การจำกัดเสรีภาพเพื่อความมั่นคงทำได้ แต่ต้องเป็นตัวเลือกสุดท้าย

การขัดกันระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ประกาศว่า จะเฝ้าระวังและติดตามการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่นโปรแกรมไลน์ เฟซบุ๊ค เพื่อป้องกันการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง

เรื่องนี้ทำให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เกิดความกังวลว่า รัฐกำลังจะละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายพลเมืองเน็ต จึงจัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ "เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง"

           

 

เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคงแห่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งล่าสุดถูกปอท.เชิญตัวไปให้ปากคำกรณีโพสต์ข้อความที่อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นประชาชน (http://freedom.ilaw.or.th/case/483) กล่าวว่า หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีการแสดงความเห็นต่างๆ มากมายบนเฟซบุ๊ค และมีคนส่งข้อความผ่านทางสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการรัฐประหาร ซึ่งพูดถึงการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุมกระทรวงกลาโหม และเชื่อมโยงกับการเสด็จประทับที่หัวหิน ซึ่งโดยส่วนตัวเสริมสุขไม่เห็นด้วยกับข่าวลือ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเผยแพร่ เขาได้เขียนไว้ว่า ที่มีข่าวลือว่านายประยุทธ์จะเป็นคนรัฐประหารนั้นไม่น่าเป็นจริง แต่เป็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะยึดอำนาจเอง

เสริมสุขกล่าวว่า การนำข้อความมาเผยแพร่นั้นเป็นเพียงการบอกเล่าว่ากำลังมีข่าวลืออะไรเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะยุยงปลุกปั่นคนในสังคมแต่อย่างใด เขาเห็นว่า การบอกเพื่อนผ่านทางเฟซบุคไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นประเด็นที่ทำให้คนเตรียมตัว ในช่วงเวลานั้น หากคนจะตื่นตระหนก น่าจะมาจากการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาลมากกว่า และถามว่า คำว่า “ความมั่นคง” มันขอบเขตแค่ไหน ความมั่นคงของชาติหรือความมั่นคงของรัฐบาลกันแน่

พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า การกดไลค์และการแชร์เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคง ถือว่าเป็นการผลิตซ้ำ แม้ว่าจะเป็นการแชร์เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้แชร์เป็นบุคคลสาธารณะ ทั้งนี้ ในกรณีของเสริมสุขนั้น ทางปอท.เพียงแต่เรียกมาชี้แจงเพื่อสอบถามว่า เฟซบุคดังกล่าวเป็นของเขาจริงหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

ส่วนกรณีการตรวจสอบโปรแกรมไลน์ (Line) ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่นั้น ทางปอท.ไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เพียงแต่ขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการในกรณีที่ตรวจพบการกระทำผิดหรือกรณีมีผู้ร้องเรียนเท่านั้น เพราะมีการร้องเรียนว่ามีผู้ใช้ไลน์หลอกลวงประชาชน ทางปอท.จึงจำเป็นต้องประสานกับผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบ แต่การเข้าถึงข้อมูลของปอท.ก็มีขั้นตอนทางกฎหมายไม่ใช่การเข้าถึงโดยพละการ จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแน่นอน

อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทำได้ แต่ต้องเป็นกรณียกเว้นเท่านั้น และต้องครบองค์ประกอบสามประการ คือ หนึ่ง เนื้อหานั้นขัดกับกฎหมายที่มีบทบัญญัติชัดเจนและตราขึ้นอย่างโปร่งใส สอง การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความชอบธรรม และประการสุดท้าย คือ จำเป็นต้องจัดการปัญหาด้วยการจำกัดเสรีภาพเพราะไม่สามารถใช้หนทางอื่นแทนการจำกัดเสรีภาพได้แล้ว ซึ่งเขาเห็นว่า กรณีของเสริมสุขไม่เข้าข่ายทั้งข้อหนึ่งและข้อสาม แม้จะเป็นที่ถกเถียงได้ว่าอาจเข้าข่ายข้อสองแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ดี  

ในส่วนของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน อาทิตย์เห็นว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่การบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายผิดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายอาญาแผ่นดินจึงควรมุ่งลงโทษผู้ละเมิดต่อระบบเท่านั้น ทว่ากลับนำมาใช้ควบคุมเนื้อหา การบัญญัติตัวบทในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ใช้คำที่กว้าง ทำให้มีการตีความไปต่างๆ นานา ซึ่งตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง หากการกระทำความผิดมีกฎหมายเฉพาะเช่นกฎหมายหมิ่นประมาทรองรับอยู่แล้วก็ไม่ควรใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซ้ำซ้อนอีก