โซ่ตรวนนักโทษไทย ควบคุมตัวด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์

15 พ.ค. 2556 กรมราชทัณฑ์จัดงานวันประกาศถอดตรวน ขึ้นที่ เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานการจัดงาน ปลดโซ่ตรวนให้กับผู้ต้องขัง 563 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์มีแนวปฏิบัติที่จะใส่ตรวนผู้ต้องขังที่มีโทษประหารชีวิตทุกคน เพราะพิจารณาว่าผู้ที่มีโทษสูง เป็นบุคคลอันตรายและมีเหตุเชื่อว่าน่าจะหลบหนี ขณะที่ผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินประหารชีวิตไม่ว่าจากพื้นที่ใดก็จะถูกย้ายมาขังรวมกันที่เรือนจำบางขวางซึ่งถือว่าเป็นเรือนจำที่มีความแข็งแกร่ง และมีระบบรักษาความปลอดภัยชั้นดีที่สุด
ดังนั้น การคุมขังนักโทษในเรือนจำที่มีระบบรักษาความปลอดภัยดีที่สุดในประเทศไทยคงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ตรวนนักโทษเพื่อป้องกันการหลบหนีอีก การปลดตรวนให้กับนักโทษในเรือนจำบางขวางจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อสิทธิของผู้ต้องขัง และเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในเรือนจำให้ดีขึ้น ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ออกจดหมายสนับสนุนการถอดตรวนครั้งนี้ด้วย
แต่ขณะเดียวกัน นักโทษอีกจำนวนมากที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอื่นอีกกว่าหนึ่งร้อยแห่งทั่วประเทศ ที่กรมราชทัณฑ์มองว่าเป็นบุคคลอันตรายยังคงถูกใส่ตรวนไว้ตลอดเวลา และนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ยังไม่ได้ย้ายมาที่เรือนจำบางขวาง ก็ยังต้องใส่ตรวนอยู่เช่นกัน พวกเขายังต้องรอการขยายผลจากโครงการนี้ซึ่งไม่แน่ว่าต้องรออีกนานเท่าใด ขณะที่นักโทษในเรือนจำบางขวางเองก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าพวกเขาจะไม่ต้องกลับมาใส่โซ่ตรวนอีก 
การรู้จัก “โซ่ตรวน” ที่นักโทษต้องใส่ให้มากขึ้น อาจช่วยให้เข้าใจชัดเจนขึ้นได้ว่า ทำไมคนกลุ่มหนึ่งถึงสนับสนุนให้ยกเลิกโซ่ตรวน 
งานชิ้นนี้จึงรวบรวมข้อเขียนที่เป็นเสียงจากด้านในเรือนจำ บอกเล่าข้อเท็จจริงและความรู้สึกว่าเมื่อใส่โซ่ตรวนไว้ที่ขาทั้งสองข้างแล้วแล้วเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร เพื่อประกอบการพยายามตอบคำถามว่า การใส่โซ่ตรวนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และจำเป็นสำหรับการป้องกันการหลบหนีและรักษาความปลอดภัยเพียงใด
“ผมสังเกตว่าคนที่ถูกตีตรวนเขาเดินกันยังไง เขาทำเหมือนเข็มขัด รั้งเอาสายโซ่ขึ้นไปเกี่ยวไว้ที่เอว มันก็เดินลากไปได้ ก็หัดเดิน วันรุ่งขึ้นเห็นบางคนเขาวิ่งได้ ก็สังเกตว่าเขาทำได้ยังไง เขามีสายรัดโซ่ที่รั้งไว้กับเอวแนบกับต้นขา มันก็ไม่เกะกะ ก้าวเราจะสั้นหน่อย แต่ก็พอวิ่งเหยาะๆ ได้ ผมหัดอาทิตย์หนึ่งก็วิ่งเป็น ขยับตัวออกกำลังกายได้”
 
จาก 4 ปี 1 เดือน 27 วัน เราจะฝ่าข้ามทุกข์นั้นได้อย่างไร
บทสัมภาษณ์ธีรพล จินต์วุฒิ อดีตผู้ต้องขังโทษประหารชีวิต ที่ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2551
“คืนนั้นผมนอนลง แต่ไม่สามารถข่มตาให้หลับลงได้ มองไปที่ขาทั้งสองข้างเห็นโซ่ตรวนแล้วรู้สึกหดหู่ใจ จิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้สิ้นหวังเหมือนกับว่าผมไม่ใช่คน แต่เป็นเสือหรือลิงที่ถูกขังไว้ในกรงของสวนสัตว์ก็ไม่ผิด

เวลาใส่หรือถอดกางเกงก็ลำบากมาก โซ่ซึ่งเป็นเหล็กขึ้นสนิมง่ายต้องหมั่นล้างขัดถูทำความสะอาดทุกๆ วัน มิเช่นนั้นอาจเป็นบาดทะยัก ทำให้เกิดแผลอักเสบได้ ตอนกลางคืนอากาศเย็นทำให้ตรวนที่ขาเย็นมากๆ เย็นทะลุเข้ากระดูก ต้องใส่ถุงเท้ายาวจนถึงหัวเข่า ไม่เช่นนั้นเวลานอนหลับแล้วเผลอไปนอนทับตรวนจะรู้สึกเย็นและสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนดึกๆ เป็นประจำ”

จาก จุดจบคือโอกาส โดย ภุมริน ภมรตราชูกุล
หนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร สำนักพิมพ์ สารคดี
“ทันทีที่ผมเดินถึงข้างบ่อ ผมเริ่มรู้สึกตัวว่าผมคงจะมีปัญหากับการอาบน้ำเสียแล้ว ไม่ใช่เพราะการยืนอาบน้ำในที่โล่งแจ้ง แต่เป็นเพราะผมไม่รู้จะถอดกางเกงให้ออกจากโซ่ตรวนที่ข้อเท้าได้อย่างไร

ผมยืนมองผู้อื่นที่กำลังถอดกางเกงขาสั้นของเขาและคอยทำตามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาถอดกางเกงกันอย่างคล่องแคล่วมากจนดูเหมือนการแสดงมายากล แล้วก็มีผู้ต้องขังผู้หนึ่งมาช่วยถอดกางเกงให้ผมด้วยใบหน้ายิ้มๆ พร้อมกับสอนผมไปด้วย
 

“พี่ต้องเอาขาข้างนี้ลอดห่วงนี้ก่อนแล้วย้อนขึ้นมา ทบกลับแบบนี้ แล้วจัดส่วนนี้แทรกลงไปในห่วงนี้…”
ในที่สุดกางเกงขาสั้นของผมก็หลุดติดมือเขาออกมาจนได้ ผมขอบคุณเขาก่อนที่เจ้าตัวจะจากไปด้วยใบหน้ายิ้มๆ เป็นอันว่าผมได้ยืนอาบน้ำเหมือนกับคนอื่นๆ จนเสร็จ

เมื่อเช็ดตัวแห้งดีแล้วผมก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการสวมกางเกงขาสั้นตัวใหม่ ทำอย่างไรจึงจะให้กางเกงผ่านโซ่ตรวนขึ้นมาได้ ผมได้ลองพยายามอยู่หลายท่า หลายวิธี จนน้องผู้ต้องขังคนเดิมเข้ามาช่วยสอนอย่างสุภาพ และจากไปด้วยใบหน้ายิ้มๆ เหมือนเดิม หลังจากที่ผมกล่าวขอบคุณเขาอีกครั้งที่ช่วยผมสวมกางเกงได้สำเร็จ ทันเวลาขึ้นเรือนนอนพอดี”

จาก ชีวิตคือการเรียนรู้ โดย “หมอธรรมดา”
หนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร สำนักพิมพ์ สารคดี
"ยามดึกดื่นค่อนคืน บางครั้งที่ตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ เขาเห็นเพื่อนร่วมห้องหลายคนยังนอนไม่หลับ บางคนนอนคว่ำเขียนจดหมายถึงพ่อแม่หรือลูกเมียที่บ้าน บางคนนอนหงายมือก่ายหน้าผากเหมือนกำลังคิดหนัก หลายคนนอนกระสับกระส่าย เสียงโซ่ตรวนที่ข้อเท้ากระทบกันดังเป็นระยะ ยามพลิกตัวเปลี่ยนอิริยาบถ เสียงนั้นสะท้อนก้องเข้าไปกระทบถึงในจิตใจเขาจนรู้สึกสั่นสะท้าน เวลานี้เขากับผองเพื่อนมีสภาพไม่ต่างไปจากสัตว์ที่ถูกขังในกรงรอส่งชำแหละที่โรงฆ่า มีโซ่ตรวนพันธนาการแน่นหนาที่ข้อเท้าหมดสิทธิ์จะเล็ดลอดหลบหนี รอเวลาที่เจ้าของจะจับไปเชือดคอเมื่อไรก็ได้"
จาก หลังม่านกำแพงคุก โดย ภุชงค์
หนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร สำนักพิมพ์ สารคดี
"การถูกล่ามโซ่ตรวน สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันให้กับนักโทษทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาต่างๆ หรือการจะเปลี่ยนอิริยาบถเมื่อปวดเมื่อยก็ลำบาก หรือแม้แต่เวลานอนก็จะหนวกหูกับเสียงดังของโซ่ที่กระทบกัน

