นักสื่อสารมวลชนชี้ เสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น,สื่อไม่ต้องเป็นกลาง

 

สื่อกับรัฐ ด้านหนึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาซึ่งขัดแย้งกันตลอดเวลา ขณะที่อีกด้านอาจหนุนเสริมกันและกันอย่างแนบแน่น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นและเด่นชัดเรื่อยๆ ในสังคมไทย สัมพันธภาพดังกล่าวประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสื่อในประเทศไทยส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างสื่อกับรัฐรุนแรงมากขึ้นด้วย เกิดภาพสื่อที่แบ่งขั้วอย่างสุดโต่งชัดเจน นำไปสู่การตั้งคำถามเริ่มต้นที่ว่า “ความพอดีของสื่อ” คืออะไร และ “ความพอใจของรัฐ” คืออะไร และเมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างสองสิ่งนี้ จะทำอย่างไรให้ก้าวไปด้วยกัน  

วันที่ 8 สิงหาคม 2554 มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “สื่อไม่พอดี รัฐไม่พอใจ ทำอย่างไรจะไปด้วยกัน” ที่ห้อง จี๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนาโดยนักสื่อสารมวลชนอาชีพและนักวิชาการหลายท่าน

 

รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ชี้ว่า หน้าที่สื่อมีสามประเภทหลัก คือ เฝ้าระวังภัยให้สังคม รับใช้อำนาจรัฐ และตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ โดยหน้าที่ที่สำคัญมากของสื่อคือ การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐ โดยรัฐต้องมีความรับผิด-รับชอบของรัฐ (accountability) ซึ่งอาจมีสามทาง คือ ทางกฎหมาย ทางวัฒนธรรม และทางความคาดหวังของสังคม อยู่ที่ว่า สื่ออยากตรวจสอบรัฐทางไหน

การรับใช้อำนาจรัฐนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติในประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สำหรับเมืองไทยที่แม้ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตยและมีการบัญญัติเสรีภาพของสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนนั้น ในทางปฏิบัติ กลับดูเหมือนว่ารัฐอยากให้สื่อรับใช้อุดมการณ์และอำนาจรัฐมากกว่า

รศ.อุบลรัตน์ อธิบายต่อว่า รัฐมีการใช้อำนาจสามประเภทเพื่อทำให้ประชาชนเชื่อหรือปฏิบัติตาม คือ ใช้กำลังกองทัพ ทั้งทหารและตำรวจ บังคับใช้กฎหมายผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และใช้การโฆษณาโน้มน้าวผ่านสื่อหรือปลูกฝังความเชื่อผ่านระบบการศึกษา ซึ่งเมื่อพิจารณาหน้าที่ของสื่อและการใช้อำนาจของรัฐแล้วพบว่า ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจหน้าที่ต่างกัน เมื่อเกิดการปะทะกันของอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงทำให้เกิดความไม่พอดี

“โดยธรรมชาติแล้ว สื่อต้องไปด้วยกันกับรัฐไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐอยู่แล้ว แต่หากจะกล่าวว่า ไปด้วยกันได้กับรัฐที่ให้เสรีภาพ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” รศ.อุบลรัตน์กล่าว

รศ.อุบลรัตน์ กล่าวต่อว่า ลักษณะของสื่อทุกวันนี้ จะมีอำนาจเหนือคนที่มีอำนาจน้อยกว่า แต่ยอมต่อผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า จะเห็นได้ว่าสื่อไม่สามารถวิจารณ์ประเด็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับดาราซึ่งอาจมีเนื้อหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลกลับถูกตีแผ่มากมายและลึกซึ้ง สาเหตุคือ สื่อเติบโตในระบบเศรษฐกิจและมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นสถาบันสังคมที่อยู่ภายใต้อำนาจเศรษฐกิจ การขายข่าวเพื่อกำไรจึงเกิดขึ้น

หากจะลดอิทธิพลสื่อในการละเมิดสิทธิบุคคลดังกล่าว สามารถทำได้เมื่อร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย อาจใช้วิธีการทางวัฒนธรรมผ่านประชาชนในการเฝ้าดูตรวจสอบสื่อให้รักษาจรรยาบรรณ อาจไม่จำเป็นต้องใช้กฏหมาย เพราะเมื่อเอากฏหมายมาจับกับประเด็นสื่อแล้วมันอาจเลื่อนไปเลื่อนมาได้

 

 

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฏหมาย กล่าวว่า การแทรกแซงสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่ เว็บไซต์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ถูกปิดนั้นเพราะมีการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อเรื่องสถาบัน ที่ผ่านมา เรื่องทางสังคมก็ไม่ได้ถูกมองว่าสำคัญ เช่น สื่อสารมวลชนไม่เคยถูกลงโทษกรณีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็กเลย ทั้งที่มีการนำเสนอเรื่องส่วนตัวที่เสียหายต่อเด็ก เห็นได้ว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องสถาบันมากเกินไป สังคมต้องคุยกันตรงนี้ดีๆ เพราะมีสองฝ่ายที่สุดโต่ง หากจบตรงนี้ได้จะไม่เกิดปัญหา

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การมีสองมาตรฐานในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เราให้ความสำคัญกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในโรงซึ่งจำกัดผู้ชมและเข้าถึงยากกว่า ขณะที่ละเลยการตรวจสอบเนื้อหาของโทรทัศน์ที่เข้าถึงง่ายกว่า ส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่า ระบบการตรวจสอบตรงนี้ยังมีปัญหาอยู่

ประสงค์ ชี้ต่อว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในโลกไซเบอร์ คือ ผู้คนมีความสนุกในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจนำไปสู่การเสนอข้อเท็จจริง (เน้นว่า “ข้อเท็จจริง” กับ “ความจริง” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน) ที่รุนแรง ซึ่งอาจละเมิดคนอื่น ฉะนั้นความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงมีอยู่แล้ว การที่เว็บไซต์ถูกปิดนั้นอาจเนื่องมาจากการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท มองว่า สื่อไทยมีเสรีภาพอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจ คือ มีการทำงานอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ อำนาจรัฐเป็นอำนาจที่บวกกับศาล ปืน และทุน ทำให้ประชาชนหาทางเลือกในการรับสื่อที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ การที่สื่อมีมิติที่หลากหลาย ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อได้ผ่านช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว การกระจายข้อมูลข่าวสารเกิดรวดเร็วและควบคุมยาก ทำให้อำนาจรัฐถูกท้าทาย รัฐกลายเป็นรัฐที่ต้องเปิดมากขึ้น เมื่อรัฐไม่พอใจที่มีการแสดงความเห็นขัดต่อความมั่นคงของรัฐจึงมีการจำกัดเสรีภาพของสื่อ ผ่านการบังคับใช้กฏหมาย ที่สำคัญคือ การบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 ร่วมกับ กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ในการปิดเว็บไซต์

ในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ จีรนุช มองว่า ยังมีปัญหาตั้งแต่เรื่องความคลุมเครือในคำนิยามจนถึงกระบวนการบังคับใช้ เริ่มตั้งแต่การจับกุมผู้ต้องหา จะเห็นว่า ประชาชนที่ไม่ใช่สื่ออาชีพถูกจับกุมเพียงเพราะแสดงความเห็นของตัวเอง คนเหล่านี้กำลังเผชิญกับการคุกคามของการใช้อำนาจทางกฏหมาย และหลายครั้งมีลักษณะนอกกฎหมาย ซึ่งไม่มีกลไกใดๆ คุ้มครองประชาชนที่ถูกคุกคามเหล่านี้เลย

จีรนุช ชี้ว่า สภาพการณ์ของสังคมไทยต่อการทำหน้าที่ของสื่อ คือ ผู้รับสามารถกำหนดทิศทางของเนื้อหาสื่อได้ สื่อจึงพยายามสนองความพอใจของผู้รับ ขณะที่มาตรฐานของความพอใจนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ดังนั้น หากสื่อไทยโหนกระแสความพึงใจเหล่านั้นย่อมทำให้เกิดปัญหาได้

จีรนุช เห็นว่า สื่อไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจที่จะบอกถูก-ผิดในสังคม แต่ควรเป็นผู้จัดการดูแลข้อมูลที่ไหลเวียนในตัวกลาง (พื้นที่ เช่น อินเทอร์เน็ต ช่องทางการสื่อสารต่างๆ) ให้ประชาชนได้รับอย่างหลากหลาย

ในแง่ของความเป็นอิสระของสื่อ จีรนุช ชี้ว่า สื่อสนองนโยบายของรัฐได้ เพียงแต่ต้องเปิดรับความหลากหลายให้มากขึ้น ในประเทศต้องมีพื้นที่แก่สื่อเพื่อรับความเห็นต่าง จริงๆ แล้วสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง ซึ่งทุกวันนี้ตนก็ไม่ได้เรียกร้องความเป็นกลาง เพียงแต่ต้องการให้สังคมเปิดพื้นที่แก่ความหลากหลายเพื่อรักษาสมดุลของข้อมูลข่าวสาร

สาวตรี สุขศรี ในฐานะผู้เข้าฟังการเสวนา แสดงความเห็นเสริมว่า สื่อสามารถเลือกข้างได้ แต่ต้องเลือกเพราะแหล่งทุนนั้นไม่ใช่งบประมาณจากรัฐ เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวมาจากภาษีประชาชน แม้ว่าความเป็นกลางเกิดขึ้นยากแต่ก็เป็นอุดมคติที่สื่อจะต้องทำให้ได้  นอกจากนี้ ในการปฏิรูปสื่อนั้นควรเริ่มจากทุกฝ่าย ได้แก่ รัฐต้องเปิดใจกว้างในการรับฟังความต่างมากขึ้น สื่อเองก็ต้องปรับตัวให้กล้าที่จะตรวจสอบรัฐ และผู้รับเองก็ต้องไม่เลือกฟังเฉพาะข้อมูลที่ตรงกับใจตัวเอง