กรมการปกครองชี้ อวัยวะเพศกำกวมเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ สตรีข้ามเพศเปลี่ยนไม่ได้

วันที่ 11 กันยายน 2555 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดสัมมนาเรื่อง “เมื่อเพศกำหนดไม่ตรงกับเพศกำเนิด มีสิทธิหรือไม่ที่จะขอแก้ไขคำนำหน้าชื่อ” ณ ห้องเสวนาชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ดำเนินการอภิปรายโดย ศราวุฒิ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชน

พญ.จิราภรณ์ ประเสริฐวิทย์ อรุณากูร ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  กล่าวว่า เมื่อเราแบ่งเพศชายหญิง ก็จะมีคนที่สังกัดไม่ถูกว่าเขาอยู่ตรงไหน ซึ่งทฤษฎีแบบนี้ก็จะถูกเชื่อน้อยลงเรื่อยๆ  ปัจจุบันนี้เชื่อกันว่าเพศมีความเลื่อนไหล แม้กระทั่งเพศทางชีวภาพ โครโมโซมเพศก็ไม่ได้มีแค่ โครโมโซม xx หรือ xy  มีคนที่เกิดมามีโครโมโซม xxy หรือ xxxy  อยู่มากมาย  หรืออวัยวะเพศเอง เราก็พบว่ามีคนที่เกิดมามีอวัยวะเพศกำกวม เช่น มีอวัยวะเพศทั้งสองเพศ หรือมีอวัยวะเพศไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้เรื่องของบทบาททางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ ก็จะมีคนที่อยู่ตรงกลางเสมอ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติไม่ใช่การเลือกที่จะเป็น และไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด
พ.ญ.จิราภรณ์ กล่าวถึงความรู้ทางการแพทย์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ว่า เมื่อก่อนเราเคยเข้าใจว่าคนรักเพศเดียวกันหรือคนที่มีเพศหลากหลายเป็นโรคทางจิตเวช ต้องได้รับการรักษา แต่หลังจากที่มีความเข้าใจทางแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้เปลี่ยนคำจำกัดความของคนที่รักเพศเดียวกัน (Homosexuality) จากเดิมที่เป็นโรคก็กลายเป็นรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน ในประเทศไทย เมื่อปี 2545 กระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศว่า คนรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอีกต่อไป
สิริลดา โคตรพัฒน์ ผู้ขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ  ซึ่งมีอวัยวะเพศกำกวมตั้งแต่กำเนิด  แต่คำนำหน้าชื่อเป็น “นาย” เล่าถึงความยากลำบากของตัวเองว่า  เวลาไปติดต่อราชการ หรือทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคาร ก็มักจะมีคำถามเสมอว่าทำไมเราถึงใช้ นาย ทั้งๆ ที่รูปลักษณ์ของเราเป็นผู้หญิง  สร้างความลำบากวุ่นวายมากในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ประกันชีวิตก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเขาเห็นว่าเราอยู่ในกลุ่มเพศหลากหลาย เนื่องจากคำนำหน้าชื่อไม่ตรงกับลักษณะทางเพศที่แสดงออก มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี และไม่มีงานทำ 
สิริลดา กล่าวอีกว่า ตนเองได้ต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก นาย เป็น นางสาว ถึง 5 ปี โดยเริ่มจากขอยื่นเปลี่ยนที่จังหวัดมุกดาหารซึ่งเป็นภูมิลำเนา แต่ถูกปฏิเสธ เพราะไม่เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้น จึงไม่ทราบขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไร ต่อมาได้เป็นสมาชิกของสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย ได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาการด้านกฎหมายและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ โดยย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในกรุงเทพฯ และไปยื่นเรื่องที่เขต  จึงสามารถยื่นเปลี่ยนคำหน้าชื่อได้ และเพิ่งเปลี่ยนเป็น นางสาว ได้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา  
อภิญญา อุ่นเรือน ตัวแทนจากกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองเคยมีหนังสือลงวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ระบุระเบียบวิธีปฏิบัติไว้ว่า การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อต้องนำเอกสารทางราชการเกี่ยวกับตัวเองและใบรับรองแพทย์ไปยื่นสำนักทะเบียนในท้องที่ที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนให้นั้น ขึ้นอยู่กับใบรับรองแพทย์เป็นสำคัญ ซึ่งต้องระบุชัดเจนว่า มีอวัยวะเพศกำกวมมาแต่กำเนิด และทำการตรวจวินิจฉัยแล้วเป็นเพศอะไรมาตั้งแต่กำเนิด แต่ร่างกายผิดปกติ ต้องผ่าตัดอวัยวะเพศที่ผิดปกติออก ไม่ใช่การแปลงเพศ
สุโสฬส พึ่งบุญ ตัวแทนจากกรมการปกครองอีกท่านหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า การขอเปลี่ยนคำนำหน้านั้นจะต้องหมายความว่าบุคคลนั้นมีอวัยวะเพศสองเพศมาตั้งแต่กำเนิด และต้องมีการผ่าตัด  แต่การเปลี่ยนจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศหนึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ  กฎหมายที่เกี่ยวกับคำนำหน้าชื่อที่มีอยู่ตอนนี้คือ พ.ร.บ.คำนำหน้านามสตรี พ.ร.บ.ชั้นยศนามตำรวจ และการใช้คำนำหน้าตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือคำนำหน้าของพระ ทั้งหมดนี้จะมีกฎหมายรองรับ แต่บุคคลที่แปลงเพศจากเพศหนึ่งไปยังอีกเพศหนึ่ง ยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้  และการแก้กฎหมายหรือแก้คำนิยามทางการแพทย์คงไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความไม่เข้าใจในความหลากหลายทางเพศ แต่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมด้วย
สุโสฬส กล่าวย้ำว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ไทยต้องทำตามที่กฎหมายไทยกำหนด หากมีกฎหมายที่ระบุให้ทำได้ ก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะทำให้
ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในความเห็นของตน คนที่ไม่ได้มีอวัยวะเพศกำกวมก็ต้องมีสิทธิที่จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ  แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายรับรองการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ แต่ก็มีสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 4 ที่ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง และ มาตรา 5 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน ซึ่งการกำหนดเพศวิถีของตนเอง ถือเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ถือเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ เป็นสิทธิของบุคคลที่จะเลือกว่าตนเองจะเป็นเพศอะไร
ดร.รัชนีกรยกตัวอย่างประเทศที่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้  เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่า บุคคลนี้มีเพศนี้อย่างถาวร จึงจะสามารถเปลี่ยนได้ และยังเปลี่ยนได้ไปถึงสูติบัตรอีกด้วย  ประเทศอาร์เจนตินา สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
ดร.รัชนีกรได้กล่าวถึง พ.ร.บ.คำนำหน้านามสตรี พ.ศ.2551 ว่า ก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมาย ร่างกฎหมายนี้ชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.คำนำหน้านามบุคคล แต่พอผ่านออกมาเป็นกฎหมายแล้วกลับกลายเป็นเพียงคำนำหน้าชื่อสตรี ที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วสามารถใช้นางสาวได้เท่านั้น จึงน่าจะนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้นมาทบทวนดูอีกครั้ง
งานสัมมนานี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ  ผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายคนแสดงความคิดเห็นสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำนำหน้าชื่อที่ไม่ตรงกับลักษณะที่แสดงออกทางเพศและความไม่เข้าใจของสังคมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติที่ไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายคำนำหน้าชื่อและสิทธิอื่นๆ ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย