เข้าใจความหมายของการ “อุ้มหาย” เขียนกฎหมายให้แก้ปัญหา

เราอาจเคยเห็นพาดหัวข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ว่า “อุ้มหาย” หรือ “อุ้มฆ่า” โดยเหยื่ออาจเป็นผู้มีอิทธิพล หรือ ผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างกับรัฐ บางคนอาจคิดในใจว่า “เป็นปุ๋ยไปแล้วมั๊ง!” หรือไม่ก็ “พวกนี้มันมาเฟียจริงๆ!” ซึ่งหากพิจารณาในแง่กฎหมาย การ “อุ้มหาย” ที่เห็นกันตามหน้าข่าว จริงๆ แล้วเป็นความผิดตามกฎหมายฐานใด และใครบ้างที่เป็นผู้เสียหาย
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคีใน “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย” ขององค์การสหประชาชาติ การลงนามดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองว่าประเทศไทยจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อหลักของอนุสัญญา แต่อนุสัญญาจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎหมายของบ้านเรา ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญา 
คำถามอาจเกิดขึ้นว่า ทำไมประเทศไทยยังต้องปรับปรุงกฎหมายอีก? กฎหมายอาญาที่มีอยู่ไม่เพียงพอหรือ? การทำความเข้าใจ ว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวหมายความว่าอะไร และต่างจากความผิดที่มีอยู่แล้วในกฎหมายอย่างไร อาจช่วยตอบคำถามได้บ้าง
นิยามของการ “อุ้มหาย” ต้องทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ความหมายของ “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ตามข้อบทที่ 2 ของอนุสัญญากล่าวไว้ว่า
การบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย
จะเห็นว่า การบังคับบุคคลให้สูญหายก็เป็นเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของเจ้าหน้ารัฐ แต่เมื่อแยกองค์ประกอบของความผิดแล้ว จะพบลักษณะพิเศษของความผิดฐานนี้ คือ 
  • ผู้กระทำ จับ ควบคุมตัว หรือ ลักพาตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคล 
  • การกระทำดังกล่าวกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ
  • รัฐปฏิเสธการกระทำดังกล่าว หรือ ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของบุคคลนั้น หรือปฏิเสธที่จะบอกว่าบุคคลนั้นอยู่ที่ไหน 
  • ผู้กระทำมีเจตนาที่จะทำให้บุคคลนั้นอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย
จากบทนิยามข้างต้น เห็นได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหายนั้น ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้รู้เห็นเป็นใจต่อการกระทำนั้นด้วย  ดังนั้นหากการบังคับบุคคลให้สูญหายกระทำโดยบุคคลอื่น เช่น กลุ่มมาเฟีย กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรือ ผู้ก่อการร้าย โดยที่รัฐไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย กรณีก็จะไม่เข้านิยามของการบังคับให้สูญหายภายใต้อนุสัญญานี้ แต่ยังเป็นความผิดฐานอื่น และรัฐยังคงมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี
การบังคับบุคคลให้สูญหาย อาจเริ่มจากการจับ การควบคุมตัว การลักพาตัว หรือการกระทำอย่างอื่นที่ทำให้บุคคลนั้นต้องสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งไม่ว่าการกระทำในส่วนแรกจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าภายหลังรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือไม่ยอมให้ข้อมูลว่าบุคคลนั้นเป็นอยู่อย่างไร ก็อาจเข้าข่ายความหมายของการบังคับบุคคลให้สูญหายตามอนุสัญญาได้
ลักษณะสำคัญอีกประการ ของการบังคับให้สูญหายนั้น คือ บุคคลต้องถูกบังคับให้ต้องตกอยู่นอกความคุ้มครองของกฎหมาย หรือ ตกอยู่ในสถานะที่ไม่อาจอ้างสิทธิใดๆตามกฎหมายได้เลย ญาติหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นไม่อาจจัดการเรื่องทรัพย์สินได้ จนกว่าจะขอให้ศาลสั่งว่าเป็น “คนสาบสูญ” ซึ่งต้องรอให้หายไปครบห้าปี หรือถ้ามีเหตุการณ์พิเศษก็สองปี 
ลองดูตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ลองพิจารณาจากกรณีตัวอย่าง  3 กรณี ว่า กรณีใดบ้างที่เข้าข่าย “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ตามอนุสัญญา 
กรณีที่ 1: นักธุรกิจผู้ชอบวิจารณ์การเมืองหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ภายหลังคนขับรถออกมาสารภาพว่าเป็นคนฆ่าเพื่อเอาเงินสดสิบล้าน
กรณีที่ 2: เจ้าหน้าที่ทหารมาเอาตัวผู้ต้องสงสัยจากที่บ้านต่อหน้าญาติพี่น้อง และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และระยะเวลาที่ควบคุมตัว
