เมื่อกฎหมายไทยไม่ให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงาน

รายงานโดย อัชฌา สงฆ์เจริญ

ที่มาภาพ: Wikipedia
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 54 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และโครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อร่างข้อเสนอกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิต ในงานดังกล่าวมีงานเสวนาหัวข้อ “กฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิตคู่ของ GBTIQ ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ”
Pro. Douglas Sander สมาชิกบอร์ดโครงการปริญญาเอกด้านสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความรักระหว่างคนเพศเดียวกันปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหากย้อนอดีตดูจะพบว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ล้วนมีเรื่องราวระหว่างคนรักเพศเดียวกันปรากฏอยู่ทั้งในนิยาย บทกวี งานศิลปะรวมถึงกฎหมาย จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ชาวเยอรมันเขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฏีใหม่ทางเพศศาสตร์ว่า มนุษย์สามารถรักเพศที่ต่างกันได้เท่านั้นขึ้น และแนวความคิดก็นี้แพร่หลายไปทั่วโลก
โดยในยุคล่าอาณานิคม ประเทศประเทศอังกฤษได้ตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้ในประเทศอาณานิคมของตน คือ ประมวลกฎหมายอาญาของอินเดียของ ที่กำหนดว่าความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดอาญา แนวคิดนี้ยังถูกนำไปใช้ในอาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย
เมื่ออคติเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกันได้แพร่หลายไปทั่วโลก การเลือกปฏิบัติจึงเกิดขึ้นกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะในทางสังคม หรือในทางกฎหมาย
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน กฎหมายอนุญาตให้เพียง “เพศหญิง” และ “เพศชาย” เท่านั้นที่จะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ปิดโอกาสการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนรักเพศเดียวกัน และนำมาสู่การลดทอนสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการรับมรดก สิทธิในเรื่องสวัสดิการ เช่น การลดหย่อนภาษีให้คู่,การตามคู่ครองไปต่างประเทศ การได้รับผลประโยชน์จากการประกันชีวิต การเลื่อนยศตามคู่ครอง ฯลฯ สิทธิในการทำนิติกรรม เช่น กรณีการบริจาคอวัยวะ การเซ็นค้ำประกันเมื่อสมัครเข้าทำงาน ฯลฯ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการใช้นามสกุลตามคู่ของตน สิทธิในการได้รับสัญชาติตามคู่ของตน เป็นต้น
กฎหมายไทย ‘เชย’ กว่าความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม 
ร.ศ. สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสาเหตุหลักของปัญหาในกฎหมายไทยในเรื่องความหลากหลายทางเพศว่า มีรากฐานมาจากการแบ่งแยกเพศ เป็นเพศ ‘หญิง’ กับ ‘ชาย’ ตามชาติกำเนิด และมันนำมาสู่ปัญหาข้อถัดมาว่าด้วยระบบการก่อตั้งครอบครัว ทั้งนี้ กฎหมายครอบครัวได้บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ระบุไว้ว่า การสมรสจะต้องเป็นการสมรสระหว่างเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งการสมรสทำให้คนสองคนกลายเป็นคนเดียวกัน มีหน้าที่เลี้ยงดูและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน เช่น เรื่องสินสมรส หรือ การทำนิติกรรมต่างๆ ดังนั้นเมื่อไม่นับเป็นระบบครอบครัวแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เรื่องมรดก เรื่องภาษี การฟ้องคดีอาญา หรือเรื่องการขอสัญชาติตามคู่ของตน เป็นต้น
ร.ศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือเรื่องกฎหมายและนโยบาย ทั้งที่สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือกฎหมายลูกไม่ปรับแก้ตามรัฐธรรมนูญ
นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์เสริมว่า แม้การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศจะไม่กระทบต่ออำนาจของรัฐมากเท่ากับสิทธิในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องสิทธิชุมชน แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จะกระทบอย่างรุนแรงกับมาตรฐานและความเชื่อบางอย่างของสังคมไทย เพราะแม้ว่าสังคมไทยจะไม่ปฏิเสธถึงความมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังคงเลือกปฏิบัติกับคนเหล่านั้นอยู่
