กฎหมายฮาเฮ : ธนบัตรขาด-ติดสก็อตเทป ยังใช้ได้

 

กฎหมายฮาเฮตอนที่แล้วนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเงินตราไปตอนหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องแบงค์หรือธนบัตรที่ว่า หากใครทำแบงค์ขาดครึ่งเป็นสองท่อนก็ไม่ต้องตกใจ เพราะยังสามารถนำไปแลกคืนเป็นแบงค์ใหม่ได้อยู่ ถึงจะเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียวก็แลกเงินคืนได้ครึ่งนึงของราคาแบงค์นั้นด้วยนะครับ

คราวนี้ เกิดมีคำถามว่า ถ้าหากแบงค์ไม่ได้ขาดครึ่งหนึ่งพอดี แต่ขาดเป็นส่วนๆ หรือเก่าเปื่อยจนตัวหนังสือจางไปแล้วล่ะ จะเอาไปแลกเงินได้ไหม
เรื่องนี้ กฎกระทรวง พ.ศ. 2501 ที่ออกตาม พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ก็ได้กำหนดไว้ครับ ว่า
“ข้อ 2 ให้รับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดตามข้อจำกัดและหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
“(ก) ธนบัตรครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับเพียงครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น
 
(ข) ธนบัตรต่อท่อนผิด ถ้าไม่เกินสองท่อนแต่ละท่อนเป็นธนบัตรแบบและชนิดราคาเดียวกัน ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
 
(ค) ธนบัตรขาดวิ่น ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อเห็นได้ประจักษ์ว่าส่วนที่ยังเหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ โดยให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
 
(ง) ธนบัตรลบเลือน ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อการลบเลือนนั้นไม่ถึงทำให้ไม่รู้ได้ว่าเป็นธนบัตรแท้จริง โดยให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น”
เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงนะครับ ถึงแบงค์จะเก่าจนลบเลือนแค่ไหน หากยังดูออกว่าเป็นแบงค์ของจริงอยู่ หรือแม้จะขาดวิ่นไปบ้าง หากส่วนที่ใหญ่กว่ายังอยู่ในมือเรา ก็เอาไปแลกเป็นแบงค์ใหม่ที่สมบูรณ์ได้เสมอ
คราวนี้ยังมีคำถามต่อว่า หากขี้เกียจเดินเอาไปแลกที่ธนาคารล่ะ แบงค์ที่ขาดวิ่นบางส่วนนั้นถ้าถือเอาไปจ่ายเงินซื้อของ จะใช้ได้หรือไม่
เรื่องนี้เปิดไม่ต้องเปิดหาละเอียดถึงกฎกระทรวงฉบับไหนนะครับ ใน พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 นี่เอง กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 18 ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ธนบัตรต่อไปนี้ เป็นธนบัตรชำรุด
(1) ธนบัตรครึ่งฉบับ คือครึ่งหนึ่งของธนบัตรซึ่งได้ถูกแยกตรงกลาง หรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืน
(2) ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน หรือ
(3) ธนบัตรขาดวิ่นหรือลบเลือน คือ ธนบัตรซึ่งส่วนหนึ่งขาดหาย หรือมีเหตุที่ทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ”
แม้ใน (3) ตามกฎหมายจะบอกไว้ว่า แบงค์หรือธนบัตรที่เลือนจนอ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ หรือส่วนหนึ่งขาดหายไป เป็นธนบัตรที่ชำรุด ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย 
แต่ดูให้ดีนะครับเพราะยังมี (2) อยู่ ที่บอกว่า แบงค์หรือธนบัตรที่ขาดแล้วเอามาต่อท่อนผิด คือ เอาส่วนที่ขาดของแบงค์ใบหนึ่งมาต่อเข้ากับแบงค์อีกใบหนึ่ง ซึ่งเป็นการต่อที่ผิด ต่อแล้วไม่พอดี เช่นนี้ เป็นธนบัตรที่ชำรุด ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
แปลความกลับกันได้ว่า หากเป็นการ “ต่อท่อนถูก” คือเอาส่วนที่ขาดออกจากกันของแบงค์ใบเดียวกันมาต่อติดเข้าด้วยกันได้ถูกต้องลงรอยพอดีเป๊ะ ล่ะก็ ย่อมไม่ใช่กรณีตาม (1) (2) หรือ (3) จึงไม่ใช่ธนบัตรที่ชำรุดตามพระราชบัญญัติเงินตรา มาตรา 18 และย่อมใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ดังนั้น ต่อไปนี้หากใครลืมแบงค์ไว้ในกระเป๋ากางเกงแล้วเผลอเอาไปซักล่ะก็ ไม่ต้องห่วงนะครับ ถ้าซักแล้วแบงค์มันขาด ก็เอาสก็อตเทปติดเข้าด้วยกัน แบงค์นั้นยังใช้ได้อยู่น้าาาา
ถ้าโดนแม่ค้าร้านไหนด่า เอาพ.ร.บ.เงินตราไปเปิดให้เค้าดูด้วยละกันนะคร้าบบบบบ
กฎหมายอย่างนี้ก็มีด้วยยยยยยย