ดังนั้น นักโทษต่างชาติมักจะร้องเรียนไปยังสถานทูตของตนเอง หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น นักโทษต่างชาติผิวดำชาวแอฟริกันจะอ้างว่าการถูกล่ามโซ่แสดงถึงความเป็นทาส หรือนักโทษต่างชาติผิวขาวก็จะอ้างว่าการถูกล่ามโซ่มีผลต่อสุขภาพ ทำให้เจ็บข้อเท้า บางครั้งเกิดเป็นแผลเน่าอักเสบ เดินลำบากไม่ถนัด หรือไม่สามารถออกกำลังกายได้ อย่างเช่น วิ่ง เตะฟุตบอล หรือตะกร้อ เป็นต้น"

จากหนังสือ คุก ความตาย อิสรภาพ โดย ชาญชัย นิ่มสมบุญ สำนักพิมพ์ Think Good
นอกจากกรณีของผู้ต้องขังโทษสูงในเรือนจำแล้ว ตรวนยังถูกนำมาใช้กับผู้ต้องขังทุกคนเมื่อต้องเดินทางออกไปนอกเรือนจำ เช่น ไปศาล หรือย้ายเรือนจำ โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานอะไร ไม่แบ่งแยกตามนิสัย พฤติการณ์ว่าจะหลบหนีหรือไม่ 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ต้องเดินทางมาศาลหลายครั้ง รวมทั้งถูกส่งตัวไปฟังการสืบพยานถึง 4 จังหวัด เขียนบทความเรื่อง “ตีตรวนล่ามโซ่ผู้ถูกกล่าวหากับความป่าเถื่อนศาลไทย” เล่าเรื่องความทุกข์ของการใส่โซ่ตรวนเมื่อถูกนำตัวไปศาลว่า
“ผมเองต้องตกอยู่ในสภาพการถูกล่ามโซ่ เมื่อถูกส่งตัวไปศาล และย้ายที่คุมขังจากเรือนจำหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งจะต้องตีตรวนด้วยโซ่ไว้ที่ขาทั้งสองข้าง มีผู้คุม 4 คน พร้อมอาวุธปืน นำใส่รถกรงขังที่มีความแน่นหนาเพื่อป้องกันการหลบหนีระหว่างเดินทาง ผมถูกตีตรวนล่ามโซ่ไว้ก่อนเดินทางหนึ่งวัน เมื่อไปถึงที่หมายยังต้องอยู่กับมันอีกหนึ่งวัน โซ่มีน้ำหนักมากประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม ขนาดของโซ่ 10 – 18 มิลลิเมตร เวลาเดินเจ็บข้อเท้า ต้องดึงโซ่ไว้ตลอดเวลา ไม่ให้ลากกับพื้น โซ่เป็นสนิมมักจะเสียดสีกับผิวหนังจนเกิดเป็นแผลถลอก มักจะติดเชื้อลุกลามเป็นแผลเน่าใช้เวลารักษาอยู่หลายเดือน และมักจะเป็นรอยแผลดำจารึกไว้บนข้อเท้าตลอดไป” 
สมยศเรียกร้องให้ยกเลิกการใส่ตรวจผู้ต้องขังที่เดินทางไปศาล เพราะสำหรับจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุดต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การใส่ตรวนทำให้รู้สึกตัวเองว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งๆ ที่บางคนอาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิด เขายังเขียนไว้ด้วยว่า “นักโทษถูกขังไว้ในรถที่แน่นหนาอยู่แล้ว พร้อมผู้คุมติดอาวุธ เมื่อลงจากรถก็ตรงสู่ห้องขังทันที ไม่มีโอกาสหลบหนีได้เลย การตีตรวนล่ามโซ่ส่งตัวไปไต่สวนที่ศาลจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง”
ข้อเขียนจากผู้ต้องขังที่เคยผ่านประสบการณ์กับ “โซ่ตรวน” มาโดยตรงน่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจปัญหาโซ่ตรวนกับสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังได้มากขึ้น ขณะที่เมื่อเดือนมีนาคม 2556 กระทรวงยุติธรรม ก็ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น กล่าวคือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่มีระบบติดตามตัวแทนการจำคุก ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ระหว่างที่โครงการปลดโซ่ตรวนยังไม่ไปถึงเรือนจำทุกแห่ง และผู้ต้องขังที่เดินทางออกนอกเรือนจำยังต้องถูกใส่โซ่ตรวนอยู่ หากอุปกรณ์แบบใหม่นี้ถูกนำมาใช้กับนักโทษที่มีพฤติการณ์น่าจะหลบหนีได้ และโซ่ตรวน พันธนาการที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับนักโทษก็อาจจะหมดความจำเป็นไปจากสังคมไทย
——————–
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ตีตรวนล่ามโซ่ผู้ถูกกล่าวหากับความป่าเถื่อนศาลไทย, บล็อกกาซีน ประชาไท (เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 56)