กรณีที่ 3: ตำรวจจับคนค้ายาเสพติดและควบคุมไปสอบปากคำ ระหว่างการสอบปากคำมีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้ข้อมูลจนตาย ตำรวจตัดสินใจนำศพไปถ่วงน้ำเพื่อปกปิดความผิด
จากกรณีตัวอย่างทั้งสามกรณี :
กรณีที่ 1: ไม่เข้าข่ายการบังคับบุคคลให้สูญหาย เนื่องจากคนขับรถเป็นคนฆ่า ไม่ใช่การกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เว้นแต่จะปรากฏว่า คนขับรถได้กระทำไปโดยการยินยอม การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อเจอศพแล้ว ก็ถือว่าการกระทำความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายนั้นสิ้นสุดลง เนื่องจากการทราบชะตากรรมของนักธุรกิจนั้น
กรณีที่ 2: ไม่เข้าข่ายการบังคับบุคคลให้สูญหาย แม้เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ควบคุมตัวไป โดยไม่ยอมเปิดเผยสถานที่ของการควบคุมตัวแก่ญาติ แต่กรณียังไม่ถือว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย เนื่องจากรัฐไม่ได้ปฏิเสธการควบคุมตัว และบุคคลที่ถูกควบคุมตัวไว้ก็ไม่ได้ตกอยู่ภายนอกกรอบความคุ้มครองแห่งกฎหมายเสียทีเดียว เนื่องจากญาติของผู้ถูกควบคุมยังอาจใช้มาตรการอย่างอื่น เช่น มาตรการทางศาลในการร้องขอให้ปล่อยตัวได้ หากเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่ 3: เป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย การที่ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยมา ไม่ว่าการจับกุมและควบคุมตัวนั้นจะมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อทำร้ายร่างกายจนตาย และภายหลังตำรวจปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลหรือบอกความจริงแก่ญาติหรือครอบครัวว่าเกิดอะไรขึ้น กรณีก็ถือว่าเข้าตามนิยามการบังคับบุคคลให้สูญหาย แม้การกระทำของตำรวจจะประกอบด้วยการกระทำความผิดอาญาหลายบทด้วยกัน เช่น ทำร้ายร่างกาย และ ปิดบังซ่อนเร้นศพ แต่เมื่อการกระทำทั้งหลายกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐและมีการปฏิเสธที่จะเปิดเผยชะตากรรมของบุคคลที่หายไป จึงเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย ตามความหมายของอนุสัญญา และเป็นความผิดอีกฐานหนึ่งแยกออกต่างหากจากความผิดอื่นๆ
จะเขียนความผิดฐาน “อุ้มหาย” อย่างไร
แม้ตัวอนุสัญญาเองไม่ได้กำหนดอย่างเคร่งครัดว่าต้องกำหนดนิยามของคำว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ลงในกฎหมายของประเทศสมาชิก แต่อย่างไรก็ดี การเขียนกฎหมายก็จะต้องเขียนให้สามารถแยกความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายออกจากความผิดอื่นๆ เช่น หน่วงเหนี่ยวกักขัง ลักพาตัว ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ได้อย่างชัดเจน 
ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของความผิดฐานนี้ คือ บุคคลที่สูญหายนั้นต้องอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมายอย่างสิ้นเชิง ทำให้ครอบครัวหรือญาติต้องทุกข์กับความไม่รู้และไม่อาจใช้สิทธิใดๆตามกฎหมายแทนคนที่หายไปได้ ผู้เสียหายของความผิดฐานนี้ จึงไม่ใช่เฉพาะคนที่หายตัวไป แต่ยังรวมถึงบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับให้สูญหาย และผู้เสียหายเหล่านี้จะต้องมีสิทธิได้รับการเยียวยา ได้รู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ตนรัก
นอกจากนี้ ความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายหนึ่งฐาน ยังมีลักษณะเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าการสูญหายจะสิ้นสุดลง กล่าวคือ ไม่ว่าจะนานสักกี่ปี ตราบใดที่ยังไม่รู้ชะตากรรมของคนที่หายไป อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังมีความผิดและถูกลงโทษได้เสมอ  
เมื่อทราบลักษณะของความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายแล้ว ก็จะเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับการบังคับบุคลให้สูญหาย เพราะฐานความผิดตามกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็มีโทษน้อยเกินไป หรือ ความผิดฐานฆ่าคนตาย ก็แทบเป็นไปไม่ได้ในการพิสูจน์ความผิดเพราะหาศพหรือหลักฐานว่าเสียชีวิตแล้วไม่พบ 
ประเทศไทยเคยมีเหตุการณ์ “อุ้มหาย” หลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำตัวคนกระทำผิดมาลงโทษได้ หรือ ไม่มีฐานความผิดในอัตราโทษที่เหมาะสม การเขียนความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายให้ชัดเจนตามความหมายที่ยอมรับกันในทางสากล คงเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถทำได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้อย่างแท้จริง