ติดตามหลากหลายข้อเสนอ “ปฏิรูปยังไงดี?” เห็นอะไรในบทสนทนา

ต้นเดือนธันวาคม 2556 รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา ขณะที่บนท้องถนนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. จัดการชุมนุมของ “มวลมหาประชาชน” เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้งใหม่ ให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการและตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นเพื่อปฏิรูปปัญหาหลายๆ ประการ

“ปฏิรูปการเมือง” “ปฏิรูปการศึกษา” “ปฏิรูปตำรวจ” “แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น” “แก้ไขระบบเลือกตั้ง” “เพิ่มอำนาจประชาชน” เป็นข้อเสนอที่ กปปส.อ้างว่าจะทำ แต่ต้องแลกมากับการไม่เลือกตั้งตามระบอบเดิม แล้วให้อำนาจ กปปส. ตั้งสภาประชาชนเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ราคาแพงพอสมควร

ขณะที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส. สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งทีหลัง ด้านรักษาการนายกฯ ก็แสดงความเห็นสอดรับว่าต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ จัดการตั้ง “สภาปฏิรูปประเทศ” มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วม เหมือนว่าทั้งสองขั้วการเมืองไทยก็กำลังยอมรับว่าถึงเวลาที่อะไรหลายอย่างในประเทศนี้ต้องเข้าสู่การปฏิรูปอย่างจริงจังแล้วล่ะ

แต่ตลอดทาง ภายใต้คำว่า “ปฏิรูป” อันใหญ่โต เรายังไม่ได้ยินข้อเสนอที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าจะปฏิรูปกันอย่างไร เพื่อให้ผลที่ได้นั้นคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายไป

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2556 ไอลอว์จึงชวนคนใช้เน็ต ทั้งที่สนับสนุนแนวทางกปปส. สนับสนุนรัฐบาล หรือไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอะไรก็ตาม พูดคุยใน iLawforum ภายใต้กระแสการเมืองที่ร้อนแรง กับคำถามว่า “ปฏิรูปยังไงดี?” โดยให้ทุกคนเสนอผ่าน Social Media ของตัวเอง ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ผ่านความคิดของตัวเอง และผ่าน #ureform #ilawforum

 

มีอะไรน่าสนใจท่ามกลางข้อเสนอ “ปฏิรูป”

เท่าที่รวบรวมด้วยระบบ Hashtag พบข้อเสนอเข้ามาหลายร้อยข้อจากคนเล่นเฟซบุ๊คราวๆ 180-200 คน (ซึ่งระบบ Algorithm ของเฟซบุ๊คเลือกแสดงให้เห็นแค่บางส่วนเท่านั้น) และคนเล่นทวิตเตอร์ราวๆ 20-30 คน

พบว่า ข้อเสนอเรื่องการ “ปฏิรูป” ที่อยู่ในใจของแต่ละคนนั้นหลากหลายงมาก แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตว่าแต่ละคนอยู่ในแวดวงการทำงานประเด็นอะไร และพบเจอปัญหาอุปสรรคอะไรในชีวิตประจำวัน มีข้อเสนอตั้งแต่เรื่องราคาแปรงสีฟันยาสีฟัน โรงเรียนกวดวิชา ที่ดิน ศาสนา ศาล กองทัพ การเลือกตั้ง ฯลฯ

เรื่องการปฏิรูปการศึกษายังโดดเด่น ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ เสมอ ข้อเสนอให้การศึกษาเน้นคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ ให้เปลี่ยนบทเรียนประวัติศาสตร์ที่ปลูกฝังเชิงชาตินิยม เปลี่ยนวิธีการสอบวัดผลในโรงเรียน มีคนจำนวนมากเสนอคล้ายๆ กันโดยไม่ได้นัดหมาย

