เน้นสภาพเรือนจำ การส่งกลับผู้ลี้ภัย การใช้กฎหมายพิเศษ ในรายงานคู่ขนานสถานการณ์การทรมาน

หลังจากที่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาการต่อต้านทรมานฯเมื่อปี 2550 (CAT) ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่น การบัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ การให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ หรือการกำหนดมาตรการเยียวให้เหยื่อที่ถูกทรมาน 
อนุสัญญาฯดังกล่าว ยังกำหนดให้ประเทศไทยมีหน้าที่ส่งรายงานต่อคณะกรรมการภายใต้อนุสัญญาฯ เพื่ออธิบายว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ตามอนุสัญญาไปแล้วอย่างไร และพบเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง โดยกลไกดังกล่าว เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ส่งรายงานต่อคณะกรรมการฯเช่นกัน เรียกว่า “รายงานคู่ขนาน” 
หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบดูรายงานทั้งหมดที่ส่งเข้ามา หากยังมีหน้าที่ใดที่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่กำหนดไว้ คณะกรรมการฯจะออกคำแนะนำเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ไขและปรับปรุงต่อไป
รัฐบาลไทยส่งรายงานสถานการณ์ต่อคณะกรรมการไปแล้วเมื่อตอนต้นปี2556 ส่วนการส่งรายงานของภาคส่วนอื่นๆต้องทำภายในเดือนเมษายนปี 2557 และการรายงานสถานการณ์จริงจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ภาคประชาสังคมจึงมีความตื่นตัวมากในการจัดเตรียมรายงานเพื่อส่งไปคู่ขนานกับรายงานของภาครัฐ 
ภาวิณี ชุมศรี ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มจัดทำรายงาน มีการจัดเวทีกับภาคประชาสังคมแล้วสองครั้งเพื่ออบรมเกี่ยวกับการจัดทำรายงานคู่ขนาน ในเชิญผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การยื่นรายงานคู่ขนานจากประเทศอื่นๆ หลังจากการประชุมสองครั้ง ภาคประชาสังคมจึงตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อยกร่างรายงานคู่ขนาน โดยแต่ละองค์กรจะรับผิดชอบภายใต้หัวข้อต่างๆที่ตนมีความเชี่ยวชาญ เช่น ประเด็นการจับกุม การควบคุมตัว สถานที่การควบคุมตัว การสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดี การส่งตัวกลับ และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ 
ภาวิณี กล่าวเสริมว่า คณะทำงานได้วางกรอบเวลากำหนดให้ร่างรายงานคู่ขนานเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพฤศจิกายน 2556 และจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้งใน ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ 
ปรีชาญา เลิศวิเศษปัญญา ตัวแทนคณะทำงานยกร่างรายงานคู่ขนานและผู้เรียบเรียงรายงาน กล่าวถึงอุปสรรคในการจัดทำรายงานว่า ในบรรดาข้อร้องเรียนที่ได้รับมาเกี่ยวกับการถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว ยากที่จะบอกได้ว่ากรณีใดบ้างเป็นการทรมาน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติให้การทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ เมื่อมีการรับเรื่องร้องเรียนแล้วจึงไม่มีการบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แม้ในบางกรณีมีการตรวจร่างกายแต่ บาดแผลก็จางหายไปแล้ว และปัจจุบันก็ยังไม่มีกลไกใดๆที่สามารถตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อจิตใจได้
ในส่วนของเนื้อหารายงาน ปรีชาญา กล่าวว่า รายงานคู่ขนานฉบับที่ร่างปัจจุบัน ยังเน้นบริบทเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดเวทีรับฟังความคิดจากภาคอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลในรายงานครอบคลุมและบริบูรณ์มากขึ้น โดยหัวข้อที่มีอยู่ตอนนี้เน้นการป้องกันการทรมาน รวม 6 หัวข้อ คือ
 
1. นิยามการทรมาน ปรีชาญากล่าวว่าที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการแก้ไขกฎหมายของไทยให้กำหนดการทรมานเป็นฐานความผิด โดยมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมให้แก้กฎหมายโดยการทำเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะ เนื่องจากจะครอบคลุมพันธกรณีต่างๆ ที่กำหนดไว้ภายใต้อนุสัญญา และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทำหน้าที่ไต่สวนหากมีการทรมานเกิดขึ้นด้วย ด้านกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมนำโดย อัยการพิเศษกุลพล พลวัน เสนอให้กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดโดยการแก้ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากง่ายและรวดเร็วกว่า และยังสะดวกต่อการนำไปปฏิบัติใช้ ในปัจจุบัน มีอีกข้อเสนอหนึ่ง คือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความผิดของเจ้าพนักงานหน้าที่
2. การป้องกันการทรมาน ปรีชาญา กล่าวว่า สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังจากการกระทำความผิดเกิดขึ้น เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัว ผู้ถูกจับกุมต้องได้รับแจ้งเหตุแห่งการจับกุม ต้องมีสิทธิที่ได้จะบอกญาติถึงสถานที่ที่ตนถูกควบคุมตัว มีสิทธิพบญาติและทนายความระหว่างควบคุมตัว ทั้งมีสิทธิที่จะได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ที่ตนเลือก 
ปรีชาญา กล่าวต่อว่า การตรวจสอบสถานที่ควบคุมโดยองค์กรอิสระถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน แต่การตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังถือไม่ได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากต้องบอกกล่าวให้ทราบก่อนล่วงหน้า ซึ่งลักษณะการตรวจเยี่ยมเช่นนี้ ผู้ที่ทำการตรวจเยี่ยมไม่มีโอกาสได้พบเห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงได้ 
ส่วนการป้องกันการทรมานภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว สามารถกระทำได้โดยการจัดให้มี การสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ปรีชาญากล่าวว่า  ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นอิสระ และเป็นกลางอย่างแท้จริงที่จะทำหน้าที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในกรณีการทรมานได้ และยังไม่ปรากฎว่าเคยมีเจ้าหน้าที่คนใดถูกดำเนินคดี 
ปรีชาญา กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ปัญหาการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นทหารคงยากเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทหารนั้นต้องไปว่ากล่าวกันที่ศาลทหาร  ซึ่งในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นพลเรือน ผู้เสียหายจะแต่งตั้งทนายความไปดำเนินคดีต่อหน้าศาลทหารไม่ได้ ต้องมอบคดีให้อัยการทหารเท่านั้น
3. การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ปรีชาญา กล่าวว่า รายละเอียดในส่วนนี้ เน้นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายๆฉบับพร้อมกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งซ้ำซ้อนกันทำให้มีปัญหาในการบังคับใช้ และรายงานยังกล่าวถึง การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในบริบทอื่นๆ เช่น การประกาศใช้บังคับกฎอัยการศึกในอีก 28 จังหวัดในประเทศไทยโดยไม่มีเหตุ หรือ การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในบริบททางการเมือง โดยรายงานคู่ขนานพยายามที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
4. สภาพสถานที่ควบคุมตัว ปรีชาญา กล่าวโดยสรุปว่า รายงานคู่ขนานจะอธิบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาความแออัดในเรือนจำ การแยกประเภทผู้ต้องขัง สภาพและลักษณะสถานที่ควบคุมตัว วินัยการลงโทษ การขังเดี่ยว เครื่องพันธนาการ การร้องทุกข์ในเรือนจำ การปฏิบัติกิจทางศาสนาในเรือนจำ การทำงานและการศึกษา
5. การส่งตัวกลับกรณีผู้ลี้ภัยและคนต่างด้าว ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายภายในที่ประกันสิทธิของผู้ลี้ภัยโดยตรง ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู้ได้เฉพาะตามค่ายที่อยู่ตามชายแดนเท่านั้น ส่วนกรณีอื่น ประเทศไทยจะดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่า การส่งตัวกลับอาจทำให้บุคคลนั้นมีความเสี่ยงว่าจะได้รับการทรมาน ปรีชาญากล่าวว่า รายงานในส่วนนี้จะกล่าวถึงกรณีการผลักดันกลับของรัฐบาลไทยกรณีของม้งลาวช่วงปี พ.ศ. 2552 และ 2554 กรณี Uighur ช่วงปี พ.ศ. 2554 กรณี Kmer Krom ตอนเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 แนวปฏิบัติของประเทศไทยต่อชาวโรฮิงยา ลักษณะสถานที่การควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
6. การฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปรีชาญากล่าวปิดท้ายว่า ประเด็นสุดท้ายที่จะเน้นในรายงานคือ การจัดฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นการทรมาน เพื่อให้เจ้าหน้ามีความรู้และตระหนักต่อประเด็นนี้มากขึ้น
ปรีชาญา กล่าวปิดท้ายว่า ร่างรายงานคู่ขนานฉบับที่มีอยู่ปัจจุบันยังต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มอีกหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากภาคอื่นๆแล้ว จะมีการปรับในเรื่องของตัวอย่างคดีที่อาจอ้างรวมไว้ในรายงาน และประเด็นสำคัญอื่นๆที่ต้องเพิ่ม เช่น การบังคับบุคคลให้สูญหาย คดีความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการกักตัวของแรงงานต่างด้าว และคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อรวบรวมข้อมูลกับองค์กรร่วมจัดเสร็จแล้ว จะมีการแก้ไขรายงานเพื่อรวมหัวข้อเหล่านี้ต่อไป