เสรีภาพเท่าไรดี?

โดย ปียาภัสณ์ ระเบียบ

 

“อากงไม่อยู่ก็ดีนะคะ แผ่นดินจะได้สูงขึ้น”

"ถึงฉันจะเปิดนมเปิดอะไร หรือมีชื่อเสียงไม่ดีหรืออะไรก็ตามที่คุณจะสันหามาด่า แต่ฉันก็ไม่โง่ แล้วทำไมคุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไรคุณจะตายค่ะ จะได้ไปช่วยอากงต่อในนรก เพราะอากงคุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อของฉัน. คุณรักอากง ฉันก็รัก ครอบครัวพ่อของฉัน ทำไมเหรอ"

ข้อความข้างต้น ตั๊ก บงกช คงมาลัย ดาราสาวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการตายของอากงผ่านเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างกระแสตอบรับอย่างรุนแรง ในสังคมไซเบอร์ มีทั้งผู้ชื่นชมสนับสนุนการกระทำของตั๊กและผู้ที่ต่อต้านด่าทอด้วยความเกลียดชัง ในชีวิตจริง ตั๊กก็เผชิญปฏิกิริยาต้านโดยถูกกลุ่มคนเสื้อแดงขับไล่เมื่อไปถ่ายทำละครที่พัทยา

ภาพหญิงสาวถ่ายคู่กับรูปปั้นของปรีดี พนมยงค์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในภาพกางเกงขาสั้นนั่งไขว้ขาอยู่บนฐานรูปปั้นด้วยท่าทางเซ็กซี่ มือขวายืดไปแตะที่บ่าของรูปปั้น เธอคนนี้เป็นนักศึกษาแรกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ใช้ฉายาว่า อั้ม เนโกะ โพสต์ภาพลงในเฟสบุ๊คของตนพร้อมข้อความกำกับว่า "♥ ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน"

ภาพนี้ก็ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงในโลกออนไลน์ จากกลุ่มคนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มทางการเมือง กลุ่มธรรมศาสตร์ ฯลฯ

*******************

สองเรื่องนี้เกี่ยวโยงอะไรกัน สิ่งที่เห็นชัดคงเป็นความเหมือนในความกล้าแสดงความคิดความรู้สึกของตนออกมาตรงๆ จนเกิดกระแสตอบรับหลากรูปแบบในสังคม ทั้งสองกรณีนำไปสู่ข้อถกเถียงว่า เสรีภาพในการแสดงออกควรมีขอบเขตหรือไม่ และควรคำนึงแค่ไหนว่าจะกระทบจิตใจผู้อื่นเพียงใด  วิวาทะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสองกรณีล้วนแสดงให้เห็นเฉดของเสรีภาพที่ไล่ระดับอยู่ในสังคมไทย

สำหรับกรณี ตั๊ก บงกช ข้อความที่ตั้งใจสื่อคือ ตั๊กรักในหลวงและต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการตอบโต้กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและปกป้องผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ เช่นอากงเอสเอ็มเอสที่เสียชีวิตกระทันหันในเรือนจำ แม้ในเวลาต่อมา ตั๊กได้ลบข้อความออกจากเฟสบุ๊คไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีผู้เล่นเฟสบุ๊คนำภาพหน้าจอข้อความที่ตั๊กเขียนขึ้น โดยเผยแพร่ข้อความออกไปจุดชนวนการถกเถียงภายในโลกออนไลน์ สื่อมวลชนกระแสหลักต่างเกาะกระแสร้อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ค และลามถึงชีวิตจริงที่ตั๊กถูกกลุ่มคนขับไล่เมื่อคราวไปถ่ายละครที่พัทยา

เสียงตอบรับต่อโพสต์ของตั๊ก บงกช มีทั้งจากกลุ่มที่เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างถือเป็นเสรีภาพที่บุคคลพึงกระทำได้ เช่น เพจเฟสบุ๊คที่ชื่อ 'watch red shirt' และเว็บไซต์ 'ผู้จัดการออนไลน์' ที่ต่างก็ชื่นชมการโพสต์ของตั๊กกว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญ รวมถึงทวิตเตอร์ของนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งชี้ว่า การที่ตั๊กแสดงความเห็นปกป้องคนที่เคารพรักไม่น่าจะเป็นการกระทำที่ผิด