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนพูดถึง คือ การให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการเมืองและเรื่องประชาธิปไตย สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐดูแล การผลักดันให้หน่วยงานรัฐเปิดกว้างและเปิดเผยผ่านอินเทอร์เน็ต และการให้หน่วยงานราชการใช้ Infographic นำเสนอข้อมูลผ่านโลกออนไลน์เพื่อสื่อสารกับประชาชน

ข้อเสนอปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้โปร่งใสและเป็นธรรมก็หลากหลายน่าสนใจอย่างยิ่ง เช่น ให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ให้ส.ส.ลงสมัครได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้ง (Primary Vote) ให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงไหนก่อนเลือกตั้ง ให้แรงงานเลือกตั้งในเขตสถานประกอบการ ให้นักโทษมีสิทธิเลือกตั้ง ให้ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน ให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิคส์นับคะแนน ให้เลือกตั้งได้ผ่านระบบออนไลน์ ฯลฯ

ข้อเสนอปฏิรูปองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็มีไม่น้อย เช่น ให้กรรมการทุกองค์กรมาจากการเลือกตั้ง ให้ทุกองค์กรมีวาระไม่เกิน 4 ปี ให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบองค์กรอิสระ ให้ยุบบางองค์กรที่อำนาจซ้ำซ้อน ให้ตั้งองค์กรใหม่ที่เป็นกลางทำหน้าที่ดูแลลการเมือง การเลือกตั้ง ให้ความรู้ประชาชน เป็นต้น

ประเด็นประเภทที่ยิ่งคุยยิ่งสนุก คือ ข้อเสนอในประเด็นเฉพาะที่ออกมาจากคนที่ทำงานหรือศึกษาประเด็นปัญหานั้นจริงๆ ซึ่งถ้าเจ้าตัวไม่เสนอออกมาคนอื่นอาจจะคิดไปไม่ถึง เช่น เสนอให้ Wifi เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เสนอให้เก็บภาษีน้ำอัดลมที่ทำลายสุขภาพ เสนอให้เพิ่มภาษีรถยนตร์แก้ปัญหารถติด เสนอจัดสรรที่ดินของวัดเพื่อสาธารณประโยชน์ เสนอให้ครูอาจารย์ตั้งสหภาพแรงงานได้ เสนอปฏิรูประบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เสนอย้ายส่วนราชการที่ประชาชนต้องติดต่อมาไว้ในเมือง ฯลฯ

หลายคนอธิบายพื้นฐานวิธีคิดที่ต้องเข้าใจร่วมกันก่อนการปฏิรูป หลายคนยืนยันว่าต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หลายคนยืนยันให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หลายคนแบ่งปันความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองออกมาผ่านการพูดคุยในกิจกรรมนี้

ข้อเสนอที่ผู้ใช้เน็ตแลกเปลี่ยนกันออกมาหลายหลายมาก จนผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งแสดงความเห็นว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้เห็นว่าข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปนั้นหลากหลายและละเอียดอ่อนเกินกว่าจะให้เป็นอำนาจของสภาประชาชนที่มาจากคนกลุ่มเดียว

 

ผู้ใช้เน็ตเสนอสอดรับกับ กปปส.

แม้ว่าแกนนำ กปปส. จะยังไม่เคยแถลงให้ชัดเจนถึงแนวทางการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม แต่แกนนำหลายคนก็เคยพูดถึงความฝันที่อยากเห็นอยู่หลายประเด็น ในกิจกรรม iLawforum ก็มีผู้ใช้เน็ตที่เสนอข้อเสนอตรงกับ กปปส. อยู่บ้าง เช่น เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง เสนอให้แก้กฎหมายให้ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ และการเน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากกว่ารวบไว้ที่ส่วนกลาง

น่าแปลกใจที่ประเด็นหนึ่งที่ กปปส. พูดถึงมากที่สุดคือการปฏิรูปตำรวจนั้น มีผู้ใช้เน็ตพูดถึงประเด็นนี้ไม่มากนัก ซึ่งก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นประเด็นที่ผู้ใช้เน็ตไม่สนใจ หรือไม่เห็นด้วย แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ iLawforum ชวนให้ทุกคนเสนออย่างเป็นรูปธรรม แต่ กปปส.ยังไม่ได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม จึงยากที่จะหยิบมาพูดกันต่อผ่านกิจกรรมนี้ได้

 

ประเด็นปฏิรูปที่หลากลาย กปปส./รัฐบาล ยังไปไม่ถึง

ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอน่าสนใจจำนวนมากส่งผ่าน Social Media ในคืนวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ซึ่งแกนนำ กปปส. หรือรัฐบาลรักษาการ อาจจะยังคิดไปไม่ถึง หรือว่าคิดถึงแล้วแต่ยังไม่ได้เสนอออกมา ซึ่งคงต้องอาศัยให้ทุกคนช่วยกันสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจออกมาเช่นนี้ โจทย์ใหญ่ๆ อย่างคำว่า “ปฏิรูป” จึงจะมีมิติหลากหลายมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อยับยั้งการออกกฎหมายหรือยับยั้งโครงการของรัฐ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ให้ย้ายหน่วยงานของทหารที่ไม่จำเป็นออกไปตั้งในต่างจังหวัด ข้อเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา112 ข้อเสนอให้ปลดปล่อยนักโทษการเมือง หรือนักโทษที่ถูกจองจำเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ข้อเสนอปฏิรูปการใช้พื้นที่สาธารณะ ลดการกั้นรั้วสถานที่สาธารณะ ให้หน่วยงานราชการใช้ทรัพยากรกลางอย่างห้องสมุดร่วมกัน ข้อเสนอให้ปฏิรูประบบยุติธรรม แก้ไขที่มาของผู้พิพากษา ปรับปรุงการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ ข้อเสนอปฏิรูประบบราชทัณฑ์เน้นการแก้ไขเยียวยาผู้กระทำความผิด ฯลฯ

และอื่นๆ อีกมากมายทั้งเรื่องที่เคยพูดกันมานานแล้ว และเรื่องที่เพิ่งพูดกันใหม่ๆ ด้วย เช่น การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า การปฏิรูปที่ดินจัดสรรให้คนยากจน การให้ประชาชนเรียนฟรี ยกเลิกหนี้สินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ ความเสมอภาคระหว่างเพศ การเปิดเผยข้อมูลของราชการ การคุ้มครองพยานในคดีคอรัปชั่น

ฯลฯ ฯลฯ และ ฯลฯ

ใครยังมีอะไรค้างคาในใจยังไม่ได้แสดงออกมาพื้นที่ Social Media ของท่านเปิดว่างอยู่ตลอดเวลาเพื่อการเรียนรู้โจทย์ใหญ่ๆ ร่วมกัน หากอยากแลกเปลี่ยนกับพื้นที่นี้ด้วยอย่าลืม #ureform #ilawforum

ใครอยากเรียนรู้ข้อเสนอของคนอื่นให้มากขึ้น เชิญสังสรรค์ได้ตามความพึงพอใจ โหลดไฟล์แนบมาดู ณ บัดนาว

 

แน่นอนว่าแทบทุกไอเดียที่เสนอกันมานั้นมีความเห็นต่างอยู่นับไม่ถ้วน บางไอเดียก็ชัดเจนจนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที บางไอเดียก็ต้องอาศัยการทำการบ้านเพิ่มเติมความรู้อีกมาก บางไอเดียก็ต้องรับฟังความเห็นต่างอีกสักหน่อย แต่เชื่อได้ว่าทุกไอเดียนั้นเสนอขึ้นจากความหวังดีจากประสบการณ์ที่พบเจอรอยด่างของระบบและกฎเกณฑ์ที่เราต่างก็อาศัยอยู่ใต้มัน และเชื่อเหลือเกินว่าเวทีพูดคุยเรื่องการ “ปฏิรูป” ยังต้องเปิดกว้างต่อไปอีกอย่างหาขอบเขตจำกัดไม่ได้

 

 

ไฟล์แนบ