4 ปีเมทาโดนภายใต้บัตรทอง ผู้ใช้ยาเสนอ ‘ขอเมทาโดนกลับบ้าน’

เมทาโดนเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่สังเคราะห์จากฝิ่น มีฤทธิ์คล้ายกับเฮโรอีน แต่ออกฤทธิ์นานกว่า ในทางการแพทย์ใช้เมทาโดนเพื่อบำบัดรักษาผู้ใช้เฮโรอีน การกินเมทาโดนสม่ำเสมอและต่อเนื่องในระยะยาวช่วยให้ลดและหยุดการใช้เฮโรอีนได้ ทั้งยังลดโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน นอกจากนี้ การกินเมทาโดนทำให้ผู้ใช้ยาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ไม่เป็นภาระกับครอบครัว ชุมชน และสังคม จึงช่วยลดอาชญากรรมที่เกิดจากการนำเงินมาซื้อยาได้ด้วย

เมทาโดนเข้าสู่การเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 หลังการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้ยาและเครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติดกว่า 3 ปี ทำให้ผู้ใช้ยาสามารถเข้าถึงการบำบัดรักษาด้วยเมทาโดนได้ภายใต้เงื่อนไขของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

1 ตุลาคม 2555  เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (เครือข่าย 12D) จัดเวทีเสวนา “4 ปี เมทาโดนภายใต้หลักประกันสุขภาพ” ขึ้น ที่โรงแรมเอบิน่าเฮ้าส์ ถนนวิภาวดี 64 โดยมีทั้งตัวแทนจากผู้ใช้ยาซึ่งเป็นผู้รับบริการ ตัวแทนจากผู้ให้บริการ ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี มาร่วมรับฟังปัญหา ตอบข้อข้องใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับบริกาเมทาโดน และร่วมกันหาทางออกเพื่อให้การบริการเมทาโดนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ผู้ดำเนินรายการในเวทีนี้ ได้เปิดการเสวนาด้วยการยกข้อความจากจดหมายเวียนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ส่งให้สถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งมีใจความว่า “ขนาดยาที่เหมาะสมของการให้เมทาโดนระยะยาว พบว่า ควรให้ขนาดยาที่มากพอและปรับให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล  ค่าเฉลี่ยของขนาดยาเท่ากับ 60-120 mg ต่อวัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์มากกว่า เมื่อได้รับ high dose คือตั้งแต่ 60 mg ขึ้นไป และให้ต่อเนื่องระยะยาวโดยไม่กำหนดระยะเวลา”

สุภัทรากล่าวว่า ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่  ทั้งเรื่องมาตรฐานของเมทาโดนที่แตกต่างกัน  การเก็บค่าขวดหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้การบริการเมทาโดนไม่ฟรีจริง องค์ความรู้ที่จำกัดของผู้ให้บริการและการติดตามให้ผู้ใช้ยารับบริการสม่ำเสมอ รวมถึงการให้บริการที่ยังไม่สอดคล้องกับชุมชน

ศักดิ์ศิริ วนิชชานนท์  เจ้าหน้าที่บ้านออเด้น หนึ่งในเครือข่าย 12Dตัวแทนผู้ใช้ยา  กล่าวว่า  ปัจจุบันกินเมทาโดนมา 4-5 ปีแล้ว  อยากให้สามารถนำเมทาโดนกลับบ้านได้ ปัจจุบันศูนย์ไม่ให้เอากลับบ้าน เคยพยายามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เรื่องขอเมทาโดนกลับบ้านแล้ว แต่ก็ได้คำตอบว่าผิดระเบียบ เพราะกลัวจะนำไปใช้ผิดประเภทจนทำให้เกิดอาการเมทาโดนเกินขนาด หรือโอเวอร์โดส จึงตัดสินใจเลิกใช้เมทาโดนไปเลย  แต่เมทาโดนก็เป็นสารเสพติดที่เมื่อใช้นานแล้วก็ติด เคยพยายามเลิกแล้ว แต่ต้องกลับไปใช้เมทาโดนที่ศูนย์อีก

“ชีวิตของผู้ใช้ยาหรือผู้ใช้เมทาโดนคนหนึ่ง ผมว่ามันเป็นอะไรที่แย่ ต้องยึดติดกับการใช้เมทาโดน จะไปไหนก็ไม่ได้ อย่างผม ไม่สามารถไปสัมมนาต่างจังหวัดได้ ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างปกติไม่ได้ เพราะบ้านผมอยู่มีนบุรีแต่ผมทำงานที่นนทบุรี จะกลับบ้านก็ต้องไปกลับภายในวันเดียว ไม่สามารถไปนอนค้างกับครอบครัวเพราะตื่นเช้ามาก็ต้องกินเมทาโดน ต้องไปศูนย์และกินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่” ศักดิ์ศิริกล่าว 

ศักดิ์ศิริให้ความเห็นว่า ผู้ใช้ยาบางคนอาจจะพอใจที่จะมารับยาทุกวัน เพราะจะได้พบปะเพื่อนผู้ใช้ยาเหมือนกัน การนำเมทาโดนกลับบ้านน่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ยา  โดยอาจจะมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติกลับไปใช้ยา หรือหรือผู้ที่มีความประพฤติน่าไว้วางใจ สามารถนำเมทาโดนกลับบ้านได้

 

ภาพประกอบจาก theguardian

 

บุณยราศรี ช่างเหล็ก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลจะนะ ตัวแทนผู้ให้บริการ  กล่าวว่า อำเภอจะนะ เป็น 1 ใน 5 อำเภอที่มีปัญหายาเสพติดมากเป็นที่สุดของจังหวัดสงขลา ที่โรงพยาบาลมีคลินิกให้บริการเมทาโดนมาตั้งแต่ปี 2542ปัจจุบันมีคนไข้ที่ติดเฮโรอีนมาที่โรงพยาบาลถึงวันละ 90-100 คน โรงพยาบาลจะนะจะให้คนไข้นำเมทาโดนกลับบ้านได้ แต่ต้องเป็นคนที่ไว้วางใจได้ว่าจะสามารถเก็บรักษาเมทาโดนให้ปลอดภัยได้ คือต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก ไม่นำไปขาย ไม่นำไปฉีด หรือไม่นำไปให้คนอื่นกิน

บุณยราศรียังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ใช้เมทาโดนกับคนไข้ผู้ใช้ยามาตั้งแต่ปี 2542 ได้ทำงานวิจัยที่เรียกว่า งานประจำสู่การวิจัย (Routine to Research)ผลการวิจัยออกมาว่า การใช้เมทาโดนส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้ยาดีขึ้นทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านร่างกาย ผู้รับบริการน้ำหนักตัวขึ้น ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และหากติดเชื้อก็จะได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน  2.จิตใจ มีความเข้มแข็งและมีความสุข  3.สัมพันธภาพภายในครอบครัวดีขึ้น 4.พึ่งพิงยาเสพติดน้อยลง และ 5.มีความเชื่อและความศรัทธาแน่วแน่

ผู้ดำเนินรายการถามถึงสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนในฐานะผู้ให้บริการ บุณยราศรีตอบว่า  ทุกโรงพยาบาลต้องมีคลินิกบำบัดยาเสพติดที่ให้บริการเป็นสัดส่วน ซึ่งหากผู้บริหารของสถานพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ใช้ยาก็จะทำให้การดูแลผู้ใช้ยาเป็นไปด้วยดี รวมถึงเรื่องการนำเมทาโดนกลับบ้านด้วย

นพ.วิโรจน์ วีรชัย  ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี หรือสถาบันธัญญารักษ์เดิม  กล่าวว่า  ข้อกังวลใหญ่ของการให้เมทาโดนกลับบ้านคือเรื่องความปลอดภัย เพราะหากเด็กหรือคนที่ไม่เคยใช้ยาเผลอกินเข้าไปอาจจะได้รับอันตรายได้  และตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า สามารถให้ผู้ใช้ยานำเมทาโดนกลับบ้านได้ไม่เกิน 350 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถานพยาบาล

นพ.วิโรจน์ เห็นว่ามาตรฐานความเข้มข้นของดมทาโดนแต่ละที่ไม่แตกต่างกัน แต่การบริหารจัดการอาจจะแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ และระดับของโดสที่จะให้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนซึ่งไม่เท่ากัน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ให้บริการด้วย ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย

นพ.วิโรจน์กล่าวว่า สถานพยาบาลเอกชนซื้อเมทาโดนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ถึงร้อยละ 60 น่าสนใจว่าทำไมผู้ใช้ยาถึงซื้อเมทาโดนจากสถานพยาบาลเอกชนกันมาก  เคยมีข่าวว่า มีคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ นำเมทาโดนผสมกับโดมิคุมมาฉีด อย.จึงพยายามจะปรับลดความเข้มข้นของเมทาโดนลง เพื่อไม่ให้เมทาโดนบริสุทธิ์พอที่จะนำไปฉีดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ยา

ผู้เข้าร่วมงานเสวนาจากเครือข่าย 12D แสดงความคิดเห็นว่า การบริการและความเข้มข้นของเมทาโดนในสถานพยาบาลเอกชนสามารถตอบสนองผู้ใช้ยาได้ดีกว่า อีกทั้งยังยืดหยุ่นกว่า เพราะสามารถซื้อเมทาโดนจากคลินิกเอกชนในปริมาณเท่าไรก็ได้ ทำให้สามารถไปทำงานหรือออกไปไหนไกลๆ ได้โดยที่ไม่ต้องมารับเมทาโดนทุกวัน และสถานพยาบาลเอกชนมีบริการที่เป็นมิตรกว่า

ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่งยังให้ความเห็นว่า ผู้ให้บริการตื่นตระหนกเกินไปว่าจะเกิดอาการเมทาโดนเกินขนาดหรือโอเวอร์โดส ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า ไม่มีการโอเวอร์โดสจากการใช้เมทาโดนเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดได้จากการใช้เมทาโดนร่วมกับเฮโรอีน ความตื่นตระหนกแล้วเป็นอุปสรรคในการอนุญาตให้นำเมทาโดนกลับบ้าน  และบางโรงพยาบาลก็อ้างว่าไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เลยใช้วิธีการไม่ให้เมทาโดนดีกว่า

หลังจากผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น นพ.วิโรจน์ตอบว่า อย่างไรแพทย์ที่ให้เมทาโดนก็ต้องมีความรู้ที่ดีพอ เพราะเคยมีกรณีการให้เมทาโดนโดยไม่มีความรู้เพียงพอกับชาวเขาในภาคเหนือ ทำให้เกิดโอเวอร์โดสจนเสียชีวิต  ความปลอดภัยจึงต้องมาก่อน ส่วนความสะดวกในการนำเมทาโดนกลับบ้านนั้นเห็นด้วยว่าควรมี แต่ต้องทำให้เหมาะสมและปลอดภัย

นพ.สรกิจ ภาคีชีพ  ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มองใน 2 ส่วน คือ การจัดสิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบ ในระยะแรกตั้งงบประมาณไว้มาก แต่งบประมาณเหลือเพราะคนไข้เข้าไม่ถึงบริการ

ผู้เข้าร่วมงานถามว่า ผู้ใช้ยาสามารถรับบริการเมทาโดนนอกพื้นที่ได้หรือไม่  นพ.สรกิจตอบว่า การรับเมทาโดน ไม่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลประจำ โรงพยาบาลต่างจังหวัดก็จะได้รับค่าชดเชยครั้งละ 30 บาท โดยที่ไม่ต้องมีใบส่งตัว

ผู้เข้าร่วมจากองค์กรต่างๆ ในเครือข่าย 12D ตั้งคำถามและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายประเด็น เช่น การบริการเมทาโดนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งตอนนี้มีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้นำเมทาโดนเข้าสู่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม และการเปลี่ยนมาเก็บเงิน 30 บาทของบัตรทอง สามารถอ้างสิทธิไม่ประสงค์ร่วมจ่ายได้

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการให้บริการเมทาโดนในเรือนจำ ที่ควรจัดบริการเมทาโดนให้ผู้ต้องขังเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย แม้ว่าตอนนี้มีโครงการนำร่องในเรือนจำพิเศษกลางแล้ว แต่ยังไม่เห็นความยั่งยืน  รวมถึงมีข้อเสนอว่าน่าจะมีบริการเมทาโดนในชุมชน เพื่อให้คนเข้าถึงได้ เพราะปัจจุบันการบริการเมทาโดนพบอุปสรรคสำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะภาคเหนือ ที่การเดินทางไม่สะดวก แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมากินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทุกวัน อีกทั้งยังมีอุปสรรคเรื่องภาษา ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวชนเผ่า  จึงทำให้ไม่ได้มารับเมทาโดนต่อเนื่อง และกลับไปใช้ยาต่อ