ร.ศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล ให้คำแนะนำว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน ควรปรับแก้ที่กฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายรากฐาน และกฎหมายอื่นก็จะแก้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะหากใช้วิธีร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่อาจเกิดปัญหาการขัดกันเองของกฎหมายได้ ทั้งนี้ร.ศ.สมชาย ปรีศิลปะกุล ย้ำว่า แม้การแก้กฎหมายจะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะชนให้มากขึ้นมากกว่า
ทางเลือกในการรับรองสถานภาพชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกัน
ด้าน Pro. Douglas Sander กล่าวถึงแนวทางให้การรับรองสถานภาพความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน ว่าอาจมีสามวิธี คือ
หนึ่ง การรับรองความสัมพันธ์โดยพฤตินัย (Ascription) หมายถึง การรับรองทางกฎหมายต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรสหรือพิธีการจัดงานแต่งงานใดๆ ทั้งนี้เป็นการรับรองเฉพาะเรื่อง เช่น การเข้าถึงสวัสดิการสังคม การรับมรดก หรือสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศในกรณีที่คู่อีกฝ่ายเป็นชาวต่างชาติ ทั้งนี้การรับรองจะเกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาล การออกกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง หรือ นโยบายปกครองของรัฐบาล ที่เป็นระบบอันสอดคล้องกับสิทธิที่รับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้ด้วย โดยมีคำตัดสินรับรองกรณีดังกล่าวแล้วโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ
สอง การจดทะเบียนความสัมพันธ์ (Registration) หมายถึง กฎหมายที่อนุญาตให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันจดทะเบียนความสัมพันธ์กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อรับสิทธิบางประการหรือทั้งหมดเหมือนสถานภาพสมรส แต่อย่างไรก็ตามระบบนี้ก็เป็นระบบที่แยกขาดจากการจดทะเบียนสมรส
ประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก, ฟินแลนด์,สหราชอาณาจักร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีในหลายรัฐของของสหรัฐและออสเตรเลีย
สาม การจดทะเบียนสมรส (Marriage) หมายถึง กฎหมายที่อนุญาตให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายเดียวกันกับที่ใช้ในกรณีคู่ชาย-หญิง
ประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ,เบลเยี่ยม,สเปน,แคนนาดา,แอฟริกาใต้,นอร์เวย์,สวีเดน,โปรตุเกศ,ไอซ์แลนด์ และ อาเจนติน่า ล่าสุดคือรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ
การรับรองสิทธิ มีประเด็นมากกว่าแค่เรื่องเพศ
Jessica Stern ผู้อำนวยการโครงการในคณะกรรมการสิทธิเกย์และเลสเบี้ยนนานาชาติ (Director of program at International Gay and Lesbian Human Right Commission) กล่าวว่า การรับรองสิทธิต้องปฏิบัติต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่อาจละเลยปัญหาของคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มสตรีนิยม กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ นอกจากนี้ ปัจจุบันคำว่า ‘ครอบครัว’ ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคู่หญิงและชาย และครอบครัวในอุดมคติก็หาได้ยากขึ้นทุกที
ทั้งนี้ Jessica Stern ได้มีข้อเสนอสี่ประการดังนี้ คือ หนึ่ง ควรมีการรับรองสถานภาพครอบครัวที่หลากหลาย สอง.รัฐบาลต้องให้สิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะมีการสมรสหรือไม่ สาม องค์กรทางศาสนาและรัฐต้องแยกออกจากกัน และสี่ บุคคลต้องมีอิสระในอัตลักษณ์ของตนโดยปราศจากการควบคุมจากรัฐ
กฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ : ความเสมอภาคของคนทุกเพศ
จากการระดมความคิดเห็นของเครือข่ายฯ นำไปสู่ข้อเสนอเพื่อร่างกฎหมายรับรองสถานภาพ โดยกำหนดเป้าหมายของกฎหมายว่ามีเพื่อความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ เพราะนอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว การสมรสระหว่างเพศหญิงกับเพศชายก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันอยู่ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น คือ การทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “ครอบครัว” โดยทางเครือข่ายมีแนวทางในการผลักดันกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิตดังนี้คือ ต้องมุ่งปรับปรุงกฎหมายปัจจุบันให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ และสอง ร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันปัญหาบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ป้องกันปัญหาการปกปิดสถานภาพของคนข้ามเพศ รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น