ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ ม. 112 ไม่ขัดรธน.

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ระบุ เป็นบทบัญญัติที่เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย อัตราโทษมีความเหมาะสมได้สัดส่วน และย้ำการกระทำขัดม. 112 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐจริง

สืบเนื่องจากจำเลยในสองคดี คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นายเอกชัย ห.  ได้ยื่นโต้แย้งให้ศาลอาญา ส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 8 มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้ คงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยเพียงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาคความผิด ลักษณะที่ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นมาตรการของรัฐที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้าย ซึ่งการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรที่มีความหมายเช่นเดียวกับการเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสอง ที่เป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง

อีกทั้ง อัตราโทษตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดไว้ ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่รับรองสถานะของพระมหากษัตริย์มีผลใช้ได้อย่างสมบูรณ์ในทางปฏิบัติ  และเป็นการจำแนกการกระทำความผิดที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับสถานะของบุคคลที่ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดไว้ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

 

ไฟล์แนบ