ตุลาการผู้แถลงคดีชี้ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ

11 ต.ค. 55 ตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองแถลงความเห็นว่าคำสั่งประธานรัฐสภา ที่ปฏิเสธไม่รับร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ของภาคประชาชนนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะร่างกฎหมายนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญหมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ

คดีนี้เริ่มต้นจาก กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ (FTA Watch)เห็นว่าการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่ออาณาเขต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลต้องทำโดยโปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจึงรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อเสนอหลักการดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552นายชัย ชิดชอบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในขณะนั้นมีคำสั่งตามหนังสือที่ สผ 0014/7896ระบุว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่รับไว้พิจารณาด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163ให้ผู้เสนอกฎหมายไปจัดทำร่างใหม่และรวบรวมรายชื่อใหม่

นายจักรชัย โฉมทองดี ในฐานะผู้แทนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของประธานรัฐสภา โดยระบุว่าร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลก่อนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นร่างกฎหมายในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ

 

ภาพประกอบจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

วันที่ 11 ตุลาคม 2555 ศาลปกครองนัดพิจารณาคดี ฝ่ายผู้ฟ้องคดีมีนายจักรชัย โฉมทองดี และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เดินทางมาศาล ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีมีนาย สมชาติ ธรรมศิริ ผู้รับมอบอำนาจเดินทางมาศาล ในวันนี้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือต่อศาล แต่ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจา

นายจักรชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีร่างพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับที่มีเนื้อหาหลากหลายโดยไม่ต้องเป็นไปตามหมวด 3 หรือหมวด 5แต่ประธานรัฐสภากลับรับไว้พิจารณา จึงเป็นการออกคำสั่งที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค

ขณะที่นายสมชาติ ธรรมศิริ กล่าวว่า เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้กำหนดไว้ในหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ แต่กำหนดไว้ในมาตรา 190 หมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี และการออกคำสั่งของประธานรัฐสภาเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมายปกครอง จึงไม่อยู่ในการตรวจสอบของศาลปกครอง

หลังคู่กรณีแถลงการณ์ด้วยวาจาเสร็จ ตุลาการผู้แถลงคดี[1] ซึ่งเป็นอิสระจากองค์คณะตุลาการเจ้าของคดีที่จะเป็นผู้ตัดสินคดี แถลงความเห็นส่วนตัวในคดีนี้ว่า แม้ว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นการดำเนินการในทางนิติบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายและตรวจสอบว่าเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ใน หมวด 3 หรือหมวด 5 หรือไม่ เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ศาลปกครองจึงมีอำนาจตรวจสอบ

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวต่อว่า จากการพิจารณาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ จะเห็นว่ามีรายละเอียดของขั้นตอนเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่กระทบต่ออาณาเขต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 190 ในหมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี และมาตรา 190 ยังกำหนดให้ต้องมีกฎหมายด้วย จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำกฎหมายฉบับนี้เป็นการเฉพาะแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงไม่อยู่ในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ

คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง

หลังจากนั้นตุลาการเจ้าของคดีกล่าวย้ำว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นอิสระจากความคิดเห็นขององค์คณะ และนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555 เวลา 10.00 น.

ด้านนายจักรชัย ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า หากวันที่ 30 ตุลาคม คำวินิจฉัยออกมามีผลเช่นนี้ ก็ประสงค์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยไปยังศาลปกครองสูงสุดต่อไป

 

 

————————————————————

[1]ในการพิจารณาคดีของศาลปกครอง จะมีตุลาการที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหนึ่งท่าน ซึ่งเข้าถึงข้อเท็จจริงทุกอย่างในการวินิจฉัยคดี เรียกว่า ตุลาการผู้แถลงคดี ทำหน้าที่ตรวจสอบการพิจารณาคดีของตุลาการเจ้าของคดีอีกชั้นหนึ่ง  ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา ตุลาการผู้แถลงคดีจะแถลงความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยฉบับจริง