สถานการณ์ซ้อมทรมานปี 2555: ยังเลวร้าย ไม่เปลี่ยนแปลง

สืบเนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันต่อต้านการทรมานสากล คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดเวทีนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการทรมานในประเทศไทย เพื่อนำเสนอความเคลื่อนไหวล่าสุดของสถานกาณ์ในประเทศไทย รวมทั้งหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลจากการซ้อมทรมาน

ทั้ังนี้ประเทศไทยเป็นภาคีกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550 ทว่าการทรมานยังคงมีอยู่ในสังคมไทย หลายครั้งเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเท่ากับว่ารัฐไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาเฉกเช่นที่ควรจะเป็น

 

ภาพถ่ายจากเวทีนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการทรมานในประเทศไทย 25 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรม สุโกศล

ที่มาภาพ ประชาไท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติตามพันธะกรณีของไทยเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือความบกพร่องของระบบกฎหมาย ทั้งนี้ คำว่า “การทรมาน" ไม่มีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายไทย .วิทิต มันตาภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า แม้ว่าไทยจะเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน แต่ในกฎหมายไทยกลับไม่มีการให้คำนิยามของการทรมานไว้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความเห็นว่า การทรมานไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา จึงไม่สามารถเอาโทษกับผู้กระทำผิดได้

สำหรับเหยื่อของการทรมานนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวและมีปัญหาด้านความมั่นคง เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อสูง มูฮัมหมัดเปาซี อาลีฮา ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า เหตุที่การทรมานถูกนำมาใช้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพราะ มีความเชื่อกันว่า การทรมานเป็นวิธีที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลบางอย่าง สำหรับปัจจัยที่เอื้อให้การทรมานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย คือการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหา จึงเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลไปทรมานเพื่อหาข้อมูลก่อนจะปล่อยตัวกลับมาโดยไม่มีการตั้งข้อหาหลายต่อหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เป็นเหยื่อของการทรมานไม่ได้มีเพียงแค่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า นอกจากบุคคลที่อาศัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ผู้มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการทรมานยังอีกมีหลายกลุ่ม เช่น ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่สภาพที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกักตัวรวมกันไว้ในพื้นที่แคบๆ และประสบความยากลำบากในการเข้าถึงน้ำสะอาดและอาหารก็อาจถือเป็นการทรมานรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของการทรมานได้แก่ กลุ่มบุคคลซึ่งศาลสั่งว่าเป็นบุคคลวิกลจริตและถูกกักตัวเพื่อรักษาตามสถานพยาบาล ซึ่งศ.วิทิต มีความกังวลว่า ในบางกรณี วิธีการรักษาพยาบาลอาจเข้าข่ายการทรมานได้

นอกจากการนำเสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้เข้าร่วมการอภิปรายยังแลกเปลี่ยนถึงแนวทางที่น่าจะทำให้การทรมานเบาบางหรือลดน้อยลงด้วย ทางหนึ่งคือการสุ่มตรวจสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะมีการทรมานบุคคล เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ และโรงพยาบาลที่บำบัดบุคคลที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นคนวิกลจริตโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพื่อให้มีโอกาสเข้าไปเห็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสถานที่เหล่านี้และจะได้หาทางแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ดี พรเพ็ญยอมรับว่าการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากสถานที่เหล่านี้มักมีกฎระเบียบและการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด การแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้มากกว่าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การผลักดันให้ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพราะการทรมานมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ถูกควบคุมตัวด้วยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ยาก ต่างจากการควบคุมตัวโดยราชทัณฑ์ซึ่งดูจะโปร่งใสมากกว่า

ในส่วนของการแก้ไขเพื่มเติมความผิดฐานทรมานทั้งในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลวิธีพิจารณาความอาญานั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรยินดีที่จะช่วยให้การแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายเป็นไปโดยรวดเร็ว ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายควรจำกัดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพราะหากเสนอแก้ไขในหลายจุดอาจทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป