มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพชื่นชม ไทยลงนามอนุสัญญาต่อต้านคนหายแล้ว

เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ลงนามเข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ขององค์การสหประชาชาติ  ซึ่งการเข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้จะทำให้รัฐไทยมีภาระผูกพันต้องแก้ไขกฎหมายอาญาให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิด 

ตามกฎหมายไทยปัจจุบัน ไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหาย ดังนั้น จำเลยที่ถูกฟ้องว่าบังคับให้บุคคลสูญหายจะมีความผิดเพียงฐานทำให้สูญเสียเสรีภาพเท่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เช่น ตัวอย่างกรณีการหายตัวไป ของนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น องค์กรภาคประชาสังคมใช้เวลาหลายปีทำกิจกรรมรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลแต่ละสมัยลงนามเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้และนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายอาญาของไทยให้ได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายมาเป็นเวลานาน จึงออกแถลงการ ชื่นชมความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

แถลงการณ์ ชื่นชมรัฐบาลไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

 



กรุงเทพฯ : (18 มกราคม 2555) มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ขอชื่นชมรัฐบาลไทยในการลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา การลงนามในอนุสัญญาฯถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ด้านสิทธิมนุษยนที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยในการคุ้มครองบุคคลจากการสูญหายโดยถูกบังคับ โดยอนุสัญญาฯฉบับนี้นับว่าเป็นฉบับที่ 8 ที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ จากทั้งหมด 9 ฉบับโดยอนุสัญญาฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ ทำให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรม  ทั้งนี้ สหประชาชาติได้นิยาม “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ว่า คือการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่ง ได้รับการสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพ หรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย



อนุสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดด้วยว่า รัฐภาคีต้องกำหนดให้ การบังคับสูญหาย (Enforced Disappearance) เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องกำหนดมาตราการการสอบสวนโดยพลัน เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อีกทั้งยังถือว่าการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง (Continuous Crime) ความต่อเนื่องจะสิ้นสุดเมื่อทราบชะตากรรม และที่อยู่ของเหยื่อ ดังนั้นอายุความจึงจะนับได้ต่อเมื่อทราบชะตากรรมของเหยื่อ หรือเมื่อพบศพของเหยื่อ อนุสัญญาฯยังกำหนดให้การขัดขวางหรือการทำให้การสืบสวน สอบสวนคดีล่าช้าเป็นความผิดทางอาญาด้วย



ลักษณะพิเศษของอนุสัญญาฯฉบับนี้คือการให้ความสำคัญกับญาติของผู้เสียหายดังนั้นในกระบวนการให้วามเป็นธรรม ญาติผู้สูญหายจะมีส่วนร่วมในการติดตามหาตัวผู้สูญหาย รวมถึงมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆของการสอบสวน การให้ข้อเท็จจริง รวมถึงการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ความคุ้มครองแก่พยาน ซึ่งรวมถึงบรรดาญาติของผู้สูญหายก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ อนุสัญญาฯเน้นย้ำ

ในประเทศไทย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้ทำการเก็บข้อมูลการบังคับสูญหายที่ญาติของเหยื่อกล้าเปิดเผยและให้ข้อมูลไว้มากกว่า 90 กรณี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2534-2554 ทั้งนี้มี 54 กรณีที่คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติรับไว้เป็นคดีคนหายของสหประชาชาติ โดยคดีล่าสุดคือกรณีชาวมลายูมุลิม 2 คนหายสาบสูญหลังเข้าไปติดตามเรือยนต์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร อำเภอธารโต จังหวัดยะลายึดไว้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554



“ปัญหาสำคัญของการบังคับสูญหายในประเทศไทยคือ การไม่มีกฎหมายภายในประเทศที่เพียงพอสำหรับโทษของการบังคับบุคลให้สูญหาย รัฐบาลไทยจึงควรรีบเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการตรากฎหมายเพื่อให้เหยื่อของการบังคับสูญหายสามารถเข้าถึงความยุติธรรม อีกทั้งไม่ควรละเลยการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เพื่อค้นหาความจริงและนำมาซึ่งความเป็นธรรมในนามของความสามัคคีและการปรองดองของชาติ เพราะความปรองดองย่อมไม่อาจเกิขึ้นได้ หากเหยื่อยังไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรม” นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว



………………………….

ติดต่อ : อังคณา นีละไพจิตร 084 728 0350

 

 

 

 

 

 

 

ไฟล์แนบ