ขณะที่นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. และกลุ่มต่างๆ บนพื้นที่ออนไลน์ เช่น เพจเฟสบุ๊ค 'ฉันเป็นลิเบอรัล' ออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นก็ควรใช้เหตุและผลและให้เกียรติผู้อื่น ตั๊กสามารถแสดงความคิดเห็นได้แต่ควรใช้คำพูดให้เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ประนามคำพูดของตั๊ก เช่น นายอรรถชัย อนันตเมฆ หรือโด่ง อดีตนักแสดง ซึ่งปัจจุบันเป็นข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเพื่อไทย ก็เขียนข้อความผ่านเฟสบุ๊คว่า ตั๊ก บงกช แสดงออกโดยปราศจากข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการไม่ฟังและมีอคติ นำไปสู่การทำร้ายจิตใจผู้อื่นอย่างไม่สมควร เพจเฟสบุ๊ค เช่น เพจ 'อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อบ' และเพจ 'ศาสดา' ก็กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไร้ความคิดและน่าอาย ทัศนะเห็นต่างของตั๊กไม่ได้มาเพียงรูปแบบของการก่นด่า แต่ในชีวิตจริงเธอก็ถูกคุกคามโดยคนที่โกรธเคืองออกมาขับไล่และประนามเมื่อเธอไปที่พัทยา

จากกระแสโต้ตอบตั๊ก ก็นำไปสู่เสียงวิพากษ์กระแสโต้ตอบ ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมากคือ การขับไล่คุกคามตั๊ก บงกช ในชีวิตจริงเป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าเรื่องนี้สร้างสีสันให้แก่สังคมและการเมือง เป็นเสรีภาพในการแสดงออกเช่นเดียวกับการแสดงความคิดเห็นของตั๊ก ด้านเฟสบุ๊คเพจของ 'ศาสดา' และ 'เกษียร เตชะพีระ' ยืนยันทัศนะที่ว่า ควรเลือกที่จะใช้วิธีการแสดงออกที่ไม่คุกคามผู้อื่น เช่นเดียวกับที่หลายกลุ่มออกมาประนามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามอย่างไร้เหตุผล เช่นในเพจของ 'คนละหมัดเดอะซีรีย์'

ในกรณี อั้ม เนโกะ มีกระแสตอบรับแรงไม่แพ้กัน เรื่องเริ่มจากการที่อั้มลงรูปในเฟสบุ๊คของตนเองพร้อมคำบรรยายสั้นๆ ใต้ภาพ ในเวลาไม่กี่วัน รูปของเธอถูกแชร์ไปกว่าหกร้อยครั้งในเฟสบุ๊ค ช่วงแรก ภาพนี้สร้างกระแสตอบรับไปในทางลบ ทั้งวิจารณ์การแต่งกาย ท่าทาง กาลเทศะ

“น้องคิดสั้นไป จึงแสดงออกมาแบบพล่อยๆ ความศรัทธาของคนไม่ควรมาดูแคลนกัน คนฆ่ากันตายเพราะความเชื่อ ถ้าเชื่อไม่เหมือนกันก็ไม่ควรทำแบบนี้”

“สงสัยบรรพบุรุษไม่สั่งสอนรวมถึงสถาบันที่จบมาด้วยหรือไม่ก็พวกมีหัวสมองไว้กั้นหู”

และอีกสารพัดความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์…

ต่อมาอั้ม เนโกะ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ประชาไทและช่องไทยพีบีเอส อธิบายการกระทำของตนว่า การถ่ายรูปและโพสต์บนเฟสบุ๊คของตนเกิดจากความผิดหวังที่เห็นผู้คนเคารพบูชาอาจารย์ปรีดีในงาน 112 ปีอาจารย์ปรีดี และประเพณีรุ่นพี่พาน้องกราบไหว้รูปปั้นอาจารย์ในงานวันรับน้องใหม่ จึงต้องการแสดงความเห็นว่าอาจารย์ปรีดีเองก็เป็นคนที่มีแนวคิดเสรีและเชื่อในความเท่าเทียม ดังนั้นจึงไม่ควรให้ค่าอาจารย์ปรีดีราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ และอั้มเชื่อว่า สิ่งที่อาจารย์ปรีดีต้องการเห็นก็คือความเท่าเทียมกันของคนในสังคมไทย เจตนาของอั้มจึงจำกัดอยู่ที่การล้อเลียนประเพณีการบูชาอาจารย์ปรีดี ไม่ใช่การล้อเลียนอาจารย์ปรีดีเอง

กลุ่มสนับสนุนเนื้อหาที่ อั้ม เนโกะ พยายามสื่อ เห็นว่าการแสดงออกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ทำให้สังคมเราย้อนกลับมามองวิธีการให้ความหมายต่อบุคคลผู้กระทำความดีและเป็นที่ชื่นชอบในสังคม รวมถึงมองว่า การให้ค่ากับรูปปั้นซึ่งเป็นเพียงก้อนหินนั้น เป็นการสร้างชุดความเชื่อที่ผิดให้กับสังคมไทย สำหรับเรื่องวิธีการก็จะเป็นการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก เพจศาสดากล่าวว่า “มนุษย์ซึ่งมีความแตกต่างทางความคิดมาอยู่รวมกัน เราก็ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นต่อความต่างเหล่านั้น แม้มันจะขัดกับ 'ความเชื่อ' หรือ 'ศรัทธา' ของเราเพียงใดก็ตาม” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ธรรมศาสตร์อีกท่าน ก็กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงออกว่า “จริงๆ แล้ว ในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่มาคอย regulate (กำกับ) ว่า ใครต้อง มี 'ท่าทีแสดงออก' อย่างไร เพราะมันขัดกับธรรมชาติ ขัดความเป็นจริง และเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคน… สิ่งที่ควรทำมากๆ คือวิพากษ์ สภาพอนุรักษ์นิยม”

การกระทำของอั้มถูกวิจารณ์ด้วยข้อทักท้วงที่ว่า เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้บนกรอบกฎหมาย แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบจารีตประเพณีไทย อั้มไม่จำเป็นต้องกราบไหว้บูชาปรีดี แต่ก็ไม่ควรแสดงท่าทีไม่สุภาพหรือละเมิดรูปปั้นของอาจารย์ บางกลุ่มถึงกับมองว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงออกที่สะเทือนจิตใจผู้ที่เคารพรักอาจารย์ปรีดี ด้านเกษียร เตชะพีระ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังออกมาตักเตือนถึงวิธีการส่งสารว่า วิธีนี้ทำให้เกิดความสะเทือนใจและทำให้ข้อความที่แท้จริงไม่ไปถึงผู้รับ “วิธีล้มเหลวและทำให้คนอื่นจำนวนหนึ่งรู้สึกสะเทือนใจ โดยไม่ตั้งใจ คิดว่าสมควรทำอะไรเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อคนร่วมสังคมเดียวกันบ้างหรือไม่? หรือว่าไม่จำเป็น ไม่สำคัญ ไม่แคร์”

*******************

สองเหตุการณ์นี้บอกอะไรเกี่ยวกับเสรีภาพ? ทั้งสองเหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงการตอบรับของสังคมไทยต่อการนิยามเสรีภาพการแสดงออกของบุคคล สิ่งที่ถูกใช้พิจารณาให้คุณค่าการใช้เสรีภาพนั้น ถูกชี้วัดว่า การแสดงออกนั้นเกิดขึ้น 'อย่างไร' เนื้อหาที่แสดงนั้นคือ 'อะไร' และ 'ทำไม' จึงแสดงออกมา รวมไปถึงประเด็นที่ว่า 'ใคร' คือผู้ที่แสดงออกมา ปัจจัยเหล่านี้ถูกใช้เพื่อพิพากษาการแสดงออกทางเสรีภาพว่าสมควรหรือไม่

การแสดงออก 'อย่างไร' คือการมองวิธีการที่ใช้แสดงออกโดยผนวกเข้ากับกรอบทางจารีตประเพณีไทย กรณีของตั๊กเป็นเรื่องการเลือกใช้ถ้อยคำ กรณีของอั้ม เนโกะ ที่ถูกติงในเรื่องท่าที มารยาทในการแต่งกายและแสดงท่าทาง ทั้งสองกรณีถูกท้วงติงในเรื่องกาลเทศะและความเหมาะสม

