ชาญชัย ชัยสุขโกศล : Hate Speech เท่ากับ Free Speech?

ชาญชัย ชัยสุขโกศล เสนองานวิจัยเรื่อง“Hate Speech และข้อมูลที่อันตราย : ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง” (Hate Speech & Harmful Information : Alternatives for Political Response) นำเสนอด้านมืดของอินเทอร์เน็ตและประสบการณ์การรับมือของต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. “สันติวิธีและความรุนแรง ในสังคมไทย" ช่วงที่ 2 

ชาญชัยเกริ่นนำด้วยข้อสังเกตว่า หลังจากปี 2548 สื่อไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จิตสำนึกการเมืองของคนไทยสูงขึ้นมากในทุกๆสี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากเกิน ทำให้จากFree speech ได้กลายเป็นHate speech ซึ่งคำว่า Hate Speech หมายถึง คำพูด ข้อความ การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อื่นๆที่แสดงความเกลียดชัง ขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปพร้อมกับเสนอขอบเขตของ Free speech และจะมีวิธีการตอบโต้ Hate speech อย่างไร
นอกจากนี้งานวิจัยของเขา ยังเสนอประเด็นเรื่อง Harmful Information หรือ Do Harm Information หรือข้อมูลข่าวสารที่เป็นอันตราย หมายถึง ข้อมูลที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ เช่น วิธีการสร้างระเบิด วิธีการปรุงยาพิษด้วยสารเคมีที่ซื้อได้จากร้านทั่วไป เช่น The Anarchist Cookbook/ The Mujahedeen Poisons Handbooks ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาควบคู่กับ Hate Speech และตั้งคำถามว่าควรทำอย่างไรเมื่อข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต 
วิธีคิดในการรับมือมีกรอบใหญ่ 2 แบบคือ
     1. เซ็นเซอร์ทางกฏหมาย เป็นการรับมือที่ใช้ในปัจจุบันต่อ Hate Speech โดยการตรวจจับและเซ็นเซอร์ แต่ชาญชัยก็เห็นว่าการตรวจจับและเซ็นเซอร์นั้นไม่จำเป็น แต่ทางเลือกในการโต้ตอบคือการใช้ข้อ
     2. ปฏิบัติการทางการเมือง Political action การใช้การโต้ตอบในรูปแบบอื่นๆ เช่น Counter speech อารยะขัดขืนอิเล็กโทรนิค และการป่วนทางวัฒนธรรม 
 
เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดในส่วนเนื้อหา ชาญชัยเห็นว่ามีประเด็นมากมายในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้กลายเป็นการแสดงความเกลียดชังต่อคนกลุ่มอืน และเกิดการประทุษร้ายต่อตัวบุคคลจริงๆ เช่น กลุ่มคลูคลักคลานในสหรัฐที่ชื่นชมคนผิวขาวและแสดงความเกลียดชังต่อคนผิวดำ ซึ่งเริ่มต้นจากคำพูดและนำไปสู่การลอบสังหาร หรือวิทยุชุมชนของกลุ่มฮูตูที่ปลุกระดมความยึดมั่นในการกำจัดชาวตุ๊ดชี่ในประเทศรวันดา ทั้งยังใช้วิทยุในการสื่อสารเพื่อระบุตำแหน่งกลุ่มตุ๊ดชี่ที่จะบุกทำร้ายต่อไป  
ชาญชัยตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดลักษณะนี้เมื่ออยู่ในอินเทอร์เน็ตก็กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของกลุ่มWhite Pride World Wide เว็บไซต์ชมรมคนชื่นชมคนผิวขาว กรณีเกมออนไลน์ยิงคนผิวสี ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันการโต้ตอบก็เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นด้วย เช่น เหตุการณ์ความขัดแย้งกับโลกมุสลิม เมื่อนักเขียนการ์ตูนชาวเดนมาร์กเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมมัด ชาวมุสลิมก็ออกมาประท้วงตอบโต้ (แต่ก็มีประเด็นน่าสนใจจากการประท้วง คือมีการเขียนแผ่นป้าย Freedom Go to hell ให้เสรีภาพไปลงนรกเสีย เป็นการโต้ตอบที่เน้นด้านมืดของการแสดงเสรีภาพ มากกว่าตัวบุคคล) 
ดังนั้นแล้วชาญชัยจึงเสนอว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องเปิดกว้าง เพื่อให้คนถกเถียงกันได้ และนำไปสู่การค้นหาความจริง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะdogma หรือความมัวเมาจากการเชื่อบางอย่างมากเกินไป เกณฑ์การวินิจฉัยการจำกัดเสรีภาพนั้นควรพิจารณาว่าจะแปรเปลี่ยนไปสู่การทำร้ายผู้อื่นได้หรือไม่ นั่นหมายถึงสิ่งที่จะต้องเซ็นเซอร์มีเพียง Harmful Information
ชาญชัยจึงสรุปว่า Hate speech เป็นส่วนหนึ่งของ Free speech โดยเขาอ้างอิงจากงานเขียนของ John stuart Mill นักคิดเสรีนิยม ว่าเมื่อพบบทสนทนาที่พูดอะไรแล้วไม่เห็นด้วย ก็ควรจะเอาความคิดแย้งไป ถือเป็นการใช้ปฏิบัติการทางการเมืองแบบที่สองของเขา ไม่ใช่เข้าไปเซ็นเซอร์ เช่น การใช้ Counter Speech หรือการโต้แย้ง เพื่อไม่ให้ความจริงถูกครอบงำอยู่มุมใดมุมหนึ่ง การมีความคิดเห็นหลายมุมมองจะทำให้คนฟังต้องรู้สึกว่าพึ่งอะไรไม่ได้นอกจากวิจารณญาณของตัวเอง และใช้ความคิดมากขึ้นในการรับข่าวสาร  
นอกจากนี้ยังมีวิธี "อารยะขัดขืนอิเล็กทรอนิค" เช่น ในเม็กซิโกมีกลุ่มซาปาติสตา ต่อต้านการโครงการของรัฐบาลด้วยการเข้าไปร่วมคลิกถล่มเว็บ 4-5 แห่งของรัฐบาลให้เว็บล่มเป็นการประท้วง หรือใช้ "การป่วนทางวัฒนธรรม" คือ การกลับสัญลักษณ์ทั้งหมด เป็นการล้อเลียนและเปลี่ยนความหมายเยาะเย้ยมัน เช่น หากรำคาญโฆษณาก็ใช้วิธีกลับความหมาย เห็นได้ตามงานพิมพ์บนเสื้อเชิ้ต เช่น Red Bull กลายเป็น Dead bull  หรือในฝรั่งเศสที่มีการต่อต้านการใส่ฮิญาบอย่างรุนแรง ก็มีกลุ่ม princess Hijab ไปพ่นสีตามโฆษณาในรถไฟใต้ดิน ให้ดูเหมือนว่านายแบบนางแบบเหล่านี้ใส่ฮิญาบอยู่ เป็นการสื่อสัญลักษณ์การอยู่ร่วมกันได้ให้แก่บุคคลที่แสดงความเกลียดชังออกมา
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างวิธีการแสดงออกเท่านั้น จริงๆ แล้ววิธีการแสดงออกมีเยอะมาก เกลียดได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง และมีวิธีตอบโต้กลับได้หลายแบบ แล้วจะทำให้ Hate Speech เป็นเพียงการปลดปล่อยความเกลียดออกมา แต่ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงต่อไป แต่ในที่นี้ Hate Speech ต้องเป็นแค่การแสดงอารมณ์ เช่น บอกว่าเราเกลียดคนนี้มากๆ แต่ไม่ได้ปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง เช่น บอกว่า เกลียดคนนี้มากไปสาดน้ำกรดใส่เขากันเถอะ ซึ่งแบบหลังนี้ก็จะเข้าข่าย Do Harm Speech ไป 
ในการเสนองานวิจัยครั้งนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกณฑ์ของชาญชัยที่มีต่อ Hate Speech ผศ.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย กล่าวว่า เป็นการด่วนตัดสินใจเกินไปที่จะจำกัดกรอบว่าอะไรคือความรุนแรงที่ชัดเจน เพราะความรุนแรงมีหลายระดับ นอกจากนี้ยังมีผู้ชมที่แสดงความเห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยเกรงว่าการยอมรับ Hate Speech ในฐานะ Free Speech อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สังคมได้ 
อย่างไรก็ตามชาญชัยก็ยังคงยืนยันจุดยืนว่า hate speech ไม่ต้องเซ็นเซอร์ แต่ที่ต้องเซ็นเซอร์คือ do harm speech "ไม่ว่าจะมีจุดยืนอย่างไร สันติวิธีก็สามารถเข้าไปอยู่ได้ได้ในทุกจุดยืนและทุกอุดมการณ์ สิ่งที่จะทำคือถ้าเกลียดใคร ไม่ชอบใคร เชิญ แต่อย่าให้ถึงขั้นเลือดตกยางออกและทำร้ายกัน เมืองไทยตอนนี้เกลียดกันมาก ความเกลียดชังตรงนี้โอเค" ชาญชัยกล่าว