กสม.หาแนวทาง นำไทยปราศจากโทษประหารชีวิต

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดมความเห็นเพื่อเดินหน้าการยกเลิกโทษประหารชีวิต เสนอทางเลือก ให้ยกเลิกโดยสิ้นเชิง หรือคงกฎหมายไว้แต่ยกเลิกในทางปฏิบัติ ขณะที่ความเห็นจำนวนหนึ่งเสนอว่า สังคมไทยยังมีรูโหว่ ไม่ควรยกเลิกโทษประหารชีวิตในเวลานี้

21 กันยายน 2555 คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจัดการเสวนาเรื่อง โทษประหารชีวิต โดยพลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2556) ของกระทรวงยุติธรรม เคยกำหนดไว้ว่าจะนำเรื่องโทษประหารชีวิตเข้าสู่การพิจารณาว่าอาจเปลี่ยนแปลงให้การจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษสูงสุด ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็จะระดมความเห็น และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังมีโทษประหารชีวิต
ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงรายงานเมื่อปี 2554 ที่ศึกษาสถิติเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตทั่วโลก ซึ่งพบว่ามี 141 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่าเกือบทั้งโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ทั้งนี้ บางประเทศยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตไปแล้ว บางประเทศยังมีกฎหมายอยู่ แต่ยกเลิกในทางปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่า ยังมีโทษนี้อยู่ในกฎหมายแต่ไม่เคยลงโทษประหารชีวิตเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
ประเทศส่วนน้อยในโลกหรือราว 20 ประเทศเท่านั้นที่ยังมีโทษประหารชีวิต เช่น จีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก สหรัฐอเมริกา และไทย ทั้งนี้ในปี 2554 มีประชากร 18,750 คนทั่วโลกถูกประหารชีวิต โดยประเทศจีนมีสถิติการประหารชีวิตรวมแล้วมากกว่าจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตทั่วโลกรวมกัน
สำหรับในแถบเอเชียแปซิฟิกนั้น มีประเทศที่ยกเลิกโทษนี้แล้ว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา และยังมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว ได้แก่ ลาว พม่า ศรีลังกา
ด้านพลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด กล่าวถึงประวัติศาสตร์วิธีการลงโทษประหารชีวิตว่า เดิมเคยมีทั้งวิธีการขว้างปาด้วยก้อนหิน แขวนคอตายบนม้า ตัดศีรษะ เข้าห้องรมแก๊สให้เสียชีวิต ให้นั่งเก้าอีไฟฟ้า ยิงเป้าด้วยปืน และวิธีล่าสุดคือ ฉีดสารพิษเข้าร่างกายให้เสียชีวิต จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าวิธีการลงโทษประหารชีวิตเริ่มตั้งแต่วิธีการที่รุนแรงไปสู่วิธีการที่สงบเสงี่ยม
แนวทาง 4 ประการต่อประเด็นโทษประหารชีวิต ของกรรมการสิทธิมนุษยชน
พลตำรวจเอกวันชัยกล่าวย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ของโทษทางอาญาว่า โทษคือผลร้ายที่ใช้ตอบแทนการกระทำผิด ให้ผู้กระทำผิดตอบแทนความเดือนร้อนของสังคม ลักษณะของโทษจะส่งผลร้ายต่อชีวิต ร่างกาย อิสรภาพ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสร้างข้อจำกัดต่างๆ หรือการตัดสิทธิ์ในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ยังเป็นประเด็นคำถามคือ ผลร้ายของโทษควรมีขอบเขตเพียงใด ถึงขั้นการทำลายชีวิต ทำร้ายร่างกาย การประจาน หรือลงโทษทางศีลธรรมหรือวัฒนธรรม
สำหรับข้อถกเถียงที่ว่า ประเทศไทยควรมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิตนั้น มักคิดกันบนทฤษฎีสามแบบ คือ หนึ่ง ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน สอง ทฤษฎีการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง และ สาม ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู
ในการเสวนาครั้งนี้ พลตำรวจเอกวันชัยตั้งประเด็นการพิจารณาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันอภิปรายว่า ประเทศไทยควรมีแนวทางอย่างไรต่อโทษประหารชีวิต โดยพลตำรวจเอกวันชัยกำหนดทางออกเอาไว้สี่ทาง คือ
หนึ่ง ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต
สอง คงโทษประหารชีวิตไว้ กำหนดให้ใช้กับความผิดเฉพาะบางประเภท
สาม คงโทษประหารชีวิตไว้ แต่กำหนดไว้เป็นนโยบายว่าจะไม่นำมาใช้จริง
สี่ คงโทษประหารชีวิตและแนวทางปฏิบัติเอาไว้เช่นเดิม
พลตำรวจเอกวันชัยกล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยจัดเวทีเรื่องโทษประหารชีวิตแล้วหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 คนจึงประมวลข้อเสนอที่มีหลายฝ่ายเสนอแนะไว้ เช่น ศ.ดร.คณิต ณ นคร ที่กล่าวในครั้งนั้นว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ โทษประหารชีวิตก็ไม่จำเป็น เพราะคนจะไม่เสี่ยงทำผิด ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะมีโทษประหารชีวิต คนก็ไม่เกรงกลัวโทษและกล้าเสี่ยงทำผิด ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมขึ้นอยู่กับระบบและตัวบุคคล แต่ประเทศไทยอ่อนทั้งสองประการ
ขณะที่นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์เคยกล่าวไว้ในการเสวนาเมื่อปี 2552ว่า ถ้าเลิกโทษประหารชีวิต ย่อมต้องมีมาตรการอื่นที่สังคมเห็นว่าดีกว่าเข้ามาทดแทน และสังคมไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในโทษประหาร การจะยกเลิกจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของสังคม ทั้งนี้ นายนัทธีในฐานะอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์สะท้อนประสบการณ์ไว้ด้วยว่า คนที่เคยติดคุกนานๆ เมื่อพ้นโทษมาแล้วมักจะไม่ทำผิดซ้ำอีก
โทษประหารชีวิตไม่ช่วยลดอาชญากรรม
ด้านรศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่าการจะมีโทษประหารชีวิตต่อไปหรือไม่นั้นต้องเป็นความเห็นร่วมกันของปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ ไม่เคยมีสถิติหรือผลวิจัยว่า คนกลัวโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่ทำผิด
สมชาย หอมลออ ประธานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงผลจากการสำรวจที่พบว่า ผู้ที่เห็นว่ารัฐยังควรคงโทษประหารชีวิตไว้เพราะเชื่อว่าจะช่วยควบคุมอาชญากรรมได้ แต่เมื่อดูจากหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปก็พบว่าไม่เป็นความจริง แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม และประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลสังคม ต่างหากที่จะช่วยลดอาชญากรรมได้
สมชาย เห็นว่า การคงโทษประหารชีวิตไว้ก็คือการคงความรุนแรงเอาไว้ในสังคม ซึ่งถ้าในสังคมหนึ่งยังยอมรับความรุนแรงต่อชีวิตก็แน่นอนว่าจะยอมรับความรุนแรงต่อชีวิตในรูปแบบอื่นๆ และจะเป็นการยากที่จะไปห้ามความรุนแรงในมิติต่างๆ
ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะกระบวนการยุติธรรมอาจผิดพลาดได้
ปริญญา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า แนวโน้มทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนจากทฤษฎีการลงโทษเพื่อการแก้แค้น มาเป็นการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู และทางแอมเนสตี้ฯ รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตมายาวนานเพราะโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิการมีชีวิต บ่อยครั้งมักเกิดขึ้นหลังจากการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม บ่อยครั้งมาจากคำให้การที่ได้มาจากการข่มขู่ทรมาน แอมเนสตี้ฯ พบว่า กระบวนการยุติธรรมยังมีความเสี่ยงในการตัดสินที่ผิดพลาด ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากทั่วโลกถูกจองจำ นอกจากนี้ งานวิจัยหลายฉบับชี้ตรงกันว่า เหยื่อของโทษประหารชีวิตมักเป็นคนยากจนและกลุ่มเปราะบางในสังคม และที่สำคัญคือ พบว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการลดอาชญากรรม
สุพจน์ เวชมุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานนิติกร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงตัวอย่างคดีจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม เขาถามในที่ประชุมว่า หากได้รับโทษประหารชีวิตไปแล้วจะขอคืนความเป็นธรรมอย่างไร เมื่อผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตไปแล้วนั้น ใครจะรู้ว่าเขาไม่ได้ทำผิด นายสุพจน์เสนอว่า ควรจะเปลี่ยนจากโทษประหารชีวิตมาเป็นการลงโทษจำคุกระยะยาวเช่น 20-25 ปีแทน
นายสุพจน์เล่าว่า มักมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถามว่า หากไม่ประหารชีวิตแล้วจะเอางบที่ไหนมา ทางเลือกหนึ่งคือ ให้ปล่อยนักโทษที่จำคุกมาแล้วสองในสามของโทษ ไปบำเพ็ญประโยชน์แทน หากใช้วิธีนี้ก็จะสามารถลดจำนวนนักโทษได้ราว 40,000-50,000 คน
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เห็นด้วยการกับยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะชีวิตคนมีคุณค่า และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะเห็นตรงกันทั่วโลก นางสาวพูนสุขกล่าวถึงแง่มุมที่มองว่ามนุษย์อาจดูถูกมนุษย์ด้วยกันเองว่าไม่สามารถพัฒนาได้ แต่มีตัวอย่างกรณีที่นอร์เวย์ที่นักโทษสังหารหลายศพ ฆาตรกรยอมรับสารภาพและมีความคิดของสังคมส่วนหนึ่งที่อยากให้นำโทษประหารชีวิตซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ แต่ศาลนอร์เวย์ก็ยังยืนยันให้ลงโทษขั้นสูงสุดตามกฎหมาย คือ โทษจำคุก 21 ปี พูนสุขเห็นว่า ส่วนที่น่าสนใจคือในตัวคำพิพากษาซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่า หากครบกำหนดลงโทษจำคุก 21 ปีแล้วยังพบว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ก็ยังลงโทษจำคุกต่อได้
ในแง่นี้ พูนสุขตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าสมควรหรือไม่ที่จะขังคนๆ หนึ่งไปเป็นระยะเวลานานหรือกระทั่งตลอดชีวิต โดยไม่ต้องมีการทบทวนเลย
"หลายคนเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงควรให้คงโทษประหารชีวิตไว้ แต่สังคมอื่นที่กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากกว่า มีการกลั่นกรองคดีมากกว่า เวลาฟ้องคดีแสดงว่ามีพยานหลักฐานหนักแน่นพอสมควรศาลจึงจะพิพากษาลงโทษ ยังยกเลิกโทษประหารชีวิตเลย นี่ก็เป็นแนวคิดมุมกลับที่อยากชวนให้คิดด้วย" พูนสุขกล่าว
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอว่าประเทศไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต ให้เหลือโทษจำคุก แต่ทั้งนี้ก็ควรกำหนดเงื่อนไขบางอย่างกำกับ เช่น กำหนดว่ามีระยะเวลาหนึ่งที่ไม่สามารถลดโทษได้ เพราะกระบวนการแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันนั้นไม่มีความโปร่งใส ต้องเป็นคนที่มีโอกาสหรือมีเส้นสายจึงจะได้ลดโทษ
 
ที่มาภาพ  ACLU of Northern California
โทษประหารชีวิตจำเป็น เพราะสันดานคนทำผิดย่อมไม่เปลี่ยนแปลง
นายเกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ ทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า แม้ที่ประชุมค่อนข้างโน้มเอียงไปทางให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียหายและคนที่ถูกทำร้ายด้วย ตนเองในฐานะทนายความก็เคยเกลี้ยกล่อมจำเลยที่อาจต้องโทษประหารชีวิตว่าให้รับสารภาพ ซึ่งศาลก็ลงโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทน
"ผมก็ยังเห็นว่าโทษประหารชีวิตมีความจำเป็น และโทษประหารชีวิตยังสามารถขออภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตได้ สิ่งเหล่านี้บ้านเรายังมีผ่อนหนักผ่อนเบาได้" นายเกรียงกล่าว เขาเสริมว่า โอกาสที่คนโดยสันดานจะเลิกทำผิดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีโทษประหารชีวิต อาชญากรรมต้องสูงขึ้นแน่นอน
สนับสนุนโทษประหาร เพื่อรักษาสิทธิของสังคมโดยรวม
นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นท่านหนึ่ง กล่าวว่า ไม่ควรยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะอาชญากรส่วนใหญ่กลัวโทษ จึงไม่ควรลดโทษให้รุนแรงน้อยลง และเมื่อตัวจำเลยหรือผู้กระทำผิดเองยังไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ก็ไม่จำเป็นต้องเคารพสิทธิของเขา
ผู้เข้าร่วมอีกคนหนึ่ง แนะนำตัวว่าเป็นนักศึกษาปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เห็นว่า การกำหนดโทษทางอาญามีขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติหรือให้โทษแก่ผู้กระทำผิด แม้อาจมองได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทบต่อเนื้อตัวร่างกาย แต่การกระทบสิทธินั้นก็เป็นสิทธิของตัวเขาเท่านั้น ไม่ใช่การละเมิดสิทธิของสังคมโดยรวม และแน่นอนว่า การลงโทษประหารชีวิตคือการตัดผู้กระทำผิดออกจากสังคมโดยเด็ดขาด แม้จะมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าไม่ทำให้คนกลัว แต่ก็ยังสามารถกันคนออกจากสังคมโดยเด็ดขาดได้
นักศึกษาปริญญาโทคนนี้ตั้งคำถามท้าทายไว้ว่า แม้จะมีงานวิจัยที่ว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ก่อให้คนกลัว แต่มีคนทำวิจัยหรือไม่ว่าเมื่อไม่มีโทษประหารชีวิตแล้วอาชญากรรมลดลง และประเด็นที่มีผู้เสนอเกี่ยวกับการลงโทษเพื่อการฟื้นฟูนั้น เขาเชื่อมั่นว่าจะไม่ทำให้คนที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูแล้วกลายเป็นคนดีร้อยเปอร์เซนต์ ยกตัวอย่างคดียาเสพติดที่แม้เอาคนไปเข้าการฟื้นฟูออกมาแล้วก็พบว่ายังคงเสพยาต่อไป ดังนั้น ย่อมมีผู้กระทำผิดที่ยังทำผิดต่อไปหลุดรอดมาในสังคมแน่นอน
ไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ไม่ใช่ตอนนี้
เกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ กล่าวด้วยว่า "เราอย่าเอาบ้านเราที่เป็นระดับที่เรียกว่าด้อยพัฒนา ไปเทียบกับประเทศในระดับสูง เราต้องดูว่า ความเหมาะสมของบ้านเรามีน้อยแค่ไหน และอยากให้กรรมการสิทธิระวังตัวอย่าเป็นตกเครื่องมือของใคร" นายเกรียงกล่าว และเสริมว่าองค์กรต่างๆ ที่ต้องการยกเลิกโทษประหาร เกิดขึ้นจากสภาพของโลกในองค์การสหประชาชาติที่ต้องการจะโชว์คุณธรรมเรื่องการรักษาสิทธิของมนุษย์
"ผมขอเรียนว่าการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ต้องมีความระมัดระวัง เราต้องเปรียบเทียบว่าจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ผมว่าเวลานี้ยังไม่เหมาะ รอให้ผมตายไปก่อนดีกว่า" นายเกรียงกล่าวติดตลก
เกรียงชัย วิศิษฏ์สรอรรถ จากวารสารยุติธรรม เห็นว่า ประเทศไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ไม่ใช่เวลานี้ เพราะการประหารชีวิตในบางกรณีก็เหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู สังคมไทยเป็นสังคมแบบมือถือสากปากถือศีลที่ทำเหมือนไม่มีความรุนแรงอยู่ แต่ความจริงก็ยังมีความรุนแรงอยู่ นั่นเป็นเหตุผลที่ยังต้องมีโทษประหารชีวิตอยู่ นอกจากนี้ คุณภาพของประชากรของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันกับประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชนก่อน
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า สาเหตุที่มีอาชญากรรมเพราะประชาชนไม่ได้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่ต้องทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ใช่ไปสร้างคุก ซึ่งประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลที่เป็นธรรม สุดท้ายประเทศไทยย่อมจำเป็นต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต และการลงโทษให้จำคุกระยะยาวก็เปรียบเหมือนการตายไปแล้วหลายครั้ง ตายซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงจะต้องเตรียมความพร้อมให้พอสมควร ตราบที่รัฐบาลยังเป็นอย่างนี้ สังคมเสื่อมโทรม คุณธรรมเสื่อมถอย ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันอย่างไม่เกรงกลัว เมื่อเป็นแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มงวดกวดขันให้มากยิ่งขึ้น และตรงไปตรงมายิ่งขึ้น แต่ปัญหาในบ้านเรายังมีอยู่ ซึ่งการยกเลิกโทษประหารชีวิตขณะที่กระบวนการยุติธรรมยังเป็นแบบนี้คงเป็นปัญหา ยังเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ เพราะจะยิ่งสร้างความช้ำใจให้กับเหยื่อ แต่ถ้าจะไม่แก้ไขเลยคงไม่ได้
ผศ.ศรุต จุ๋ยมณี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เห็นว่า โทษประหารชีวิตมีข้อดี คือช่วยกำจัดคนที่เป็นภัยต่อสังคม และถือเป็นการปรามอย่างหนึ่ง หากจะยกเลิกโทษดังกล่าวจำเป็นต้องดูปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมด้วยว่า มีความพร้อมขนาดไหน และพิจารณาคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมและบุคลากรผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย
"โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ไม่ใช่ยกเลิกในเวลานี้" ผศ.ศรุตกล่าว เขาเห็นว่า หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิตก็ควรมีมาตรการที่เข้ามาทดแทน และต้องพิจารณาว่ามาตรการนั้นดีเพียงพอแล้วหรือยัง มาตรการที่ทดแทน เช่น การให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน โดยเป็นการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการลดโทษและอภัยโทษ หรือการให้ตอนผู้กระทำผิดเพื่อไม่ให้มีการถ่ายทอดพันธุกรรม เป็นต้น
คงกฎหมายโทษประหารชีวิตไว้ แต่ไม่ต้องใช้หรือใช้แบบมีเงื่อนไข
ผศ.ศรุต กล่าวว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจเป็นไปตามหลักสากล แต่เมืองไทยยังไม่พร้อม หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็ควรยังคงข้อกฎหมายไว้ แต่ปรับที่ทางปฏิบัติไปก่อน เช่น กำหนดเงื่อนไข ห้ามลงโทษประหารชีวิตคนที่อายุต่ำกว่าที่กำหนด และหญิงตั้งครรภ์
ดุสิต จันทร์สถิต ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงตัวอย่างว่า มีคดีที่เกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลไม่น้อย ทำให้มีความเห็นว่ายังควรให้คงโทษประหารชีวิตไว้ เพียงแต่มีเงื่อนไข เช่น กำหนดให้คงโทษประหารชีวิตไว้เฉพาะสำหรับคดียาเสพติด เขาเห็นว่า นักโทษบางคนสักยันต์เต็มตัว หากปล่อยออกมาคงเป็นอันตรายต่อสังคม
สันติ ลาตีฟี กลุ่มงานพันธกรณีและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้นย่อมไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากนำนโยบายไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสิ้นเชิง แต่ในระหว่างที่ยังมีโทษนี้อยู่นั้น ประเทศไทยควรกำหนดให้คงโทษประหารชีวิต แต่ใช้กับความผิดเฉพาะบางประเภทไปก่อน ซึ่งจากความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ICCPR) เคยวินิจฉัยว่า รัฐภาคีไม่จำเป็นต้องยกเลิกโทษนี้โดยสิ้นเชิง แต่ต้องบังคับใช้อย่างจำกัดเฉพาะหมวดคดีบางประเภท ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ควรจะคิดเรื่องนี้และจะทำให้ประเทศไทยตอบคำถามสากลได้ว่าทำไมเรายังจำเป็นต้องมีโทษนี้ เมื่อประเทศไทยสามารถหาโทษชนิดอื่นมาทดแทนโทษประหารชีวิตได้แล้ว ก็จะสามารถรณรงค์ให้พักการใช้โทษประหารชีวิตได้ และรณรงค์ให้ประเทศไทยลงนามในพิธีสารฉบับที่สอง ซึ่งนำไปสู่การเร่งรัดกฎหมายภายในที่จะต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสิ้นเชิงซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะ
ด้านนายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรูปธรรมที่อธิบายได้ว่า หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในอีก 5-10 ปี เราควรทำอะไรบ้าง เช่น ยกเลิกบางฐานความผิดก่อน เช่นความผิดเกี่ยวกับกบฏ แล้วเปลี่ยนมาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ เนื่องจากเรือนจำมีความแออัดทำให้มีความพยายามระบายคนออกจากคุก แต่ในบางกรณีก็ไม่เป็นไปตามหลักวิชาจึงทำให้คนออกมากระทำผิดซ้ำ นายสมชายเห็นว่าหากจะยกเลิกโทษประหารก็ต้องเคร่งครัดในประเด็นนี้
ในช่วงท้ายของการเสวนา พลตำรวจเอกวันชัย ในฐานะประธานฯ กล่าวปิดการประชุมไว้ว่า ที่ประชุมมีความเห็นไปในทางให้คงโทษประหารชีวิตไว้ แต่กำหนดเป็นนโยบายว่าจะไม่นำมาใช้จริง