ในขณะที่การแสดง 'อะไร' หรือการวิจารณ์เนื้อหาที่สื่อออกมา ก็เป็นอีกตัวตัดสินที่สำคัญ ในกรณีของตั๊กเนื้อหาออกมาในเชิงตัดสิน และเธอก็ไม่ได้ออกมาอธิบายเพิ่มเติม ทำให้ไม่สามารถลบล้างข้อตำหนิจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้ สำหรับอั้ม เนื้อหาออกมาในเชิงตั้งคำถาม และเมื่อเธออธิบายผ่านสื่อต่างๆ ทำให้สามารถทำความเข้าใจกับเนื้อหาได้มากขึ้นและเป็นสิ่งที่เพิ่มความชอบธรรมให้กับการกระทำ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเปลี่ยนความคิดของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้)

สำหรับเหตุผลว่าเจ้าของความเห็นนั้นแสดงออกมา 'ทำไม' นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนตัดสินความถูกผิดของการกระทำ และทำให้ทั้งสองกรณีได้รับการสนับสนุน เช่นการกระทำของตั๊กเป็นไปเพื่อปกป้องสถาบัน และกรณีของอั้มทำไปเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของการกระทำมากกว่าการเคารพวัตถุเช่นรูปปั้น

ปัจจัยสุดท้ายที่เห็นว่ามีบทบาทไม่แพ้กันคือ ตัวตนของผู้ส่งสาร ตั๊กเป็นดาราซึ่งควรเป็นแบบอย่างของสังคม รวมถึงสามารถเรียกความสนใจจากมวลชนได้มาก จึงถูกวิจารณ์เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในขณะที่ตัวตนของอั้ม เนโกะ แม้เป็นนักศึกษาธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก่อน แต่ความที่การแสดงออกของเธอเรียกความสนใจได้มาก ทำให้เกิดการค้นหาตัวตนของเธอ และนำไปเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดทางการเมือง การที่อั้มมีแนวคิดเสรีเช่นเดียวกับปรีดีก็ทำให้คนตำหนิน้อยลงเพราะเข้าใจได้ว่าเธอก็เคารพแนวคิดของปรีดีเช่นกัน แต่หากเป็นคนอื่นที่มีแนวคิดตรงข้ามชัดเจน ก็อาจสร้างความขัดแย้งได้มากกว่านี้

ขอบเขตของเสรีภาพในแต่ละสังคมเป็นสิ่งที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในสังคมหนึ่งมีระดับเสรีภาพที่แตกต่างสำหรับกลุ่มคนที่แตกต่างด้วยประสบการณ์การเรียนรู้  ในสังคมที่มีการจำกัดในเรื่องเสรีภาพมาก ก่อให้เกิดการวิจารณ์ว่าสามารถแสดงความเห็นเช่นนั้นออกมาได้หรือไม่ มากกว่าการวิจารณ์และถกเถียงในเนื้อหาอันจะนำมาซึ่งการถกเถียงที่มีคุณค่ามากกว่า สังคมที่เปิดกว้างต่อเสรีภาพในการแสดงออกจะเป็นสนามทดสอบความอดทนต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ความใจกว้างของคนต่อการฟังข้อวิพากษ์ที่รุนแรงและความสามารถในการยอมรับแรงกระแทกจากการแสดงความคิดเห็นของตนเอง แม้สังคมจะดูขัดแย้งแต่ก็จะเป็นสังคมที่มีภาวะการเรียนรู้

เฟสบุ๊คเพจที่มา:
1.ศูนย์ปฏิบัติการติดตามผู้ชุมนุมเสื้อแดง http://www.facebook.com/Watchred
2. ฉันเป็น "ลิเบอรัล" http://www.facebook.com/WeLiberal
3.ฉันเป็น "คอนเซอเวทีฟ" http://www.facebook.com/SiamConser
4.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย http://www.facebook.com/lltd.tu
5.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล http://www.facebook.com/somsakjeam
6.เกษียร เตชะพีระ http://www.facebook.com/kasian.tejapira
7.คนละหมัด เดอะ ซีรีย์ http://www.facebook.com/Thaiunderdog
8.Siriwan Nu-Ple http://www.facebook.com/photo.php?fbid=362082593847889&set=a.251039784952171.61980.100001384556006&type=1

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว