สถิติสธ.พบหญิงตายเพราะทำแท้ง 25-30 คนต่อปี บาดเจ็บ 30,000 – อายุต่ำกว่า 15 ปีทำแท้งได้ไม่ผิดกฎหมาย

 
 
ในเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ ฉบับภาคประชาชน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อํานวยการสํานักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิติของกระทรวงสาธารณสุขที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้ง

นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนที่มีเพศสัมพันธ์ลดลงเรื่อยๆ สถิติการคลอดลูกของแม่ก็อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากการทำแบบสำรวจเมื่อปี 2555 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า นักเรียนเพศชาย ชั้นปวช.ปีที่สอง ร้อยละ 46  ชั้นม.5 ร้อยละ 28 และชั้นม.2 ร้อยละ 5.3 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ส่วนเพศหญิงก็มีอัตราใกล้เคียงกัน โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 40-50 เท่านั้นที่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 

 
 

ข้อมูลจากสำนักอนามัยเจริญพันธุ์พบว่า ในปี 2555 มีหญิงอายุ 15-19 ปีคลอดบุตร จำนวนกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2548 หรือมีหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี คลอดบุตรวันละ 365 คน มีหญิงอายุน้อยกว่า 15 ปีคลอดบุตรวันละ 10 คน 
ด้าน ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า มีคนตายจากการทำแท้งปีละ 25-30 คนและบาดเจ็บเพราะภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งประมาณ 30,000 คน ซึ่งหนึ่งในสามของคนที่มาทำแท้งเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 27 อายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 46 อายุต่ำกว่า 25 ปี 

คนที่มาทำแท้ง ร้อยละ 70 ไม่ตั้งใจตั้งครรภ์และไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด ร้อยละ 30 ใช้วิธีการคุมกำเนิดแล้วแต่ผิดพลาด ซึ่งมักเป็นคนที่เข้ารับบริการคุมกำเนิดได้ยาก เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมารับยาไม่สม่ำเสมอ สาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้งมาจากปัญหาเรื่องการเงินร้อยละ 50 และเรื่องสุขภาพร้อยละ 70 เรื่องการเรียนไม่จบร้อยละ 30 เรื่องหน้าที่การงานร้อยละ 16 มีลูกพอแล้วร้อยละ 14

 
 

 
นพ.กิตติพงษ์กล่าวด้วยว่า การที่แม่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีผลทำให้น้ำหนักของเด็กที่เกิดมาต่ำกว่ามาตรฐาน คือ น้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า เมื่อโตขึ้นก็พัฒนาการแข่งขันกับคนอื่นลำบาก ประเทศไทยมีอัตราของเด็กทารกที่เกิดแล้วนักหนักต่ำกว่ามาตรฐานสูงมาก 

ทั้งนี้ นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า สถิติเหล่านี้เก็บจากคนที่มาทำแท้งในระบบสาธารณสุขกับโรงพยาบาล แต่หากเป็นการทำแท้งในคลินิคเถื่อนนอกระบบเราก็ไม่มีข้อมูล ซึ่งอาจจะมีจำนวนและอัตราที่แตกต่างออกไปอีกมาก
[สามารถดูข้อมูลสถิติต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมได้ตามไฟล์แนบ]

ด้านรศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราใช้เงินหลายพันล้านต่อปีรณรงค์ลดการตายจากอุบัติเหตุ แต่ทำไมเราไม่ทำอะไรกับการตายของหญิงจากการทำแท้ง ทุกวันนี้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็มีข้อยกเว้นสองประการให้หมอทำแท้งได้ ซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญมาตรา 305 คือ มีเหตุจำเป็นต้องทำเพื่อสุขภาพของแม่ และ การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำความผิดอาญา 

 
ซึ่งการกระทำความผิดอาญาไม่ได้จำกัดเฉพาะการข่มขืน ตามมาตรา 276 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความผิดตามมาตรา 277 คือ ฐานกระทำชำเราผู้เยาว์ที่อายุไม่เกิน 15 ปีด้วย ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปีนั้นไม่ว่าจะมีความยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิดตามมาตรา 277 และหากเกิดท้องขึ้นมา ก็เป็นข้อยกเว้นให้หมอสามารถทำแท้งให้ได้โดยหมอไม่มีความผิด และไม่ต้องให้ผู้ปกครองยินยอมก่อน

 

 

 

 

 

 

 

ไฟล์แนบ