่มีโอกาสใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง
ประเด็นนี้ กกต.ชี้แจงว่า บทบัญญัติว่าด้วยวันลงคะแนนเลือกตั้ง วันเลือกตั้งใหม่ หรือวันเลือกตั้งเพิ่มเติมตามพ.ร.บ.เลือกตั้ง ก็เป็นการกำหนดให้มีการเลือกตั้งหลายวัน หากข้ออ้างของผู้ตรวจการแผ่นดินถูกต้องจะทำให้ไม่สามารถจัดการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ได้ทุกกรณี และอาจมีผลให้การจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย และหากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งในเขตเลือกใด และมีการขัดขวางการเลือกตั้งเป็นเหตุให้กกต.ต้องประกาศการงดลงคะแนนในบางหน่วยแล้วให้มีการลงคะแนนในภายหลัง ก็จะเป็นปัญหาให้การดำเนินการเลือกตั้งใหม่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการเมืองและการปกครองเป็นอย่างมาก
ความได้เปรียบของรัฐบาลจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องว่า กกต.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล เนื่องจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่คำนึงถึงขอบเขตที่เหมาะสม ความจำเป็นเพื่อรักษาความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง
ประเด็นอำนาจการยื่นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และการรับวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 (พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ) ของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะองค์กรที่จัดขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานภาครัฐหรือบทบัญญัติของกฎหมายใดว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เรื่องที่ร้องเรียนนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง และพ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ด้านรัฐบาล ชี้แจงว่าการจะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ คือ ต้องเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประกาศของคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฯลฯ ซึ่งเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกา สำหรับพ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ แม้ว่าตราขึ้นโดยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ในความหมายของคำว่า “กฎตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาวินิจฉัย การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่าการจัดการเลือกตั้งมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องใช้อำนาจตรวจสอบ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ตรวจการแผ่นดินในการส่งเรื่องไปยังศาล อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นศาลยุติธรรมจึงไม่สามารถพิพากษาดคีได้
ขณะที่ กกต. เห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากการยื่นคำร้องที่จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ต้องเป็นกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น นอกจากนี้กระบวนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่กำหนดว่าเมื่อมีการร้องเรียนต้องเปิดโอกาสให้องค์กรที่เกี่ยวข้องชี้แจ้งและแสดงพยานหลักฐานประกอบไว้ตามสมควร
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นเรื่องอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นสอดรับกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำรองนี้ไว้พิจารณา เห็นว่าประเด็นปัญหาตามคำร้องเป็นการดำเนินการที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกำหนดวันเลือกตั้งในพ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ในวันเดียวกันทำให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาอีกหลายประการ ซึ่งไม่มีองค์กรใดนอกจากศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีอำนาจตรวจสอบในเรื่องนี้
พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งมีกกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่ามีการชุมนุมทางการเมืองและขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผลให้เขตเลือกตั้ง 28 เขต ขาดผู้สมัคร  
รัฐธรรมนูญกำหนดว่า วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเพราะมีเจตนารมณ์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักการเลือกตั้งโดยเสรี โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนย่อมใช้สิทธิโดยปราศจากการบังคับ หรือกดดันทางจิตใจหรือการใช้อิทธิพลใดๆที่มีผลต่อการการตัดสินใจหลักการเลือกตั้งโดยเสรีนี้จึงครอบคลุมถึงการการตระเตรียมการเลือกตั้งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบคลุมถึงการสมัครรับเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย 
จึงเห็นได้ว่าการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปมากกว่าหนึ่งวันจะทำให้การสมัครรับเลือกตั้ง พฤติกรรมการหาเสียง พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือบรรดาเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันหนึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในอีกวันหนึ่งได้
การกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งวันลงคะแนนเลือกตั้งอาจมีได้หลายวัน เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง แต่การใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีผู้สมัครรับเลือกตั้งอยู่ในวันที่ลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ในขณะที่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องมีเพียงวันเดียวตามรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครทั้ง 28 เขตเลือกตั้ง จึงถือว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปมาก่อนเลย จึงไม่อยู่ในอำนาจของกกต.และศาลฎีกาที่จะให้จัดการเลือกตั้งใหม่ เมื่อพ.ร.บ.เลือกตั้ง ไม่ได้ให้อำนาจกกต.และศาลฎีกาจัดการเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้ง การจะจัดเลือกตั้งนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่อีกวันหนึ่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรได้ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
วิเคราะห์ประเด็นเรื่องอำนาจในการยื่นคำร้องของผู้ตรวจการ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึงอำนาจยื่นคำร้องของผู้ตรวจราชการแผ่นดินไว้อย่างชัดเจน ทั้งๆที่มีการทักท้วงจากทั้งรัฐบาลและ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้นต้องเป็นกรณีที่เห็นว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ใดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้ตามหนังสือร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นปัญหา “การจัดการเลือกตั้ง” ไม่ใช่ปัญหา “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย”
แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะอ้างว่ามีอำนาจตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 244 แต่มาตรา 244 ก็ไม่ได้กำหนดว่าให้ยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงว่า อำนาจการตรวจสอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีความหมายที่กว้างกว่าการตรวจสอบว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  และเห็นว่าการตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นเรื่องของการตรวจสอบความชอบของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบดีว่า ไม่มีบทบัญญัติใดเลย ที่ระบุว่าหากมีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม แล้วจะมีกระบวนการที่จะนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องนี้ตามมาตรา 245 แต่ใช้ดุลยพินิจตีความเอาจากหนังสือร้องเรียน เพราะ ศาลระบุไว้ในเอกสารคำวินิจฉัยเองว่า ตามคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเพร้อมให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การดำเนินการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง มาตรา ๙๓ วรรคสอง มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๓๕ และมาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) หรือไม่
แต่เมื่อพิจารณาเนื้อความในคำร้องทั้งหมดแล้วเห็นว่า ผู้ร้องต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ เนื่องจากประเด็นปัญหาตามคำร้องเป็นผลมาจากการประกาศ พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ดังนั้นเรื่องของการยื่นคำร้องจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวของผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นผู้ให้อำนาจอธิบายความชอบธรรมให้ด้วยตนเองทั้งที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เลย
วิเคราะห์ประเด็นการเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ตามคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่า กกต. จะประกาศให้รับสมัครเลือกตั้งใหม่และลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งรัฐบาลระบุว่าการเลือกตั้งใหม่สามารถกระทำได้โดยให้อำนาจ กกต.กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งนี้ กกต.ระบุไว้ในคำชี้แจงว่า กรณีที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการตราพระราชกฤษฎีกาให้การสมัครรับเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทำให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นสองวันนั้น เป็นการคาดการณ์และแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องเอง เพราะนายกรัฐมนตรีมีความเห็นขัดแย้งตามที่กกต.ส่งหนังสือไป และไม่ได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
อีกทั้งกรณีดังกล่าวนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงไม่มีการระบุว่าเป็นอำนาจของใครในการจัดการเลือกตั้งอีก 28 เขต ดังนั้นหาก กกต.จัดการเลือกตั้งก็จะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ศาลวินิจฉัยว่า การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เป็นการกำหนดให้มีการเลือกตั้งหลายวัน อาจมีผลให้บทบัญญัติหรือการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย
แนวการวินิจฉัยเช่นนี้ ทำให้เกิดบรรทัดฐานขึ้นว่า หากผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เข้าขัดขวางการเลือกตั้งทำให้ กกต.ต้องงดลงคะแนนในบางหน่วยแล้วประกาศให้มีการลงคะแนนในภายหลัง ก็จะเป็นปัญหาให้การดำเนินการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปเสียทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเมืองและการปกครองเป็นอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ 
นอกจากนี้ แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะระบุไว้แล้วว่า หากเป็นกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว แต่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถกระทำได้เพราะเกิดการจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง หรือมีหลักฐานว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.สามารถกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ศาลยังสรุปว่ากรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นกรณีที่ไม่มีทางออกแต่ประการใด ผลจึงต้องเป็นไปตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินคาดคะเนไว้ คือ รัฐบาลต้องตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ ซึ่งจะทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปภายในวันเดียวกัน ศาลจึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ที่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
   เก็บตกส่งท้าย
   [1] จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าในคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น ประเด็นการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. เป็นการตัดสิทธิพื้นฐานในการออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก ความได้เปรียบของรัฐบาลจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยชี้ชัด เพียงแค่เลือกบางประเด็นมาเป็นข้อสรุป
   [2] นอกจากนี้ คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการที่ระบุปัญหาที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้ง มีแนวโน้มจะเข้าตามมาตราที่ 245 (2) ที่เป็นอำนาจของศาลปกครองในการวินิจฉัย เพราะผู้ตรวจการมีอำนาจในการเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งจากหนังสือร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็น “การกระทำอื่นใด” จึงต้องเป็นการร้องเรียนไปยังศาลปกครอง 
   [3] เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดให้ กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครบางเขต เหตุที่ไม่มีเพราะเคยเกิดเหตุในลักษณะนี้มาก่อน จะเห็นได้ว่า กกต. พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวในการตีความขอบเขตอำนาจของตนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์ แตกต่างกับผู้ตรวจการแผ่นดินที่ใช้ดุลยพินิจขยายขอบเขตอำนาจของตนในการยื่นคำร้องของตัวเองและได้ตราประทับความชอบธรรมโดยศาลรัฐธรรมนูญ  
   [4] แนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ไม่ได้ปกป้องเสียงของคนที่ต้องการจะออกไปเลือกตั้งแต่เป็นการให้คุณค่าต่อการกระทำของขบวนการล้มล้างการเลือกตั้งไปโดยปริยาย และส่งผลให้ไม่ทราบได้ว่าในปัจจุบันอำนาจในการจัดการเลือกตั้งเป็นของใคร เพราะ รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจออกพ.ร.ฎ.ยุบสภาใหม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยไว้แล้วว่า กกต.ก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้เอง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงผลักให้ระบบการเมืองจึงเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ 
   [5] ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่ กกต.เคยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าให้เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ดังนั้นการวินิจฉัยครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการฉีกคำวินิจฉัยเดิมของตัวเองเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้งในกรณีเดียวกัน
ไฟล์แนบ